กทม. จับมือ 8 มูลนิธิกู้ชีพเซ็นเอ็มโอยู ยกระดับบริการการแพทย์ฉุกเฉินแบบไร้รอยต่อ

กทม. จับมือ 8 มูลนิธิกู้ชีพลงนาม MOU ร่วมยกระดับระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินแบบไร้รอยต่อ

 

วันที่ 29 กันยายน 2565 เมื่อเวลา 13.00 น. ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินระดับพื้นฐานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างกรุงเทพมหานคร และหน่วยปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินระดับพื้นฐาน 8 มูลนิธิ ได้แก่ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มูลนิธิร่วมกตัญญู มูลนิธิร่มไทร มูลนิธิจีเต็กลิ้ม ฮู้ก๊กตึ๊ง (พิรุณ) มูลนิธิอาสาหนองจอก (ราชพฤกษ์) มูลนิธิสยามรวมใจ (ปู่อินทร์) กู้ชีพกูบแดง กู้ชีพหงส์แดง และศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง บุคลากรทางการแพทย์มีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในเวลาที่เราเจ็บป่วยหรือมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น ซึ่งนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับเส้นเลือดฝอย คือประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วนที่เป็นการแพทย์ฉุกเฉินหมายถึงคนทุกกลุ่มจริง ๆ เป็นเสี้ยวนาทีที่จากเดิมมีความต้องการทางการแพทย์อยู่แล้ว ก็จะต้องการมากขึ้นหลายเท่า ไม่เพียงเฉพาะผู้ป่วยแต่หมายถึงคนที่ต้องการความช่วยเหลือโดยเร่งด่วน ซึ่งทุกวินาทีคือชีวิต เพราะฉะนั้นระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่เข้าไปถึงตัวของผู้ป่วยวิกฤต เป็นสิ่งที่มีความสำคัญสูงมาก และต้องการความแม่นยำและรวดเร็ว ที่สำคัญที่สุดคือ เป็นระบบที่มีเอกภาพเชื่อมต่อกัน และเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ด้วยการทำระบบช่วยชีวิตคนให้เป็นระบบที่ไม่มีรอยต่อ เป็นระบบที่เชื่อมต่อกันได้ด้วยประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นระบบที่ประชาชนให้ความไว้ใจ มีความอุ่นใจ และเชื่อมั่นได้จริง

“เป็นความพยายามของทุกคนจริง ๆ ที่ทำให้ระบบนี้เกิดขึ้น เป็นระบบที่คนต้องการมากที่สุดในชีวิต ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ด้วย ขอขอบคุณแทนประชาชนทุกคน ระบบนี้เป็นระบบที่ประชาชนอยากได้มากที่สุด และเป็นระบบที่ทำให้คนมีชีวิตต่อไป ทั้งตัวเขาเองและครอบครัว ที่สำคัญที่สุดการทำ MOU ร่วมกันในวันนี้ หวังว่าจะทำให้ทุกคนทำงานได้สะดวกขึ้น ความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่เองก็เป็นสิ่งสำคัญ ครอบครัวก็สำคัญ เพราะฉะนั้นเมื่อเราออกแบบระบบนี้ได้ จะทำให้ระบบมีความปลอดภัยมากขึ้น มีเวลาพักได้มากขึ้น ภายใต้การทำงานของระบบนี้ ทำให้เกิดความยั่งยืนไปด้วยกัน โดยที่ภาคประชาชนที่ได้ประโยชน์จากเรา ขอให้ความร่วมมือในวันนี้ดียิ่งขึ้นไปทุกวัน ซึ่งความปลอดภัยเป็นความต้องการพื้นฐานทั้งในยามปกติและยามเร่งด่วน การเป็นเมืองที่น่าอยู่คือ การทำให้เรารู้สึกปลอดภัย” รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าว

สำหรับการลงนามในครั้งนี้ วัตถุประสงค์ความร่วมมือเพื่อให้การปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินของหน่วยปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินที่จะได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมตามมาตรฐานการปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน ลดความขัดแย้งระหว่างหน่วยปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินที่จะเกิดมีขึ้นในอนาคต และกำหนดแนวทางการกำหนดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนหรือข้อขัดแย้ง เพื่อลดปัญหาการปฏิบัติงานร่วมกัน รวมถึงกำหนดแนวทางการดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉินระดับพื้นฐาน ซึ่งจะสามารถสร้างประโยชน์ต่อประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินได้เป็นอย่างมาก เพราะระบบและทิศทางที่พร้อมรองรับการปฏิบัติงานที่ทำให้การเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินมีความทั่วถึง เท่าเทียม มีคุณภาพมาตรฐาน จะทำให้ประชาชนได้รับการช่วยเหลือและรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ

สำนักการแพทย์โดยศูนย์เอราวัณ ได้จัดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน โดยแบ่งโซนการปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินออกเป็น 9 โซน และมีหน่วยปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินระดับพื้นฐานครอบคลุมทุกพื้นที่ ดังนั้นการที่กรุงเทพมหานครได้ร่วมมือกับมูลนิธิกู้ชีพทั้ง 8 แห่ง ภายใต้บันทึกข้อตกลงนี้ เป็นการยกระดับและพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้มีความพร้อมช่วยเหลือประชาชนได้เป็นอย่างดี โดยร่วมกันกำหนดแนวทางการปฏิบัติ การแก้ไขปัญหา และสร้างความแข็งแกร่งของหน่วยปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินระดับพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือประชาชนมากยิ่งขึ้น

สำหรับผู้ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ในวันนี้มี พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ. อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการ นาวาเอก นพ.พิสิทธิ์ เจริญยิ่ง รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการแพทย์ ผู้แทนจากโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน ผู้แทนจากมูลนิธิร่วมเป็นสักขีพยาน