“จาตุรนต์” ถามรัฐบาลทำอะไรอยู่ ชาวนากำลังขาดทุน ราคาข้าวเปลือกตกต่ำเรื่อยๆ ข้าวสารกลับมีแต่ขึ้น

อดีตรองนายกฯ ชี้ราคาข้าวสารขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ชาวนากลับขาดทุนลง ราคาข้าวเปลือกตกต่ำ ซัดรัฐบาลสอบตกแก้ไขปัญหา

 

วันที่ 29 มิถุนายน 2565 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ราคาข้าวสารและข้าวเปลือกในไทยขณะนี้ว่า

ข้าวสารขึ้นราคาแล้ว ข้าวสารถุงก็อาจต้องขึ้นราคา แต่ข้าวเปลือกราคาเริ่มลงและจะลงไปอีก ชาวนากำลังจะขาดทุนและเป็นหนี้

รัฐบาลจะไม่ทำอะไรเลยหรือ?

สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาข้าวสารขาวในประเทศขยับสูงขึ้นเป็นกิโลกรัม (กก.) ละ 15 บาท เพิ่มขึ้น 20-30% และแนวโน้มราคาจะยังสูงขึ้นอีก จนถึงช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. จนกว่าจะมีผลผลิตข้าวฤดูกาลใหม่ออกมา ซึ่งจะส่งผลให้ราคาข้าวสารบรรจุถุง อาจต้องปรับขึ้นราคา ขายปลีกตามต้นทุนที่สูงขึ้นด้วย สำหรับข้าวขาวบรรจุ ถุงปัจจุบัน ขนาด 5 กก. ราคาอยู่ระหว่างถุงละ 70-120 บาท แต่มีโอกาสที่ราคาจะปรับเพิ่มขึ้นไปเป็น ถุงละ 90-150 บาท หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 20-30% ขึ้นอยู่กับแบรนด์ของสินค้า

ส่วนสาเหตุที่ข้าวสารราคาสูงขึ้นนั้นทางสมาคมฯชี้ว่าเป็นเพราะที่ผ่านมาผลผลิตลดน้อยลงและมีคำสั่งซื้อข้าวสารจากต่างประเทศเข้ามามาก

https://www.thairath.co.th/business/economics/1801543

ฟังอย่างนี้ต่อไปชาวนาก็น่าจะขายข้าวได้ราคาลืมตาอ้าปากได้

ผมอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับชาวนา ก็เลยหาข้อมูลจากคำบอกเล่าของชาวนา ผู้นำท้องถิ่นและโรงสีในจังหวัดฉะเชิงเทราได้ข้อมูลน่าสนใจอย่างนี้ครับ

แถวอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา

เกี่ยวครั้งก่อน เดือนธค. 64 ขายได้เกวียนละ 6,600-6,700 บาท ราคาเมื่อกลางเดือนมิถุนา 8,200 – 8,500 บาท แต่ชาวนาไม่มีข้าว ตอนนี้เหลือประมาณ 7,800 บาท คาดว่าถึงเวลาเกี่ยว ราคาลดแน่และขาดทุนแน่

บางตำบลในอำเภอบางน้ำเปรี้ยว
ราคาขาย เมื่อ ธค. 64-กพ.65 ขายได้ 6,800-7,000 บาท (ข้าว กข)

ถ้าหอมประทุม ขายได้ 8,000 (แต่หอมประทุม ชาวนาไม่ค่อยทำกัน )

ราคา ตอนนี้ หอมประทุม 10,500 บาท ข้าว กข. 7,500-7,800 บาท
แต่ชาวนายังไม่ได้เกี่ยว อีกประมาณ 1 เดือน เกี่ยวได้ ช่วงเกี่ยวได้คาดว่าจะลดลงอีก

ทั้งหมดให้ข้อมูลตรงกันว่าถ้าเป็นอย่างนี้ ชาวนาขาดทุนแน่เพราะต้นทุนสูงมาก

ก็ต้องนับว่าเป็นเรื่องน่าเอน็จอนาถมากที่ข้าวกำลังเป็นต้องการของต่างประเทศมากขึ้น เพราะวิกฤตอาหารโลก ราคาข้าวสารสำหรับบริโภคก็กำลังจะสูงขึ้นอีก แต่ชาวนากลับกำลังจะต้องขาดทุน เป็นหนี้เป็นสินเพิ่มขึ้น

หลายฝ่ายพูดถึงการที่ประเทศไทยจะเป็นผู้ส่งออกอาหารให้ชาวโลกในท่ามกลางวิกฤตอาหารของโลก พลเอกประยุทธ์ก็พูดตาม แต่ไม่เห็นดำเนินการอะไร ดูจากเรื่องข้าวก็สอบตกแล้ว

รัฐบาลไม่ได้เอาจริงเอาจังที่จะดูว่าในเมื่อข้าวกำลังจะทำรายได้เข้าประเทศมากขึ้น ทำอย่างไรให้ชาวนาได้ส่วนแบ่งมากขึ้นบ้าง ทำอย่างไรจะให้ข้าวเปลือกราคาสูงขึ้นในเวลาที่ชาวนาขายข้าวและทำอย่างไรให้ค่าปุ๋ยและต้นทุนของเกษตรกรต่ำลง

เมื่อโลกต้องเผชิญกับวิกฤตอาหารโลกเช่นนี้ การอุดหนุนค่าปุ๋ยและต้นทุนการผลิตแก่เกษตรกร คงไม่มีประเทศไหนต่อต้านคัดค้าน ซึ่งนอกจากจะใช้วิธีนี้ช่วยชาวนาแล้ว ยังสามารถช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกพืชชนิดอื่นๆได้ด้วย

จะเป็นผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ได้ ต้องแก้ปัญหาหลายอย่าง แต่ที่ขาดไม่ได้แน่ๆก็คือต้องทำให้เกษตรกรอยู่ได้ ทำการผลิตได้มากขึ้นและมีรายได้มากขึ้น ไม่ใช่ยิ่งทำยิ่งเป็นหนี้อย่างที่ชาวนาประสบอยู่ทุกวันนี้ครับ