‘ชวน’ แจ้ง สมาชิกรัฐสภา ‘ลาประชุม’ เพียบ! 442 เสียงโหวตผ่าน พ.ร.บ.กำหนดเวลางานยุติธรรม

‘ชวน’ แจ้ง สมาชิกรัฐสภา ‘ลาประชุม’ เพียบ ด้าน ‘หมอระวี’ แห้ว ขอแทรกคิว ‘กม.ลูก’ สุดท้ายที่ประชุมโหวตผ่าน พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลากระบวนการยุติธรรมฯ ใช้เวลาไม่ถึง 1 ชม.

 

วันที่ 10 สิงหาคม 2565 เมื่อเวลา 09.47 น. ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. …. ที่เหลืออยู่ 5 มาตรา จากทั้งหมด 12 มาตรานั้น

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ที่ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้ มีสมาชิกวุฒิสภาลงชื่อ 152 คน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ลงชื่อ 216 คน รวม 368 คน ซึ่งเกินกึ่งหนึ่ง (เกิน 364) คน จึงถือว่าครบองค์ประชุม

นอกจากนี้ นายชวน ยังได้แจ้งที่ประชุมว่า วันที่มีสมาชิกลาพิเศษจำนวน 32 คน ลาเพราะติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 4 คน และลาที่ไม่ได้เจ็บป่วยจำนวน 28 คน เหนือสิ่งอื่นใดต้องขอขอบคุณเพื่อนสมาชิกที่กรุณามาประชุม อย่างน้อยร่างกฎหมายที่เราเห็นว่าเป็นประโยชน์ซึ่งเหลืออยู่ 5 มาตรา จะได้ผ่านไปได้ จากนั้น ที่ประชุมได้เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. ….ในมาตรา 8 ต่อจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา

แต่เมื่อกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาในมาตรา 9 นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ได้ลุกขึ้นหารือเสนอญัตติขอให้ที่ประชุมเลื่อนวาระ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.​ พ.ศ. …. ขึ้นมาพิจารณาแทรกชั่วคราว เพราะมีความจำเป็น อย่างไรก็ตาม นายชวน ได้ชี้แจงว่า เรากำลังดำเนินการไปตามลำดับของมาตรา และไม่มีอะไรต้องมาแทรก ตอนนี้ต้องทำให้จบ แต่นพ.ระวี ยังคงยืนยันโดยยกข้อบังคับการประชุมข้อ 130 132 และ 133 ที่ระบุว่าสามารถเลื่อนญัตติแทรกได้ โดยญัตติที่ค้างการพิจารณาอยู่จะไม่ตกไป แต่นายชวน ยังคงให้เป็นไปตามระเบียบวาระ

จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาต่อในมาตรา 9 ของร่างพ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. .… โดยที่ประชุมพิจารณากฎหมายฉบับนี้ในมาตราที่เหลือไปอย่างราบรื่น และครบทั้ง 12 มาตรา ในเวลา 10.38 น. ก่อนจะโหวตลงมติเห็นชอบในวาระ 3 ด้วยคะแนนเห็นด้วย 442 ไม่เห็นด้วย 6 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และไม่ลงคะแนน 6 เสียงถือว่าที่ประชุมเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้

จากนั้นเข้าสู่วาระการพิจารณา ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. ….