เวิล์ดแบงก์ปรับเพิ่มจีดีพีไทยปีนี้โต 3.1% หลายประเทศเตรียมรับมือเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

A Thai vendor takes a nap while waiting for clients at fresh market in Bangkok on May 14, 2012. Thailand's central bank upgraded its forecast for the kingdom's economic growth this year, predicting an expansion of 6.0 percent thanks to a recovery from last year's massive floods. AFP PHOTO/PORNCHAI KITTIWONGSAKUL (Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

เวิล์ดแบงก์ปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้โต 3.1% – ชี้หลายประเทศเตรียมรับมือเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

 

รายงานข่าวจากธนาคารโลก (ประจำประเทศไทย) หรือ เวิลด์แบงก์ เปิดเผยว่า เวิลด์แบงก์ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปี 2565 คาดจะเติบโต 3.1% สูงกว่าที่คาดการณ์เดิมอยู่ที่ 2.9% เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากการบริโภค และการส่งออกของภาคเอกชน

ขณะที่ไทยคาดว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวได้ 3-3.5% จากนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าจะมาเที่ยวไทย 8-10 ล้านคนเช่นกัน เทียบกับปี 2563 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยเกือบ 40 ล้านคน รวมถึงผลผลิตภาคการเกษตรที่เพิ่มขึ้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มุ่งเป้าสนับสนุนภาคธุรกิจเป็นปัจจัยสนับสนุน

ส่วนปี 2566 แม้การระบาดของโควิด-19 จะผ่อนคลายเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว แต่เวิล์ดแบงก์ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจะกดดันการส่งออก จึงคาดการณ์จีดีพีปี 2566 ลดลงเหลือ 4.1% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 4.3%

นางแมนูเอลา เฟอร์โร รองประธานธนาคารโลก ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า สำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกปีนี้ ประเมินว่าจะชะลอตัวลงอย่างมาก คาดการณ์อัตราการขยายตัวอยู่ที่ 3.2% ลดลงจากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 5% และลดลงจากก่อนหน้านี้คาดไว้ที่ 7.2% เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศจีนชะลอตัวอย่างรวดเร็ว คาดปีนี้จะขยายตัว 2.8% ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 5% จากมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ที่เข้มงวดส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดขายในประเทศ และการส่งออก ส่วนปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก จะขยายตัวเร็วขึ้นสู่ 4.6%

นอกจากนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเชิงรุกของธนาคารกลางทั่วโลก เพื่อรับมือเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ถือเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เนื่องจากปัจจัยดังกล่าวทำให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออกและค่าเงินอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม หลายประเทศกำลังเตรียมพร้อมรับมือภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขณะเดียวกันก็ควรแก้ปัญหาการบิดเบือนนโยบายภายในประเทศที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาในระยะยาวด้วย