สหรัฐฯชี้ระดับ ‘ก๊าซเรือนกระจก-น้ำทะเลโลก’ ปี 2021 พุ่งทุบสถิติ

สหรัฐฯชี้ระดับ ‘ก๊าซเรือนกระจก-น้ำทะเลโลก’ ปี 2021 พุ่งทุบสถิติ

 

หน่วยงานภาครัฐด้านสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริการะบุผ่านรายงานประจำปี 2021 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคมว่า ระดับความหนาแน่นของก๊าซเรือนกระจกและระดับน้ำทะเลของโลกเพิ่มขึ้นกว่าในอดีต และสร้างสถิติเพิ่มขึ้นสูงสุดครั้งใหม่ในปี 2021 แสดงให้เห็นถึงปัญหาจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่มีเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าจะมีความพยายามในการจัดการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ตาม

องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ที่มุ่งศึกษาสภาวะของน้ำและบรรยากาศโลกของสหรัฐ รายงานว่าระดับก๊าซเรือนกระจกโลกสูงขึ้น แม้ว่าจะมีการลดการใช้พลังงานจากถ่านหินในช่วงปีก่อนหน้า เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจช้าลงอย่างมาก โดยความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศโลกอยู่ที่อัตราส่วน 414.7 ส่วนต่อหนึ่งล้านในปี 2021 สูงขึ้นกว่าก่อนหน้า 2.3 ส่วน และยังชี้ว่าตัวเลขใหม่นี้แสดงการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สูงที่สุดอย่างน้อยในรอบล้านปีที่ผ่านมาอ้างอิงจากบันทึกทางบรรพชีวินวิทยา

ขณะที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นต่อเนื่อง 10 ปี และสร้างสถิติใหม่ที่เพิ่มขึ้น 3.8 นิ้วเหนือค่าเฉลี่ยของปี 1993 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มการวัดค่าทางดาวเทียมขึ้น ด้านอุณหภูมิของน้ำทะเลก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยสถิติของปีที่แล้วเป็นหนึ่งใน 6 ปีที่น้ำทะเลอุ่นขึ้นมากที่สุด นับจากจากบันทึกที่มีขึ้นตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 และยังเป็นตัวเลขที่สูงต่อเนื่องกันตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากปรากฏการณ์ลานิญาในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งทำให้น้ำเย็นลงในช่วงต้นปี ที่มีส่วนให้อุณหภูมิในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้มีสภาพอากาศหนาวเย็นที่สุดนับตั้งแต่ปี 2014

ขณะเดียวกันก็มีการเก็บรวบรวมอุณหภูมิของน้ำเอาไว้ด้วย และพบกว่าน้ำก็มีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในทะเลสาบของทิเบต ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมโลก เพราะเป็นแหล่งต้นน้ำให้กับแม่น้ำสายหลักหลายสายของเอเชีย

นายริค สปินาร์ด ผู้ดูแลองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ กล่าวว่า ข้อมูลเหล่านี้ชี้ชัดและเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจะส่งผลกระทบต่อโลกอย่างต่อเนื่อง และไม่มีทีท่าว่าจะช้าลงแต่อย่างใด จากการที่มีภัยแล้ง หรืออุทกภัยที่ถาโถมใส่ชุมชนมากมาย สิ่งเหล่านี้ยืนยันว่าวิกฤตการณ์จากอากาศไม่ใช่ปัญหาในอนาคต แต่เป็นเรื่องที่เราจะต้องแก้ไขเดี๋ยวนี้

หน่วยงานดังกล่าวยังกล่าวถึงสภาพอากาศแปรปรวนอีกหลายกรณีที่สร้างความหวาดกลัวและเตือนภัยที่ใกล้ตัวนี้ ดังเช่น ปรากฏการณ์มรสุมพายุเขตร้อนที่เกิดบ่อยขึ้นอย่างยิ่งในปี 2021 เนื่องจากสภาวะโลกร้อน อาทิ ไต้ฝุ่นราอี ที่ถล่มฟิลิปปินส์เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 40 ราย และพายุไอดาที่พัดผ่านทะเลแคริบเบียนและกลายเป็นพายุเฮอร์ริเคนที่รุนแรงที่สุดอันดับ 2 ซึ่งถล่มรัฐลุยเซียนา เป็นรองเพียงเฮอร์ริเคนคาทริน่า

ด้านญี่ปุ่นก็เกิดปรากฏการณ์ดอกซากุระที่บานก่อนฤดูกาลและเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 1409 รวมถึงเหตุไฟป่าที่แม้จะเกิดขึ้นน้อยหากเปรียบเทียบกับของปีที่ก่อนหน้า แต่ก็ได้เผาผลาญป่าในพื้นที่ตะวันตกของสหรัฐและไซบีเรีย อีกทั้งยังตอกย้ำความร้ายแรงเมื่อการวิจัยชิ้นหนึ่งคาดการณ์ว่าแผ่นน้ำแข็งของกรีนแลนด์จะละลาย แม้ว่าอุณหภูมิของโลกจะไม่อุ่นขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายต่อที่ราบลุ่มทั่วโลกที่เป็นที่อาศัยของผู้คนหลายร้อยล้านคน

ทั้งนี้ สถานการณ์ของโลกตอนนี้ห่างใกลจากเป้าหมายของสนธิสัญญากรุงปารีส 2015 ที่ต้องการจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายจากเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

โดยในเดือนสิงหาคม สหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้ผลักดันนโยบายภาครัฐขนานใหญ่เพื่อรับมือกับปัญหานี้ ด้วยความพยายามที่จะลงทุนในพลังงานสะอาด ส่งผลให้รัฐแคลิฟอร์เนียตอบสนองนโยบายด้วยการตั้งเป้าหมายกำจัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากรถยนต์ให้เป็นศูนย์ภายในปี 2023