บาทอ่อนหนักกระทบดุลการค้าไทย พ.ค. ติดลบกว่า 5 หมื่นล้านบาท

บาทอ่อนหนักกระทบดุลการค้าไทย พ.ค. ติดลบกว่า 5 หมื่นล้านบาท

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.22 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 35.21 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยมองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.90-35.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.10-35.35 บาทต่อเหรียญสหรัฐและอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทย โดยดุลการค้าเดือนพฤษภาคมอาจขาดดุลราว 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ(กว่า 50,000 ล้านบาท) เนื่องจากต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้นและปัญหาเงินบาทอ่อนค่าจะยิ่งหนุนให้ยอดการนำเข้าโตกว่า 18% ในขณะที่ยอดการส่งออกอาจโตเพียง 8%

นายพูนกล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินบาทมีโอกาสผันผวนฝั่งอ่อนค่าไปทดสอบแนวต้านในโซน 35.40 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยแรงกดดันฝั่งอ่อนค่ามาจากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติไหลออกช่วงตลาดปิดรับความเสี่ยง รวมถึงทิศทางเงินดอลลาร์ที่ไม่อ่อนค่าได้ง่ายนัก จนกว่าตลาดจะมั่นใจว่าเฟดจะไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากราคาทองคำมีการรีบาวด์ขึ้นมา ก็อาจมีโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ซึ่งจะช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ นอกจากนี้ เงินบาทจะยังไม่อ่อนค่าไปทดสอบแนวต้านระดับ 36.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หากตลาดไม่ได้กังวลการเริ่มใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้งในบางพื้นที่ของจีน จนหันมาเทขายสินทรัพย์ฝั่ง EM Asia ทั้งหุ้นและบอนด์อย่างรุนแรง

“ช่วงตลาดการเงินผันผวนสูงจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ทั้ง สงคราม ปัญหาการระบาดของโอมิครอนในจีน และความกังวลเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินเฟด ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน”นายพูนกล่าว

ด้านกลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets) ระบุว่า ค่าเงินบาทวันนี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 35.15 -35.35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวอ่อนค่าตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่สกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชียมีทิศทางดิ่งลง ค่าเงินบาทดิ่งลงราว 0.6% โดยเฉพาะค่าของเงินดอลลาร์ที่ได้รับผลกระทบจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพิ่งประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในวันพุธ ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2542 อย่างไรก็ตาม การที่เฟดมีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วกว่าเดิม จะสร้างความยากลำบากให้แก่ธนาคารกลางในเอเชีย และนักลงทุนในตราสารหนี้เอเชีย