“โรม-ทูตรัศม์” รุมจวกรัฐบาล อ้าแขนรับอดีตปธน.ศรีลังกาเข้าไทย ฉุดภาพลักษณ์ประเทศ

วันที่ 12 สิงหาคม 2565 กลายเป็นที่ตั้งคำถามกับท่าทีของรัฐบาลไทย เมื่ออนุญาตให้ โกตาบายา ราชปักษา อดีตประธานาธิบดีศรีลังกา ที่ต้องลี้ภัยเพื่อหนีจากความโกรธแค้นของประชาชนฐานบริหารประเทศแบบเล่นพรรคพวกและครอบครัวจนทำให้เศรษฐกิจประเทศพังทลาย โดยโกตาบายาพร้อมภริยา เดินทางถึงไทยเมื่อช่วงดึกวานนี้ หลังจากลี้ภัยไปอยู่สิงคโปร์และใกล้ครบกำหนดที่อนุญาตให้พำนักชั่วคราว และรัฐบาลไทยได้อนุญาตพร้อมออกมาแสดงความเห็นจนเกิดคำถามถึงการเลือกปฏิบัติกับคนกลุ่มอื่นที่เข้าลี้ภัยมาไทยไม่ว่าชาวพม่าที่หนีภัยสงครามหรืออีกหลายกลุ่ม

นายรัศม์ ชาลีจันทร์ เจ้าของเพจทูตนอกแถว อดีตเอกอัครราชทูตไทย แสดงความเห็น กรณีการเดินทางมาของอดีตประธานาธิบดีศรีลังกาที่ลี้ภัยออกจากประเทศหลังถูกขับไล่ ก่อนมาพักอยู่ที่ไทยชั่วคราว โดยระบุว่า กรณีอดีต ปธน.ศรีลังกากับความไม่ฉลาดเช่นเคยของทางการไทย

มี FC ขอให้พูดเรื่องนายโคฐาภยะ ราชปักษะ (โกตาบายา ราชปักษา) อดีต ปธน.ศรีลังกา ที่ย่องมาไทยเงียบๆ เมื่อคืนวานนี้ ผมจึงขอมีข้อสังเกตสักสองสามข้อนะครับ

ประการแรกเรื่องที่ทางการไทยยอมรับให้เข้ามานั้น ผมว่าก็เข้าใจได้ เพราะศรีลังกาเองเป็นมิตรประเทศและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับไทย ซึ่งผมเข้าใจว่าทางรัฐบาลศรีลังกาเองก็คงมีคำขอมาด้วยเช่นกัน

ส่วนที่ตัวนายโคฐาภยะเลือกมาไทย แทนที่อีกหลายประเทศ นอกจากเรื่องความสัมพันธ์อันดี และความเป็นเมืองพุทธด้วยกันแล้ว เขาคงมองแล้วว่ารัฐบาลไทยปัจจุบันไม่ได้เป็นรัฐบาลที่จะมาคำนึงถึงเสียงหรือความต้องการของประชาชนอะไรนัก ซึ่งในแง่นี้เขาก็คิดถูก

ซึ่งจริงๆ ไทยก็ไม่ได้อะไรนักจากการนี้ โดยเฉพาะหากคำนึงว่าเมื่อวันใดมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจในศรีลังกาที่ตอนนี้ประชาชล้วนโกรธแค้นตระกูลราชปักษะ

แต่เอาล่ะ ว่ากันตามหลักมนุษยธรรมก็พอฟังได้ แต่การมาอธิบายว่านายโคฐาภยะ เข้าไทยได้เพราะมีหนังสือเดินทางการทูตนั้น เป็นเรื่องตลกไร้สาระมาก ไม่รู้ว่าผู้พูดไม่รู้จริงๆ หรือคิดว่าคนอื่นเขาไม่รู้
เรื่องการเข้าเมืองนั้น มันเป็นสิทธิและอำนาจของประเทศนั้นๆ ที่จะให้ใครเข้าหรือไม่เข้าประเทศก็ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะถือหนังสือเดินทางประเภทใด ต่อให้ถือหนังสือเดินทางการทูตเราก็ปฏิเสธได้หากพิจารณาแล้วเห็นว่าจะก่อผลเสียมากกว่าดีหากให้เข้ามา คำอธิบายเช่นว่านี้ไม่ควรออกมาจากคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการต่างประเทศ มันดูไม่ฉลาดมากๆ

ประการถัดไป ผมไม่เห็นด้วยที่จะให้สิทธิพำนักตามหนังสือเดินทางได้ถึง 90 วัน โดยเห็นว่านานเกินไป เมื่อพิจารณาว่าทางการไทยควรคำนึงถึงทั้งความรู้สึกของประชาชนคนไทยที่ไม่มีใครเขายินดีต้อนรับคนๆ นี้ รวมทั้งภาระที่ทางการไทยต้องมาคอยดูแลรักษาความปลอดภัย (ซึ่งมีค่าใช้จ่ายจากภาษี) เพราะจะปล่อยตามเลยก็ไม่ได้ เกิดอะไรขึ้นก็จะไม่งามต่อประเทศเรา (ข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคงยังเชื่อว่าในปัจจุบันยังมีกลุ่มอดีตผู้ก่อการร้ายทมิฬอีแลม LTTE แอบฝังตัวอยู่ในไทย และซึ่งคือโจทย์ที่อาจรอคิดบัญชีนายโคฐาภยะอยู่) และที่สำคัญ รัฐบาลไทยควรคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชนศรีลังกาบ้าง

ผมเห็นว่าในแง่มนุษยธรรม การให้พำนักในไทยได้หนึ่ง-สองสัปดาห์ก็เพียงพอแล้วที่จะให้นายโคฐาภยะ สามารถติดต่อหาแหล่งพักพิงอื่นได้ต่อไป และก็คิดง่ายๆ ว่าถ้าการมาพำนักมันดีไม่มีปัญหาอะไร ทำไมนายโคฐาภยะถึงต้องออกจากสิงคโปร์?

