‘สภาพัฒน์’ ยัน ศก.ปีนี้โตถึง 3% มั่นใจ 8 มาตรการช่วยทุกกลุ่ม

‘สภาพัฒน์’ ยัน ศก.ปีนี้โตถึง 3% มั่นใจ 8 มาตรการช่วยทุกกลุ่ม ย้ำน้ำมันไทยไม่แพง ดีเซลสิงคโปร์ลิตรละ 65 บ.

วันที่ 22 มิถุนายน 2565 เมื่อเวลา 09.00 น.  นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปาฐกถาพิเศษ ‘สู่โอกาสใหม่ STRONGER THAILAND’ ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ รางน้ำ กรุงเทพฯ ว่า หลังเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเผชิญวิกฤตซับซ้อนมากขึ้น สามารถเกิดขึ้นและเป็นปัญหาที่คาดการณ์ได้ยากลำบากมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัว

เปิดแผนฝ่าวิกฤตโควิด 2 ปี

นายดนุชากล่าวว่า ช่วง 2 ปีเกิดโควิดระบาดเราได้มีการบริหารจัดการ 3 เรื่องหลัก คือ 1.การรักษาชีวิตของประชาชนผ่านการรักษาพยาบาล จัดหาวัคซีนป้องกันโรค และระดมฉีดได้มากที่สุด 2.การเยียวยาประชาชน ช่วงแรกช่วยเหลือกลุ่มอาชีพอิสระ ต่อมาช่วยเหลือกลุ่มเจาะจงมากขึ้น และใช้มาตรการดึงผู้มีอาชีพอิสระเข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคม หรือมาตรา 40 มากขึ้น

และ 3.กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เหมาะสม หลัง 2 ปีเครื่องยนต์เศรษฐกิจมีจำกัด ต้องใช้ทรัพยากรภายในประเทศพยุงเศรษฐกิจ แก้ปัญหาหนี้สิน และเอสเอ็มอี ผ่านการออกมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และมาตรการของรัฐ ซึ่งสามารถบรรเทาประชาชนและพยุงเศรษฐกิจได้ช่วงระยะหนึ่ง มาถึงปี 2564 การส่งออกปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีปัญหาโควิดระบาดหนักอีก 2 ครั้งในช่วงต้นปี และไตรมาส 3/2564 ทำให้เศรษฐกิจติดลบ

ฉายภาพเศรษฐกิจปีนี้ขยายตัว3%

นายดนุชากล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ปี 2565 เมื่อต้นปีเศรษฐกิจเผชิญกับปัญหาการระบาดโอมิครอน แต่อาการไม่รุนแรงมากนัก การแพทย์ของไทยยังสามารถรับมือได้ โดยได้ประกาศตัวเลขว่าเศรษฐกิจจะสามารถไปต่อได้ แต่ต่อมาประเทศไทยเผชิญกับปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ต้องปรับประมาณการตัวเลขลงอีก หลังมีปัจจัยการฟื้นตัวเศรษฐกิจ เนื่องจากราคาน้ำมันขยับขึ้นเรื่อยๆ

“สะท้อนให้เห็นว่าช่วงต่อจากนี้ ถึงระยะข้างหน้าโลกจะมีความซับซ้อนและมีความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาผลกระทบทางภูมิศาสตร์การเมืองจะรุนแรงขึ้น เกิดการแบ่งขั้วอำนาจมากขึ้น จึงเป็นจุดที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปต้องวางตำแหน่งให้ดี ประสานทุกประเทศได้” นายดนุชากล่าว

ส่งออก-ท่องเที่ยวบูสต์เศรษฐกิจครึ่งปี

นายดนุชากล่าวว่า ด้านเศรษฐกิจครึ่งหลังของปี 2565 ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง ได้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 3% แน่ๆ เพราะการส่งออกยังมีอานิสงส์ แม้สงครามรัสเซียกับยูเครนจะเป็นความเสี่ยง แต่ก็เป็นโอกาสด้านการส่งออกอาหาร

ขณะที่การท่องเที่ยวหลังได้เปิดประเทศ 5 เดือนที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วประมาณ 2 ล้านคน คาดว่าช่วงหลังปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 7-10 ล้านคน ทำให้ภาคท่องเที่ยวเกิดการฟื้นตัวได้มากขึ้น อีกทั้งรัฐได้มีการต่อมาตรการเราเที่ยวด้วยกัน คาดว่าจะกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวในประเทศเดินทางได้ต่อเนื่อง

นายดนุชากล่าวว่า ด้านการบริโภคภาคเอกชนก็เติบโตขึ้นมากถึง 8% สะท้อนว่ากิจกรรมในประเทศกระเตื้องขึ้น และการลงทุนยังสามารถไปได้อยู่ ส่วนที่เป็นปัญหาคาดว่าจะเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เงินเฟ้อจากราคาพลังงานปรับตัวสูง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้ และพยายามแก้ปัญหาโดยการนำมาตรการเข้าไปช่วยบรรเทาความเดือดร้อน

