“อนุทิน” ยัน ระบบสกัดฝีดาษลิงในไทยเข้ม พร้อมสั่งซื้อทั้งวัคซีน-ยาให้กลุ่มเสี่ยง

“อนุทิน” ยัน ระบบสกัดฝีดาษลิงในไทยเข้ม หลังเจอรายที่ 3 เผยความพร้อมสั่งซื้อทั้งวัคซีนและยาเพื่อกลุ่มเสี่ยง

 

วันที่ 3 สิงหาคม 2565 ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพบผู้ป่วยฝีดาษวานรหรือฝีดาษลิง(Monkeypox) รายที่ 3 ของประเทศไทย ว่า การเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิงที่ผ่านมามีการกำชับให้ตรวจเฝ้าระวังคัดกรอง ทั้งที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ทั้งสนามบิน ทางน้ำและทางบก รวมถึงในสถานพยาบาลให้เตรียมความพร้อมเรื่องการรักษา

ดังนั้น ผู้ที่มีอาการสงสัยขอให้รีบมาพบแพทย์ ส่วนเรื่องวัคซีนและยาก็มีการเตรียมสั่งซื้อเข้ามา ซึ่งวัคซีนก็ไม่ใช่ว่าต้องฉีดให้ทุกราย แต่จะเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูง และผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ส่วนเรื่องยาเป็นการเตรียมความพร้อม เพราะการติดเชื้อไม่ได้ถึงขั้นกระจายอย่างรวดเร็ว กรมควบคุมโรคก็จะดำเนินการสั่ง โดยศึกษาถึงกลุ่มเสี่ยง

“ย้ำว่าโรคฝีดาษลิงไม่ได้ติดต่อง่ายๆ การติดต้องสัมผัสใกล้ชิดมากๆ พฤติกรรมเสี่ยง คือ การมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะการเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ แต่การใช้ชีวิตโดยทั่วไปไม่น่ามีปัญหา หากดูแลตัวเองโอกาสติดเชื้อก็ต่ำ โดยขอให้สังเกตอาการตุ่มหนอง ผื่นขึ้น ขอให้หลีกเลี่ยงการสัมผัส ถ้ารู้จักกันก็ควรแนะนำให้รีบไปพบแพทย์” นายอนุทินกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แนวทางปฏิบัติการวินิจฉัย การดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อกรณีโรคฝีดาษวานร (Monkey) ฉบับวันที่ 31 ก.ค. 2565 โดยกรมการแพทย์ ระบุถึงการดูแลรักษาผู้ป่วยสงสัยฝีดาษลิงว่าให้รับเข้าเป็นผู้ป่วยใน รพ.ทุกราย(Admit) หากเป็นคลินิกหรือ รพ.สต.ให้นำส่ง รพ.เพื่อรักษาเป็นผู้ป่วยใน และเมื่อผลตรวจออกมายืนยันว่าเป็นผู้ป่วยฝีดาษลิงให้แอดมิททุกรายใน รพ.เพื่อลดโอกาสการแพร่กระจายและติดตามอาการ โดยการรักษา คือ

1.รักษาตามอาการ เป็นการรักษาแบบประคับประคอง เช่น ลดไข้ ลดอาการไม่สบายจากตุ่มหนอง และดูแลไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน และ 2.การรักษาจำเพาะ ยาต้านไวรัสจำเพาะเป็นยาที่ใช้ในการรักษาอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ ยาที่มีรายงานให้ผู้ป่วยที่อาการรุนแรง คือ Tecovirimat (TPOXX) ซึ่งข้อมูลของยานี้ เป็นยารูปแบบรับประทานและรูปแบบที่ให้หลอดเลือด ใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสในกลุ่ม Orthopoxviruses: Variola (Smallpox) , Monkeypox , Cowpox , Vaccinia Complications ซึ่งจะออกฤทธิ์ในการยับยั้งการแทรกของไวรัสเข้าไปในเซลล์ โดยมีรายงานที่ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา และประเทศกลุ่มยุโรป