มท.เซ็นสั่งช่วยสนับสนุนชุดลูกเสือ-เนตรนารี ให้ผู้ปกครองฐานะยากจน ส.ส.ก้าวไกลติง ยึดติดเครื่องแบบ

ปลัดมท.เซ็น สั่งช่วยเหลือสนับสนุนชุดลูกเสือ เนตรนารี ผู้ปกครองฐานะยากจน ‘สุทธวรรณ’ ติง ‘ศธ.- มหาดไทย’ ยึดติดเครื่องแบบ ไหนเคยบอกให้แต่งแบบอณุโลม

 

จากกรณีผู้ปกครองออกมาเปิดเผยเรื่องภาระค่าใช้จ่าย ชุดเครื่องแต่งกายลูกเสือ เนตรนารี เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่ง สพฐ. ได้ระบุว่า อนุโลมให้โรงเรียนผ่อนคลายเรื่องเครื่องแบบได้ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย

ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามในหนังสือ เรื่อง การแต่งเครื่องแบบลูกเสือและเนตรนารี วันที่ 22 มิ.ย. ระบุว่า ด้วยสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ จัดประชุมคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2565 และมีประเด็นการพิจารณาเรื่องการแต่งเครื่องแบบลูกเสือและเนตรนารี ซึ่งมีการเรียกร้องให้งดเครื่งแบบลูกเสือและเนตรนารีเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน

ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองประธานกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ เล็งเห็นว่า การแต่งกายด้วยชุดลูกเสือและเนตรนารี เป็นการปลูกฝังความรัก และความภูมิใจในความเป็นลูกเสือ และเนตรนารี อีกทั้งชุดลูกเสือเป็นเครื่องแบบพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชบิการแห่งกิจการลูกเสือไทย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการปลูกฝังอุดมการณ์ลูกเสือและเนตรนารี

โดยหากผู้ปกครองรายใดมีฐานะยากจนขัดสน ไม่สามารถดำเนินการจัดหาชุดลูกเสือและเนตรนารีให้แก่บุตรได้ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้การช่วยเหลือสนับสนุนช่วยเหลือ หากเกินความสามารถขอให้แจ้งให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยทราบในโอกาสแรกด้วยจะขอบคุณยิ่ง

อย่างไรก็ตาม สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.จังหวัดนครปฐม และรองโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวว่า การอ้างเหตุผลดังกล่าวเพื่อนำไปสู่สภาพบังคับในระบบการศึกษาไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง เพราะเราอยู่ในยุคสมัยที่แตกต่างกัน โรงเรียนในเวลานั้นส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนหลวง หรือต่อมาแม้มีการศึกษาภาคบังคับแล้ว แต่ยังเป็นสิ่งใหม่ของสังคมไทยและในความเป็นจริงก็ยังเข้าถึงในวงจำกัดจึงสามารถจัดการศึกษาที่ฟรีตามกำลังได้
.
แตกต่างจากปัจจุบัน ที่ถึงแม้จะมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี แต่ผู้ปกครองทุกคนล้วนรับรู้ดีว่ามันไม่เคยเป็นจริงและยังมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มรวมเบ็ดเสร็จแล้วยังมากกว่าที่ได้รับยกเว้นเป็นเท่าตัว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังวิกฤตโควิดและวิกฤตค่าครองชีพในปัจจุบันยิ่งทำให้เกิดภาวะยากจนเฉียบพลัน มีเด็กกำลังจะหลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวนมากซึ่งควรเป็นเรื่องเร่งด่วนในการแก้ปัญหา แต่ภาครัฐกลับยังยึดติดอยู่กับเครื่องแบบที่ต้องใช้งบจัดหาและเป็นภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มให้ประชาชน
.
“หลักสูตรต่างๆควรปรับหรือเปลี่ยนให้สอดคล้องกับยุคสมัย คัดกรองในส่วนที่จำเป็นพื้นฐานให้เด็กๆได้เรียนรู้ เช่น การปฐมพยาบาล การรู้จักตัวเอง การเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ส่วนวิชาลูกเสือซึ่งเป็นการนำกฎระเบียบและวินัยต่างๆเข้ามารวมถึงต้องมีเครื่องแบบเฉพาะด้วยนั้น ไม่ควรเป็นวิชาบังคับ ถ้าใครอยากเรียนก็ควรอยู่ในรูปแบบของวิชาเลือกก็เพียงพอแล้ว”
.
สุทธวรรณ ยังย้ำด้วยว่า กรณีดังกล่าว ขัดแย้งกับที่นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวไว้ตอนต้นเดือนมิถุนายน 2565 ว่าได้มีหนังสือไปยังโรงเรียนต่างๆ ตั้งแต่ปี 2564 ให้ยืดหยุ่น หรืออนุโลมให้นักเรียนที่ไม่มีความพร้อม ไม่ต้องแต่งชุดลูกเสือ-เนตรนารี เต็มรูปแบบ แค่มีสัญลักษณ์ที่บ่งบอกได้ เช่น ผ้าพันคอ
.
“หากยืดหยุ่นจริงดังที่รัฐมนตรีกล่าว เหตุใดจึงต้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด จัดหาชุดลูกเสือ-เนตรนารีด้วย นี่เป็นการใช้งบประมาณอย่างสิ้นเปลืองและไม่เกิดประโยชน์ จริงอยู่ว่าการจัดหาชุดให้เป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง แต่ด้วยสภาพการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน กระทบกันไปทุกหย่อมหญ้า จำนวนครอบครัวที่ไม่มีกำลังจ่ายค่าชุด ย่อมมีเป็นจำนวนมาก ตรงส่วนนี้จะใช้อะไรเป็นเกณฑ์ตัดสินว่าใครควรได้รับชุด ใครไม่ควรได้รับชุด ทำไมต้องให้มาคัดกรองความจนกันอีก บางคนชีวิตลำบาก แต่อาจไม่ผ่านเกณฑ์ ก็เป็นภาระเช่นเดิม ทางออกที่ดีคือ ไม่ต้องแต่งชุดลูกเสือ-เนตรนารีเต็มรูปแบบไปเลยจะดีกว่า เพราะความสำคัญของวิชาลูกเสือ-เนตรนารี อยู่ที่เนื้อหาวิชา ไม่ได้อยู่ที่เครื่องแบบ
.
“ขอเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ และคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ พิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง และขอคำตอบที่ชัดเจนจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ว่าตกลงยืดหยุ่นให้ใส่แค่ผ้าพันคอตามที่เคยพูดไว้จริงหรือไม่ ถ้าจริง ทำไมต้องมีให้ทุกจังหวัดจัดหาชุดให้นักเรียนที่ขาดแคลนอีก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นถึงเจ้ากระทรวงและเป็นหัวโต๊ะคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ควรมีความชัดเจนกว่านี้ ไม่ใช่ ศธ.พูดอย่าง มหาดไทยพูดอย่าง หรือเกียร์ว่างให้ผลาญงบกันเล่นๆ อย่าแกว่งไปแกว่งมา ควรคำนึงถึงหัวจิตหัวใจประชาชนที่กำลังลำบาก มากกว่าการยึดติดอยู่กับเครื่องแบบ” สุทธวรรณ ระบุ