‘นพ.ประสิทธ์’ เผยหลายปท.ไม่ประกาศ เข้าโรคประจำถิ่น ถอดแมสก์ต้องให้ศบค.พิจารณา

‘หมอประสิทธิ์’ เผยหลายประเทศไม่ต้องประกาศ โควิดเข้าสู่โรคประจำถิ่น ไทยถอดแมสก์ได้ต้องบูสต์วัคซีนให้ได้มากพอสมควร นำเข้าศบค.พิจารณาก่อน

 

กรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยแพร่ข้อมูลโรคโควิด-19 ที่คาดว่าจะเข้าสู่โรคประจำถิ่น (Endemic) เร็วขึ้นกว่าแผนเดิมวันที่ 1 ก.ค. ขึ้นมาครึ่งเดือนเป็นช่วงกลางเดือน มิ.ย. ประกอบการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ที่จะเริ่มต้นในวันที่ 1 มิ.ย. คือการยกเลิกกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ยกเลิกไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) ในกลุ่มคนไทยที่เดินทางเข้าประเทศ ยกเลิกระบบกักตัวผู้เดินเข้าประเทศโดยให้ตรวจ ATK แบบทางการแพทย์ที่สนามบินเมื่อเดินทางมาถึงไทย และการเปิดสถานบันเทิงใน 31 จังหวัดกลุ่มสีฟ้าและสีเขียวนั้น

เมื่อวันที่ 25 พ.ค.65 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยที่จะเข้าสู่โรคประจำท้องถิ่นในเดือนมิ.ย.ว่า สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกจะเห็นว่าประเทศต่างๆ เปิดประเทศจนเกือบจะไม่ต้องพูดถึงว่าโรคระบาดหรือโรคประจำถิ่นแล้ว เพราะหากเราพูดถึงว่า โรคประจำถิ่นหรือไม่ ก็ต้องมาพูดถึงเกณฑ์ต่างๆ

ดังนั้น แต่ละประเทศจึงปรับมาตรการลดลง อย่างบางประเทศไม่ตรวจวัคซีนพาสปอร์ต (Passport) แล้ว ไม่พูดถึงเรื่องการตรวจหาเชื้อแล้ว จึงแสดงให้เห็นทิศทางทั่วโลกว่า โควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นสายย่อย BA.1 BA.2 หรือ 3 4 5 ไม่ได้ก่อเรื่องขึ้นมา รวมถึงการฉีดวัคซีนโควิดทั่วโลกจำนวนมากแล้ว

“หลายประเทศเปิดกันหมด โดยไม่ต้องประกาศเป็น Endemic แล้ว ดังนั้นหากถามผมก็มองว่าในวันที่ 1 มิ.ย. คนไทยไม่ต้องกรอกไทยแลนด์พาสแล้ว ฉะนั้น จริงๆ สัญญาณก็ออกมาว่าจะเปิดประเทศ ส่วนวัคซีนเข็มที่ 3 ฉีดครอบคลุมประมาณ 40% นิดๆ จริงๆ ผมอยากให้ถึง 50% แต่ถ้าจะเปิดกลางเดือนมิ.ย. วัคซีนก็น่าจะใกล้เคียง ถึงตอนนั้นก็น่าจะเซฟพอ หลักสำคัญคือคนกลุ่มเสี่ยง 608 ยังต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นต่อ” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีการถอดหน้ากากอนามัย ในช่วงเดือน มิ.ย.นี้ เช่นการสวมในพื้นที่โล่ง คนไม่แออัด และไม่มีความเสี่ยง ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ความคิดเห็นส่วนตนมองว่า ประเทศทางยุโรปเริ่มดำเนินการเช่นนี้แล้ว คนที่เดินตามท้องถนนทั่วไป ที่คาดว่าได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว สวมหน้ากากเพียง 5%

ส่วนเมื่อเข้าในอาคารก็มีจำนวนหนึ่งสวม จำนวนหนึ่งไม่สวม ทั้งนี้ การนำตัวเลขติดเชื้อมาประเมินสถานการณ์จึงมีผลน้อยลง เนื่องจากหลายประเทศไม่ได้ตรวจแล้ว แต่มาดูเรื่องการเสียชีวิต โดยหลายประเทศที่เริ่มถอดหน้ากากอนามัย ก็ยังไม่เกิดเหตุการณ์ว่าผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม เราจะสรุปว่าต่างประเทศเลิกสวมหน้ากากแล้วก็ไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะบางกลุ่มก็ยังมีความกังวลอยู่ จึงอาจบอกได้ว่าหลายประเทศไม่ได้บังคับให้สวมหน้ากาก เช่น พื้นที่เปิดโล่ง ซึ่งเป็นคำแนะนำที่ผ่อนคลายมากกว่าเมื่อ 2 เดือนที่แล้วค่อนข้างมาก

“ตอนนี้โลกสวิงไปอีกทางแล้ว แต่สำหรับประเทศไทยก็ขอให้ติดตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข แต่หากจะทำเหมือนประเทศอื่นๆ เราก็ต้องระวัง เพราะต่างประเทศเขาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเยอะกว่าเรา โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่ต้องฉีดให้ได้มากพอสมควร เพื่อลดความอันตราย แต่หากเราจะดำเนินการเรื่องนี้ก็ต้องเข้าที่ประชุมศบค.พิจารณาก่อน” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว