หมอ เตือน เสพข่าวกราดยิงศูนย์เด็กเล็กเยอะ ระวังเกิดภาวะ PTSD-ASD

หมอ เตือน เสพข่าวกราดยิงศูนย์เด็กเล็กเยอะ ระวังเกิดภาวะ PTSD-ASD

 

จากกรณี ส.ต.อ.ปัญญา คำราบ อดีต ผบ.หมู่ ป.สภ.นาวัง และถูกไล่ออกจากราชการ เนื่องจากถูกจับกุมคดียาเสพติด ซึ่งได้ก่อเหตุกราดยิงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม 37 คน เหตุเกิดเมื่อช่วงเที่ยงวันที่ 6 ต.ค. ก่อนจะยิงตัวตายพร้อมลูกและเมีย ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

เพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา ได้โพสต์เตือนเกี่ยวกับเสพข่าวดังกล่าวว่า เหตุการณ์กราดยิง ถือเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่ทำให้เกิดผลกระทบกับจิตใจ ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่บางคนที่เสพข่าวมากเกินไป (ทางทีวีหรือโซเชียลมีเดีย) พ่อแม่ที่เปิดข่าวให้ลูกดู ลูกๆ หรือตัวผู้ใหญ่เองอาจจะมีอาการซึ่งเป็นผลกระทบที่ตามมาภายหลังจากการรับสื่อที่กระตุ้นเร้าอย่างมากก็ได้

PTSD หรือ Post-traumatic stress disorder เป็นภาวะทางจิตเวชอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นภายหลังพบเห็น เผชิญ หรือรับรู้เหตุการณ์ที่รุนแรง (โดยในช่วงแรกหลังเหตุการณ์ใหม่ๆ จะเรียกว่า Acute stress disorder แต่ถ้าเป็นนานกว่า 1 เดือนจะเรียก PTSD)

โดยผลกระทบทางจิตใจที่เกิดขึ้นจะต้องมากเกินกว่าปกติธรรมดา เพราะคนเราทุกคนก็เครียดได้ หรือไม่สบายใจได้ ถ้าเจอเหตุการณ์รุนแรง

PTSD จะมีลักษณะสำคัญ 3 ด้าน คือ
1.‘หลอน’ (Reexperience) – การรู้สึกถึงประสบการณ์การตกอยู่หรือเสมือนอยู่ในเหตุการณ์รุนแรงที่ประสบมาซ้ำๆ เช่น ภาพเหตุการณ์ในข่าว รูปภาพที่เห็น ผุดขึ้นในในความคิดซ้ำๆ หยุดไม่ได้ มีฝันร้ายเรื่องนั้น

2.‘เร้า’ (Hyperarousal) – มีอาการตกใจ ตื่นตัวง่าย อาจมีอารมณ์หงุดหงิด ระแวดระวัง สมาธิไม่ดี นอนหลับยากขึ้น

3.‘หลบ’ (Avoidance) – การหลีกเลี่ยงสิ่งเร้าที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้น

(ส่วนใน ASD อาจมีอาการด้าน Dissociative ร่วมด้วย เช่น รับรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัวผิดไปจากความเป็นจริง)

โดยเฉพาะในเด็กอาจมีอาการที่เฉพาะ และต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ดังนี้

-เด็กรู้สึกเหมือนประสบเหตุการณ์นั้นอยู่เรื่อยๆ เช่น นึกถึง เห็นภาพในข่าวที่ดู อาจได้ยินเสียง ทำให้ไม่สบายใจอย่างมาก แต่ก็หยุดนึกถึงไม่ได้

-ถ้าเป็นเด็กเล็ก อาจจะพูดบอกไม่ได้ชัดเจน แต่เด็กเล็กจะแสดงออกถึงความไม่สบายใจผ่านการเล่น วาดรูป เด็กอาจจะเล่นซ้ำๆ เป็นธีมที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เจอมา

-เด็กบางคนฝันร้ายเกี่ยวกับเหตุการณ์ หรือฝันร้ายเกี่ยวกับการพลัดพราก ความตายเรื่องน่ากลัวต่างๆ

-ถ้ามีคน หรือสิ่งของที่ทำให้คิดถึงเหตุการณ์ เด็กก็จะกลัวมากขึ้น เช่น กลัวคนที่มีลักษณะเหมือนคนร้ายในข่าว ไม่กล้าไปโรงเรียน/ศูนย์เด็กเล็ก

-ในเด็กบางคนอาจจะแสดงออกมาในรูปแบบอาการทางกาย เช่น ปวดท้อง ปวดหัว ใจสั่น อาเจียน เวลาที่มีอะไรที่ทำให้คิดถึงเหตุการณ์นั้นๆ

-อาการเฉยชา ไม่สนใจ เพราะช็อกกับเหตุการณ์ ไม่ร่าเริง ไม่เล่นอะไรที่เคยชอบ หรือบางคนก็งอแงร้องไห้มากกว่าปกติ

-ที่พบบ่อยๆ คือ เด็กมีอาการกลัวการแยกจาก ติดคนที่ดูแลมากขึ้น ร่วมกับมีพฤติกรรมถดถอย เหมือนกลายเป็นเด็กอีกครั้ง บางคนปัสสาวะรดที่นอน

-เด็กมีอาการตื่นกลัว ตกใจง่าย บางคนนอนไม่หลับ มีนอนสะดุ้ง ละเมอ กลัวเสียงดังๆ เด็กบางคนที่ประสบเหตุการณ์ระเบิดจะกลัวมากเวลาดูหนังเกี่ยวกับสงครามที่คล้ายๆ เหตุการณ์ที่เคยเจอมา

-เด็กอาจจะมีพฤติกรรมเปลี่ยน อารมณ์หงุดหงิดง่าย ก้าวร้าวขึ้น หรืออาจจะไม่ค่อยมีสมาธิในการเรียน การเรียนตกลง ในเด็กวัยรุ่นบางคนหันไปใช้ยาเสพติด เช่นเหล้า เพื่อให้ลืมเรื่องราวร้ายๆ ที่เคยเจอ

ส่วนในเบื้องต้นนั้นจะต้องทำอย่างไรในการช่วยเหลือถ้ามีอาการเช่นนี้

อย่างแรก หยุดรับสื่อที่มากเกินไปเกี่ยวกับเหตุการณ์นะคะ เพราะการดูสื่อซ้ำๆ เป็นการกระตุ้นให้มีอาการมากขึ้นได้ ทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด

ถ้าเด็กมีอาการ ก็ต้องเข้าใจปฏิกิริยาที่เกิดว่าเป็นผลกระทบจากเหตุการณ์

พ่อแม่บางคนไม่เข้าใจ เห็นลูกงอแงก็ตีหรือดุ ยิ่งทำให้มีอาการมากขึ้น เวลาที่ลูกบอกว่ากลัว ให้แสดงความเข้าใจรับรู้อารมณ์ของลูก บอกลูกว่า เช่น กอดเขา บอกเขาว่า พ่อแม่อยู่กับหนูตรงนี้ ไม่มีใครมาทำอะไรหนู พ่อแม่ควรมีเวลาทำกิจกรรมกับลูก เล่นกับเขา ที่สำคัญพ่อแม่ก็ต้องตั้งสติ

บางครั้งข่าวรุนแรงก็ทำให้ผู้ใหญ่เกิดความกังวลหรือความเครียดได้ ก็ควรจัดการกับความเครียด ดูแลตัวเอง เพราะถ้าเราดูแลตัวเองไม่ได้ดี จะไปดูแลช่วยเหลือลูกๆ ก็คงไม่ง่ายนัก

ทั้งนี้ รพ.จุฬา เคยจัดเสวนาเรื่อง “การเอาตัวรอดจากเหตุการณ์กราดยิง” ครอบคลุมทั้งความปลอดภัยด้านร่างกายและจิตใจ (ตอนนั้นจัดเพราะเหตุการณ์กราดยิงที่โคราช) ถ้าสนใจดูได้จากลิงก์นี้เลยค่ะ —> https://fb.watch/f_F_pf-2SY/ ผู้ใหญ่ลองดูและนำไปประยุกต์ถ่ายทอดให้เด็กๆ แบบง่ายๆ (แต่ยังไงหมอจะสรุปมาให้ในบทความถัดๆไป น่าจะพรุ่งนี้อีกทีนะคะ)
#หมอมินบานเย็น