‘ทวิดา’ ยัน หมอไทยเก่ง แต่ยังขาดความเชื่อใจ จ่อรื้อระบบ ยกระดับความเร็ว

‘ทวิดา’ ยัน หมอไทยเก่ง แต่ยังขาดความเชื่อใจ จ่อรื้อระบบ ยกระดับความเร็ว ตั้งเป้าเพิ่มเตียงศูนย์บริการ เชื่อมโยงรพ.

 

วันที่ 8 กันยายน 2565 ที่ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา กทม.2 ดินแดง ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมบรรยายพิเศษ “ทิศทางการพัฒนาระบบสุขภาพของกรุงเทพมหานคร” ในงานโครงการยกระดับการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) เพื่อประชาชนกรุงเทพมหานคร “สุขภาพดี” ซึ่งจัดขึ้นโดย สำนักงานเขตสุขภาพที่ 13 กรุงเทพมหานคร

ผศ.ดร.ทวิดากล่าวว่า โครงการแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) เป็นนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่เล็งเห็นปัญหาว่าโรงพยาบาลไม่สามารถรับมือกับประชาชนจำนวนมากได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในภาวะปกติและภาวะที่เกิดโรคติดต่อ โดยต้องการร้อยระบบการส่งต่อ เริ่มที่ รพ.ราชพิพัฒน์ เนื่องจากมีพื้นที่เหมาะกับการเริ่มต้น คือมีระยะทางที่เหมาะสม มีประชากรที่ผสมผสานกันทั้งแรงงาน ผู้สูงอายุ และเด็ก

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าระบบสาธารณสุขไทยมีชื่อเสียง ตั้งแต่ก่อนการเกิดสถานการณ์โควิด-19 การแพทย์ของโรงพยาบาลไทยมีศักยภาพพอ และมีแพทย์เฉพาะทางระดับโลก แต่จำนวนของแพทย์ไม่พอต่อความต้องการ

รวมถึงนโยบายการเพิ่มเตียง 10,000 เตียง โดยหมายถึงเตียงที่บ้าน และญาติสามารถดูแลผู้ป่วยได้ ไม่ใช่การเพิ่มจำนวนเตียงหรือโรงพยาบาลแต่อย่างใด เป็นการทำงานผ่านการใช้ระบบ Telemedicine อาสาสมัครสาธารณสุข และ Mobile Unit จะสามารถตอบโจทย์ปัญหานี้ได้ รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นในระบบปฐมภูมิให้แก่ประชาชน ความมั่นใจในสถานการณ์เป็นแพทย์ระบบปฐมภูมิของตัวบุคลากรทางการแพทย์เอง ซึ่งจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เห็นว่าการแพทย์และสาธารณสุขเราเก่ง เพียงแต่ยังขาดการทำให้เชื่อใจ ในเวลานั้นคนกรุงเทพฯ ไม่ปฏิเสธเมื่อได้รับยาจากคนที่นำมาให้ซึ่งไม่ได้เป็นแพทย์ โดยเป็นใครก็ได้ที่สามารถนำยามาถึงตัวเอง นั่นหมายถึงว่า เป็นโอกาสที่จะปรับระบบใหม่ทั้งหมด ทั้งในแง่ของมาตรฐานและการดูแลบุคลากรทางการแพทย์ด้วย

ผศ.ดร.ทวิดากล่าวต่อว่า อีกสิ่งหนึ่งคือ ถึงแม้ผู้ว่าฯ กทม.จะพูดเสมอว่าให้นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่เสนอว่าอย่าให้ Technology out smart people คือการเป็น Smart City หรือนำเทคโนโลยีใดๆ มาใช้ก็ตาม ต้องไม่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ความตั้งใจของเราคือ การทำให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยี หรือมีคนกลุ่มหนึ่งที่สามารถเพิ่มการเข้าถึงให้กับประชาชนได้ เนื่องจากบริบทของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ ดังนั้น จึงได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว โดยเป็นการทำงานเร่งด่วนไม่เกิน 6 เดือน ซึ่งเมื่อโครงการ รพ.ราชพิพัฒน์แล้วเสร็จ อาจจะขยายไปในพื้นที่อื่นต่อ โดยขณะนี้ได้ให้ความสนใจบูรณาการเชื่อมโยงศูนย์บริการสาธารณสุข เข้ากับโรงพยาบาล โดยเพิ่มเตียงในศูนย์ฯ ให้สามารถรับผู้ป่วย ER ดูแลประชาชนเร่งด่วนในช่วงเวลากลางวันได้ และหากผู้ป่วยอาการมาก ก็ให้ส่งต่อไปยังโรงพยาบาล โดยตั้งเป้ากลุ่มเขตละ 1 ศูนย์ ภายในสิ้นปีนี้

“คุณภาพของการรักษาพยาบาล คือการจัดการเพื่อให้ได้จัดการทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งสำคัญมากว่า เราจะจัดการอย่างไรเพื่อให้การจัดการทางการแพทย์และสาธารณสุขเกิดขึ้นได้ ดังนั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องการที่จะรื้อระบบปฐมภูมิใหม่ รวมถึงระบบทุติยภูมิ เพื่อให้ระบบในระดับตติยภูมิเบามือลง รวมถึงการทำให้ตอบโจทย์เรื่องความรวดเร็ว (Speed) ให้ได้ เนื่องจากความพึงพอใจของผู้ป่วย ขึ้นอยู่กับชั่วโมงที่ต้องรอรับบริการ โดยเฉพาะชั่วโมงรอที่เกี่ยวพันกับชีวิต” ผศ.ดร.ทวิดาชี้

สำหรับ กิจกรรมภายในงานวันนี้ ประกอบด้วย พิธีมอบเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติ สำหรับผู้ส่งผลงาน Best Practice Service Plan เขตสุขภาพที่ 13 กรุงเทพมหานคร การบรรยายหัวข้อ ความคาดหวังของการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข โดย พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ ปฏิบัติหน้าที่ผู้ตรวจราชการกระทรวง เขตสุขภาพที่ 13 กรุงเทพมหานคร การบรรยายหัวข้อ “Next Step Service Plan และการพัฒนาระบบบริการสุขภาพแบบไร้รอยต่อ” โดย นพ.ดนัย มโนรมย์ ผู้อำนวยการสำนักนิเทศระบบการแพทย์ กรมการแพทย์ และการนำเสนอผลงานวิชาการในหลายประเด็น อาทิ “เพิ่มการเข้าถึง พัฒนาแบบองค์รวม เพื่อยกระดับบริการปฐมภูมิ” “เพิ่มคุณภาพบริการ เพื่อการรักษาอย่างไร้รอยต่อ” “ยกระดับคุณภาพการรักษาสู่การพัฒนา Excellence Center”