“หมอเลี๊ยบ” ย้อนวันวาน 16 ปี “30 บาท รักษาทุกโรค” เผยเราทำฝันที่เป็นไปไม่ได้ให้เกิดขึ้น

เมื่อวานนี้ (1 ตุลาคม 2560) นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี  อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือที่รู้จักกันในชื่อ “30 บาท รักษาทุกโรค” ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว เนื่องในโอกาสครบรอบ 16 ปี ที่นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีผลทั่วไทยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2544 ว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค เปิดให้บริการครบ 75 จังหวัดในประเทศไทยเป็นครั้งแรก หลังจากที่ดำเนินการนำร่องใน 6 จังหวัดคือ สมุทรสาคร ปทุมธานี ยโสธร นครสวรรค์ พะเยา และยะลา เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2544 และขยายเพิ่มอีก 15 จังหวัดในวันที่ 15 มิถุนายน 2544

เป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งได้รับการยกย่องจากสังคมโลกในเวลาต่อมาว่า นี่คือการปฎิรูประบบบริการสาธารณสุขที่ทะเยอทะยานที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศกำลังพัฒนา เป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งใช้เวลาผลักดันเพียง 7 เดือนกับอีก 2 วัน หลังจากรัฐบาลที่มี ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544 เป็นเวลา 7 เดือนกับอีก 2 วันที่ได้รับทั้งดอกไม้และก้อนอิฐ ทั้งคำชื่นชมและเสียงเยาะเย้ยถากถาง เป็นเวลา 7 เดือนกับอีก 2 วันที่บางกลุ่มบอกว่า เร่งรีบทำเพื่อหาเสียง และบางคนเช่น อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ สนับสนุนให้รีบทำ เพราะรู้ดีว่า ถ้า “ไม่รีบทำก็ไม่ได้ทำ”” นพ.สุรพงษ์ กล่าว

นพ.สุรพงษ์กล่่าวด้วยว่า ถึงวันนี้ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเรื่องราวปกติของสังคมไทย แม้ถูกโยกคลอนเป็นระยะๆ แต่ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะถูกลดระดับให้ถอยหลังเข้าคลอง เพราะนับตั้งแต่ พ.ศ.2426 ซึ่งเยอรมันได้ริเริ่มเป็นแห่งแรก ทุกประเทศที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว ไม่เคยถอยหลังอีกเลย แต่กลับพัฒนายกระดับเพิ่มขึ้นตลอดมา ผมจึงจำได้ถึงมวลแห่งความสุขที่อบอวลรอบตัวในวันนี้เมื่อ 16 ปีที่แล้ว และยังจำได้ด้วยว่า ก่อนหน้านั้นแค่ 2 ปี คือ พ.ศ.2542 ความคิดเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังเป็นเพียงความฝันที่เป็นไปไม่ได้ของแพทย์รุ่นพี่รามาธิบดีที่ชื่อ สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ แต่ผมรู้ดีว่า “พี่หงวน” ก็ไม่เคยถอย กัดไม่ยอมปล่อย สู้เพื่อฝันนี้ของเขาอยู่เสมอ

จากนั้น นพ.สุรพงษ์ระบุย้อนเวลากลับไปในปี 2542 ก่อนที่จะเกิดนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าว่าผมซึ่งรับหน้าที่ทำนโยบายสาธารณสุขของพรรคไทยรักไทย ขอนัดหมายกับพี่หงวนเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเรื่องระบบสาธารณสุขที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ หลักสี่ เพราะพี่หงวนจัดสัมมนาที่นั่น และเพื่อให้ได้แนวนโยบายสาธารณสุขที่ “ใหญ่” และ “แตกต่าง” อย่างที่ผมต้องการ ผมจึงเอ่ยถามพี่หงวนทันทีที่พบคุยกันว่า

พี่หงวน ชีวิตนี้พี่มีความฝันอะไรที่อยากทำ แต่ทำไม่ได้ หรือยังไม่ได้ทำบ้าง?”

ผมฝันอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรก กำลังจะเสร็จแล้ว คือ กองทุน สสส. แต่อีกเรื่องคือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผมฝันอยากทำมาก ไปเสนอหลายพรรคแล้ว เขาไม่สนใจ ถ้าเลี้ยบจะให้ผมไปลองเสนอพรรคไทยรักไทยก็ได้ “

พี่หงวนตอบผมด้วยน้ำเสียงนุ่มเนิบที่คุ้นเคย ผมรู้สึกได้ว่า พี่หงวนไม่ได้ฝากความหวังว่า พรรคไทยรักไทยจะช่วยให้ฝันเป็นจริงได้ เพราะเวลานั้น พรรคไทยรักไทยเพิ่งตั้งขึ้นได้ไม่ถึง 1 ปี ยังไม่มีสัญญานใดๆให้จับต้องได้เลยว่า จะชนะการเลือกตั้งใหญ่ซึ่งไม่รู้ว่าจะมาถึงเมื่อใด

จากนั้น นพ.สุรพงษ์ยังระบุอีกว่า ตนไปขอปรึกษาพูดคุยกับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย เกี่ยวกับแนวทางการจัดทำนโยบายของคณะทำงานด้านนโยบายของพรรค ณ ห้องทำงานของหัวหน้าพรรค เมื่อได้ความกระจ่างเรื่องที่ต้องการสอบถามแล้ว ผมถือโอกาสถามเป้าหมายของพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งใหญ่ว่า

หัวหน้าครับ หัวหน้าตั้งเป้าหมายว่า พรรคจะได้ ส.ส.กี่คนในการเลือกตั้งครับ “

ผมคิดว่า สัก 25 คนน่าจะได้นะหมอ “

ครับ ไม่ผิดครับ ห้วงเวลากลางฤดูร้อนปี 2542 พรรคไทยรักไทยตั้งเป้าว่า จะได้ ส.ส.ในการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมาถึงเพียง 25 คน!

ทั้งนี้ นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า หากย้อนเวลากลับไปในปี 2542 ไม่มีใครเชื่อแน่ ถ้ามีคนทำนายว่า อีก 2 ปี พรรคไทยรักไทยจะชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายด้วยจำนวน ส.ส.เกือบครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร และรัฐบาลภายใต้การนำของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร จะปฎิรูประบบบริการสาธารณสุขที่ทะเยอทะยานที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศกำลังพัฒนา วันนี้ ความฝันกลางฤดูร้อนที่เคยเป็นไปไม่ได้ ได้รับการบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ว่า เกิดขึ้นแล้วจริงๆ แน่นอน ไม่ใช่เหตุบังเอิญ ไม่ใช่โชคชะตากำหนด ไม่ใช่ปาฏิหาริย์ แต่นี่คือเรื่องราวแห่งการทำงานหนักช่วงปี 2542-2543 ของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร และคนกลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่ง ในการสร้างพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ให้เป็นพรรคการเมืองแบบใหม่ คิดใหม่ ทำใหม่ ที่ตั้งเป้าหมายให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง เรื่องราวเหล่านี้ยังอยู่ในความทรงจำของผม และคงมีโอกาสได้เล่าสู่กันฟังต่อไป

ดังนั้น บางเวลา เมื่อผมรู้สึกหดหู่ ทอดถอนใจ ไม่แน่ใจว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร มืดมนหรือสดใส ผมมักย้อนคิดถึงภาพอดีตแห่งฤดูร้อนปี 2542 แล้วบอกกับตัวเองว่า อย่าสิ้นหวัง อย่าท้อถอย กัดไม่ปล่อย สู้เพื่อฝัน อนาคตที่ใครต่อใครพร่ำบอกว่าเป็นไปไม่ได้ จักต้องมาถึง เพราะเราจะทำงานหนัก แล้วเขียนอนาคตนั้นขึ้นมาเอง” นพ.สุรพงษ์ ระบุทิ้งท้าย