เปิดปัจจัยหนุน-ปัจจัยเสี่ยง

“เศรษฐกิจไทยในปี 2565 มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น และปรับตัวดีต่อเนื่องในปี 2566 ซึ่งปีนี้คาดการณ์เศรษฐกิจขยายตัว3% ปีหน้าคาดการณ์อยู่ที่ 3.7% มีปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศ การส่งออกยังขยายตัวโดยปี 2564 โตถึง 18% การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว แต่ยังมีข้อจำกัดเป็นความเสี่ยง จากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก สงครามรัสเซียกับยูเครน เศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัว หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น เงินเฟ้อทั่วโลกที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งไทยเมื่อพฤษภาคมเงินเฟ้อสูง 7.1% มาจากราคาพลังงานและอาหาร ซึ่งก็ขอบคุณผู้ผลิตที่ยังไม่ส่งผ่านต้นทุนไปสู่ผู้บริโภคมากนัก แต่บางสินค้าก็ต้องปล่อยปรับราคา เพราะต้นทุนแพงเกินกว่าผู้ผลิตจะแบกรับไหว” นายดนุชากล่าว

คลอด 8 มาตรการลดต้นทุนพลังงานแพง

นายดนุชากล่าวว่า ทั้งนี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการมาช่วยบรรเทาภาระประชาชนบ้างแล้ว และมีอีก 8 มาตรการได้ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา ในส่วนนี้เป็นเรื่องที่รัฐจะจัดสรรงบประมาณมาช่วยเหลือประชาชน เช่น กองทุนน้ำมันเชื่อเพลิงใช้เงินไปแล้ว ด้านของการช่วยเหลือค่าก๊าซ LPG กับภาคครัวเรือน ช่วยเหลืออุดหนุนราคาน้ำมันเพื่อให้ราคาไม่สูงเกิน หากเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกันราคาน้ำมันของไทยยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ เช่น สิงคโปร์ น้ำมันดีเซลราคาลิตรละ 65 บาท เพราะใช้ราคาน้ำมันจริงตามกลไกตลาด เป็นต้น ดังนั้น การที่รัฐออกมาตรการด้านพลังงานออกมา เพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบน้อยลง

“ผู้ที่จะเข้ามาดูแลก็คือกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ปัจจุบันภาระที่เกิดขึ้นกองทุนน้ำมันติดลบกว่า 9 หมื่นล้านบาท คาดว่าสิ้นเดือนมิถุนายนนี้อาจติดลบถึง 1 แสนล้านบาท จากราคาน้ำมันแพงก็พยายามให้หลายหน่วยงานเข้ามาพูดคุย และบริหารจัดการราคาพลังงานในประเทศให้ดีที่สุด และหลังเดือนกันยายนจะเข้าไปดูต่อไปว่ามีส่วนใดที่จะต่อมาตรการออกไปได้อีก แต่ขอความร่วมมือประชาชนปรับตัวช่วยกันใช้พลังงานอย่างประหยัด”

นายดนุชากล่าวว่า จากปัจจัยที่เกิดขึ้น ภาคธุรกิจของไทยมีเงินให้กู้ยืมเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจมากขึ้น โดยสินเชื่อภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องทั้งสินเชื่อภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือน และสินเชื่อแก่ธุรกิจเอสเอ็มอีที่ขยายตัวนับตั้งแต่มีการระบาดโควิด ส่วนหนี้สินภาคธุรกิจที่เป็นหนี้ที่ไม่เกิดรายได้ในภาพรวมยังทรงตัว และยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก

“ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์เริ่มปรับตัวดีขึ้น แม้ในความรู้สึกยังคิดว่าเศรษฐกิจยังไม่ปรับตัวมากนัก เพราะเศรษฐกิจจะค่อยๆ ขยายตัวในภาพใหญ่มากขึ้น” นายดนุชากล่าว

ปี’66 ไทยต้องปรับตัว สร้างจุดขายใหม่

นายดนุชากล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ในปี 2566 อาจเกิดปัญหาด้านภูมิศาสตร์ด้านการเมืองมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยต้องยืนอยู่ในจุดที่ได้ประโยชน์มากที่สุด โดยระยะถัดไปเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และช่วยขับเคลื่อนประเทศถัดไป ต้องยืนอยู่ได้ และต้องปรับตัวให้ได้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งไทยจะอยู่แบบเดิมไม่ได้ ต้องปรับตัวรอบด้าน สร้างจุดขายใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งทิศทางที่ได้หารือกับคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว ในแผน พัฒนาฉบับที่ 13 กำหนด 13 จุดมุ่งหมาย สู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน