กกร. ผวาเงินเฟ้อพุ่ง-ราคาสินค้าแพงกดดันศก.ไทยถูก ซ้ำขึ้นค่าไฟทำต้นทุนเพิ่ม

กกร. ผวาเงินเฟ้อพุ่ง-ราคาสินค้าแพงกดดันศก.ไทยถูก ซ้ำขึ้นค่าไฟทำต้นทุนเพิ่ม

 

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวชัดเจนขึ้น สะท้อนได้จากตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2565 โดยเฉพาะเศรษฐกิจของสหรัฐ ที่หดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสแรก รวมถึงจีนขยายตัวต่ำกว่าประมาณการค่อนข้างมาก ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกลงสู่ 3.2% ในเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา

จากเดิม 3.6% ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงจนกระทบครัวเรือนและภาคธุรกิจ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วของธนาคารกลางต่างๆ และผลข้างเคียงต่อห่วงโซ่อุปทานจากมาตรการซีโร่โควิด-19 ที่เข้มงวดของจีน เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง ส่งผลต่อการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2565 ซึ่งตัวเลขการส่งออกเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า การส่งออกไปประเทศเศรษฐกิจหลักเริ่มแผ่วตัวลงบ้างแล้ว

“เศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 5.6% ซึ่งสูงกว่าภาวะปกติที่ 1-3% มาก และคาดว่าจะเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูง รวมทั้งการปรับขึ้นราคาสินค้าที่เริ่มกระจายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้น และหากมีการปรับขึ้นค่าไฟในงวดเดือนกันยายน-ธันวาคมนี้ ก็จะเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อให้เร่งตัวขึ้นได้อีก ซึ่งเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะกระทบอำนาจซื้อภาคครัวเรือนและต้นทุนของภาคธุรกิจ” นายผยง กล่าว

นายผยง กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจะเป็นแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นในช่วงการเปลี่ยนผ่านตอนนี้ ทำให้รัฐบาลยังต้องประคับประคองให้ธุรกิจก้าวผ่านไปได้ โดยธุรกิจบางกลุ่มก็ยังสามารถส่งผลต้นทุนไปในราคาสินค้าได้ แต่ก็มีธุรกิจบางกลุ่มที่ไม่สามารถผลักต้นทุนไปในราคาขายได้ โดยเฉพาะธุรกิจบริโภคในประเทศที่เห็นอย่างชัดเจน แต่รัฐบาลก็พยายามประคองผ่านการเพิ่มกำลังซื้อ

จากโครงการคนละครึ่งเฟส 5 ที่คาดว่าจะกระตุ้นการใช้จ่ายได้ประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 0.2% ของจีดีพีรวม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกประเทศและภาวะเงินเฟ้อที่กระทบอำนาจซื้อ โดยหวังว่าภาคการท่องเที่ยวในครึ่งหลังของปีนี้ จะเพิ่มกิจกรรมทางธุรกิจที่เชื่อมโยงภาคท่องเที่ยวและบริการให้เกิดรายได้มากขึ้น ซึ่งเราเห็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องหลังยกเลิกมาตรการไทยแลนด์ พาส จึงคาดว่ามีโอกาสแตะระดับ 7-8 ล้านคนในปีนี้

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าไฟฟ้า ถือเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้น จะผลักดันให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นและกระจายไปในสินค้าหลากหลายประเภทกว่าเดิม โดยในช่วงที่ราคาสินค้าอยู่ในระดับสูง กังวลอย่างเดียวคือ อย่ากักตุนสินค้า และแย่งกันซื้อ เพราะจะทำให้ราคาสินค้ายิ่งพุ่งสูงอย่างรวดเร็วมากขึ้น

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า มีการจัดกลุ่มภาคอุตสาหกรรม 45 กลุ่ม ซึ่งกลุ่มที่ใช้พลังงานในการผลิตมากๆ ได้แก่ โรงงานเยื้อกระดาษ หล่อโลหะ เซรามิก แก้ว อุตสาหกรรมเหล่านี้มีสัดส่วนในการใช้พลังงานเป็นต้นทุนจำนวนมาก จึงจะได้รับผลกระทบสูง แต่อุตสาหกรรมอื่นๆ ผลกระทบก็จะลดไปตามลำดับ โดยที่ผ่านมาได้เตรียมตัวในการใช้พลังงานทดแทน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาช่วย เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว แต่ต้องบอกว่าค่าไฟฟ้าจะผูกติดกับเรื่องพลังงาน ที่ราคาน้ำมันและก๊าสเป็นปัจจัยสำคัญในทั่วโลก และในบางประเทศมีความหนักหนากว่าไทยอีกมาก ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภาคอุตสาหกรรมต้องบริหารจัดการการใช้พลังงานอย่างดีที่สุด และมีประสิทธิภาพสูงสุด