ยูนิเซฟชี้ประเทศร่ำรวยทำเด็กทั่วโลกตกอยู่ในความเสี่ยง

ยูนิเซฟชี้ประเทศร่ำรวยทำเด็กทั่วโลกตกอยู่ในความเสี่ยง

 

รายงานของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ชี้ว่า ประเทศร่ำรวยกำลังสร้างสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ทั้งที่บ้านของพวกเขาและในที่อื่นๆ ทั่วโลก พร้อมกับเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ลดของเสียและลดมลพิษ

ศูนย์วิจัย Innocenti ของยูนิเซฟ ได้ทำการศึกษาใน 39 ประเทศที่เป็นสมาชิกขององค์การเพื่อความีร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และสหภาพยุโรป (อียู) โดยมีการนำเกณฑ์ด้านต่างๆ มาประกอบการพิจารณา ซึ่งรวมถึงประเด็นเกี่ยวกับการใช้ยากำจัดศัตรูพืช ความชื้นในบ้าน โอกาสเสี่ยงในการได้รับสารตะกั่ว การเข้าถึงแสงแดด และการสร้างของเสีย

กูนิลลา โอลส์สัน ผู้อำนวยการศูนย์ระบุในแถลงการณ์ว่า ไม่เพียงแต่ประเทศส่วนใหญ่จะล้มเหลวในการจัดหาสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับเด็กภายในประเทศของพวกเขา แต่พวกเขายังมีส่วนในการทำลายสิ่งแวดล้อมของเด็กที่อยู่ในส่วนอื่นๆ ของโลกด้วย

รายงานระบุว่า แม้ในสเปน ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส จะมีภาพรวมค่อนข้างดี แต่ไม่มีประเทศใดที่ได้จัดสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพสำหรับเด็ก แต่ประเทศที่ร่ำรวยน้อยกว่าในลาตินอเมริกาและยุโรปได้สร้างผลกระทบต่อโลกน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศร่ำรวยอื่นๆ

ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ และนอร์เวย์ ถือเป็นผู้นำในการจัดสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพของเยาวชน และยังเป็นประเทศที่รั้งลำดับท้ายในแง่ผลกระทบที่มีต่อโลก ทั้งในแง่อัตราการปล่อยมลพิษ ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ และระดับการบริโภค

ในไอซ์แลนด์ ลัตเวีย โปรตุเกส และอังกฤษ เด็ก 1 ใน 5 คนต้องสัมผัสกับความชื้นและเชื้อราในบ้าน ขณะที่ในไซปรัส ฮังการี และตุรกี เด็กมากกว่า 1 ใน 4 ได้รับผลกระทบจากปัญหาเดียวกัน ขณะที่มีเด็กจำนวนมากที่ต้องสูดเอามลพิษในอากาศทั้งในบ้านและนอกบ้าน โดยเฉพาะเด็กในเม็กซิโก

เด็กมากกว่า 1 ใน 12 คน ในเบลเยียม อิสราเอล เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก และสวิตเซอร์แลนด์ ต้องเผชิญกับมลพิษจากสารกำจัดศัตรูพืชในระดับสูง และในทั้ง 39 ประเทศที่มีการทำการศึกษารายงานดังกล่าว มีเด็กมากกว่า 20 ล้านคนที่มีระดับตะกั่วในเลือดสูง