การให้พำนักในไทยนานถึง 90 วัน เป็นความไม่ชาญฉลาดอย่างยิ่งของทางการไทย เราแทบไม่ได้อะไรจากนี้ เพราะไม่มีใครเขาชื่นชมนายโคฐาภยะ และในอดีตทางการไทยทำเรื่องเลวร้ายไว้มากในเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าเรื่องชาวอุยกูร์ นายฮาคีมฯนักฟุตบอลชาวบาห์เรน การส่งตัวผู้ลี้ภัยกัมพูชากลับประเทศ และอื่นๆ อีกมากมาย เพียงแค่นี้มันไม่ทำให้รัฐบาลไทยปัจจุบันดูดีอะไรขึ้นมาหรอกครับ

สุดท้ายที่อยากจะพูดคือ ผมขอชมเชยทหารศรีลังกาในความมีวินัย เป็นทหารมืออาชีพ ที่ต่อให้ผู้นำเขาจะโกงเลวแค่ไหน เขาก็ปล่อยให้เป็นไปตามวิถีทางตามกฎหมายและระบบประชาธิปไตย ไม่เที่ยวเข้ามาแทรกแซงทำรัฐประหารบ้าบอเหมือนประเทศแถวนี้

ซึ่งถ้าหากรัฐประหารมันแก้โกงหรืออะไรได้จริง ป่านนี้เราคงเป็นประเทศมหาอำนาจไปแล้วนะครับ

เช่นเดียวกับ รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ด้วยว่าต้อนรับอดีตผู้นำศรีลังกาที่ถูกขับไล่อย่างสบายใจ แต่ผลักไสผู้ลี้ภัยจากสงคราม รัฐบาลประยุทธ์จะฉุดภาพลักษณ์ประเทศไทยในสายตานานาชาติให้ตกต่ำถึงขนาดไหน?

“กรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออกมายืนยันกรณีที่อดีตประธานาธิบดีศรีลังกากำลังจะขอเข้ามาพักรอลี้ภัยไปประเทศที่สามจริงนั้น ผมรู้สึกแปลกใจมากว่าเหตุผลใดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ถึงเอาประเทศไทยมาเป็นบ้านพักชั่วคราวให้ผู้นำที่ถูกประชาชนขับไล่จนต้องหนีออกมา แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ลี้ภัยสงครามชาวเมียนมา กรณีค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจา หรือผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ที่อยู่ในสถานะหลบหนีภัยภายในประเทศ กลับเจอชะตากรรมที่ต่างกันราวฟ้ากับเหว

“ที่ผ่านมา มีการร้องเรียนเข้ามาในกรรมาธิการการต่างประเทศให้ช่วยหาทางออกและการจัดการอย่างมีมนุษยธรรมต่อผู้ลี้ภัยอยู่หลายครั้ง เนื่องจากมีการร้องเรียนว่ามีมาตรการจากทางรัฐบาลที่ไม่เป็นไปตามหลักการที่ควร รวมถึงมีความพยายามกีดกัน ไปจนถึงส่งกลับผู้ลี้ภัยมาแล้วจากหลายกรณีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จนทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเสียหายอย่างมาก

“กลับกันพอเป็นอดีตประธานาธิบดีที่มีข้อสงสัยว่าเกี่ยวพันกับการอุ้มหาย ซ้อมทรมานประชาชนในศรีลังกาจนหาที่ไปไม่ได้ รัฐบาลไทยกลับอ้าแขนรับเข้ามาอย่างหน้าตาเฉยราวกับว่านี่คือเราไม่แคร์สายตาประชาคมโลกว่าจะมองประเทศเราเป็นอย่างไร กับการสองมาตรฐานในการต้อนรับผู้ลี้ภัยเช่นนี้

“ผมอยากเรียนคุณประยุทธ์ว่า ในฐานะของนายกรัฐมนตรี การกระทำครั้งนี้จะฉุดให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยต้องมัวหมองในสายตานานาชาติ กรณีผู้ลี้ภัยที่ตัวเองมีชนักปักหลังก็ยังจัดการไม่ได้ กลับมาเพิ่มภาระการแก้ไขภาพลักษณ์ประเทศให้กับรัฐบาลถัดไปอีก ยิ่งทำแบบนี้ศักดิ์ศรีประเทศไทยในสายตาชาติอื่นๆ จะเป็นอย่างไร ที่ประเทศเรากลับต้องมากลายเป็นคุกขังผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ และเป็นสถานที่พักตากอากาศให้ผู้นำที่โดนประชาชนขับไล่แบบนี้กัน?

“ผมอยากให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทบทวนให้ดีว่ากรณีเหล่านี้จะสร้างภาพลักษณ์อย่างไร และเกิดประโยชน์อย่างไรต่อประเทศชาติกันแน่ หากการกระทำนี้ไม่มีเหตุผลรองรับที่รับฟังได้มากพอ การเปลี่ยนมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เป็นที่ยอมรับได้มากขึ้น ทั้งต่อประชาชนและนานาประเทศก็เป็นเรื่องสำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องตัดสินใจให้ดี เพราะนี่จะเป็นหน้าประวัติศาสตร์อีกหน้าที่ถูกบันทึกไว้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจทำอะไร เพราะอะไร และส่งผลเช่นไรในอนาคตแน่นอน”