25 ปีต้มยำกุ้ง ‘สุพันธุ์ ไทยสร้างไทย’ เล่าประสบการณ์ผ่านวิกฤต เสนอรัฐตรึงดอกเบี้ย-พยุงพลังงาน-ออกพันธบัตรลดเงินเฟื้อ

ครบรอบ 25 ปีต้มยำกุ้ง ‘สุพันธุ์ ไทยสร้างไทย’ เล่าประสบการณ์ผ่านวิกฤต เสนอรัฐตรึงดอกเบี้ย-พยุงพลังงาน-ออกพันธบัตรลดเงินเฟื้อ

นายสุพันธุ์  มงคลสุธี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทย เล่าถึงเหตุการณ์ในวันนี้ เมื่อปี พ.ศ.2540 วันที่ประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท อันเป็นจุดเริ่มต้นของ “วิกฤตต้มยำกุ้ง”

“วิกฤตเมื่อปี 40 หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง เกิดจากการที่ประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้มีเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศเยอะ โดยทั้งธนาคารขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และแบงก์ชาติเองก็มีการเปิดเสรีทางการเงิน ส่งผลให้การเคลื่อนย้ายเงินตราเป็นไปได้อย่างเสรี กู้เงินได้ง่าย โดยเฉพาะการกู้เงินจากต่างประเทศ เพราะค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับเงินในประเทศ ทำให้หลายคนเลือกลงทุนในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และแล้วไทยก็ตกเป็นเป้าถูกโจมตีค่าเงิน หลังเศรษฐกิจไทยเริ่มอ่อนแอ ทำให้ค่าเงินบาทไม่แข็งแรงและทำให้เงินทุนสำรองในประเทศหดลงอย่างรวดเร็วหลังจากที่คลังฯ พยายามพยุงค่าเงินบาทไว้ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถสู้ได้ จึงปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัว เป็นไปตามกลไกของดีมานด์และซัพพลาย ส่งผลทำให้ผู้ที่กู้ยืมเงินจากต่างประเทศเสียหายอย่างมาก และยังเจอกับดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ต้นทุนต่างๆ สูงขึ้น สถาบันการเงิน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ล่มสลาย บริษัทเงินทุนไม่สามารถอยู่ได้ มีเพียงธุรกิจส่งออกที่ได้กำไรค่อนข้างเยอะ แต่ก็ไม่ได้มีมากในสมัยนั้น เนื่องจากประเทศไทยดำเนินธุรกิจนำเข้าเป็นส่วนใหญ่”

แม้เหตุการณ์นี้จะน่ากลัว และส่งผลกระทบต่อบริษัทของนายสุพันธุ์ด้วยเช่นกัน แต่ก็ถือว่าไม่ได้เสียหายมากนัก เพราะในขณะนั้นได้ทำการกู้เงินกับสถาบันต่างประเทศราว 200 ล้านบาท จึงใช้วิธีเจรจากับสถาบันการเงินและฝ่าวิกฤตครั้งนั้นมาได้

แต่ในอนาคตนับจากนี้ สำหรับวิกฤติทางการเงินที่จะมาถึง มองว่ากลุ่มธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจะไม่ใช่ธุรกิจขนาดใหญ่เหมือนปี 40 แต่จะกลายเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง สิ่งที่ภาครัฐจะยังพอช่วยได้ในตอนนี้เพื่อให้กลุ่มคนตัวเล็กเหล่านี้ได้หายใจได้ คือการช่วยยืดพักชำระหนี้ออกไป และคงอัตราดอกเบี้ยไว้ เพื่อกันไม่ให้เกิดหนี้เสียมากไปกว่านี้

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวขึ้นนักท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้ามาเที่ยวแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบริษัททัวร์ กลุ่มโรงแรม คนที่ตกงานก็จะกลับเข้าสู่ระบบมากขึ้น ดังนั้นรัฐต้องผ่อนคลายกฏเกณฑ์และข้อบังคับที่มี เพื่อให้ทุกภาคส่วนของธุรกิจกลับมาดำเนินการได้ต่อเนื่อง

“ภาครัฐควรพักการใช้ใบอนุญาติต่างๆ ที่เกี่ยวกับการทำธุรกิจ เพื่อไม่ให้ไปฉุดรั้งการทำมาหากินของคนตัวเล็กที่ถูกกดทับและเหนื่อยมามากจากการถูกล็อคดาวน์ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ขณะที่เวกเขายังต้องเจอกับดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ดังนั้นรัฐบาลต้องตรึงดอกเบี้ยไว้ไม่ให้สูงขึ้นกว่านี้ หรือจะออกพันธบัตรช่วยดูดซับเงินบางส่วน รวมถึงอุ้มราคาพลังงานไปอีกสักระยะนึง เพื่อให้ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กได้ผ่อนคลาย นอกจากนี้ยังควรสนับสนุนการนำเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพ และคุณภาพของสินค้า”

สุดท้ายนี้ นายสุพันธุ์ขอเป็นกำลังใจให้กับคนตัวเล็ก ฝ่าฟันอุปสรรคและปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย การค้าที่เปลี่ยนแปลงไป โดยใช้เทคโนโลยี และระบบดิจิตัลเข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ-ขายออนไลน์ และตลาด E-Commerce รวมถึงหาข้อมูลเชิงลึก เพื่อลดต้นทุน และศึกษาวิธีการใหม่ๆ มาประกอบใช้เพื่อช่วยขยายตลาดเพิ่มเติมได้ในอนาคต