ควันหลงเลือกตั้งกทม. “หมอเรวัต-พิธา-จาตุรนต์” มองผลเขย่าเก้าอี้ประยุทธ์ คนกรุงไม่เอารัฐประหารแล้ว!

หมอเรวัต เย้ยประยุทธ์ รับความจริงไม่ได้ หลังคนกรุงเทคะแนนให้ฝ่ายประชาธิปไตย หลังบอกชัยชนะของชัชชาติ ไม่เกี่ยวเรตติ้ง หรือคะแนนนิยมรัฐบาล พิธา ชี้ผลผู้ว่าฯกทม. สะท้อนตู่ทำประเทศถอย จนคนไม่อาจฝืนใจเลือกฝ่ายรัฐประหาร พร้อมขอขอบคุณทุกความไว้วางใจที่ให้กับพรรคก้าวไกล “จาตุรนต์” ชี้ ส่งสัญญาณแรงๆให้รัฐบาลแล้ว แต่คงยากที่เข้าใจและยินยอมที่จะลงจากอำนาจไปโดยดี

 

วันที่ 24 พ.ค. 2565  นพ.เรวัต วิศรุตเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความคิดเห็นกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ที่ประชาชนเทคะแนนให้พรรคฝ่ายค้านถล่มทลายนั้น ไม่เกี่ยวเรตติ้ง หรือคะแนนนิยมของรัฐบาลแต่อย่างใด

นพ.เรวัต ระบุว่า คนกรุง แลนด์สไลด์ 1.38 ล้านให้ชัชชาติเป็นผู้ว่าฯ กทม. แต่วันนี้นายกประยุทธ์ตอบคำถามนักข่าวอย่างมีอารมณ์ว่า “ไม่สะท้อนอะไรทั้งนั้น ไม่เกี่ยวกับเรตติ้งของรัฐบาล”

ต้องเห็นใจคุณประยุทธ์ ที่ไม่สามารถทำใจให้ยอมรับความจริงได้ ทั้ง ๆ ที่เสียงของคนกรุงเทพนั้นดังฟังชัดว่าส่วนใหญ่เขาไม่เลือกผู้สมัครที่อยู่ฝ่ายเดียวกันกับผู้สืบทอดอำนาจ จากการทำรัฐประหาร คะแนนจึงถล่มทลายไปที่ฝ่ายประชาธิปไตย ทั้ง คุณชัชชาติ คุณวิโรจน์ ผนวกกับเสียงที่เลือก ส.ก. เพื่อไทย 20 ก้าวไกล 14 ไทยสร้างไทย 2 รวมเป็น 36 เกินครึ่ง

เสียงของคนกรุงเทพชี้ขาดแบบขาดลอยขนาดนี้ เป็นเสียงสะท้อนที่ต้องเคารพ ถ้าคุณประยุทธ์เคยลงเลือกตั้งจะเข้าใจครับ

ขณะที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวในหัวข้อ 8 ปี รัฐประหารที่ล้มเหลว คนกรุงเทพได้สั่งสอนคณะรัฐประหารผ่านการเลือกตั้ง โดยมีรายละเอียดดังนี้

ผมและพรรคก้าวไกล ขอขอบคุณทุกความไว้วางใจที่ให้กับเรา การเลือกตั้งครั้งนี้มีความหมายกับพรรคก้าวไกลมาก เพราะทำให้เราได้สื่อสาร พูดถึงความฝันและอุดมการณ์แบบเรากับชาวกรุงเทพฯได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐสวัสดิการ ทลายทุนผูกขาด ชนกับอำนาจและกติกาที่ไม่เป็นธรรมต่างๆ รวมถึงการที่สภา กทม. ต้องเปิดเผยโปร่งใส การทำสัญญาต่างๆ ต้องเปิดเผยต่อประชาชน

เราเชื่อว่า สิ่งที่เราทำคือการดันเพดาน เปิดท้องฟ้าแห่งจินตนาการทางความคิดสำหรับกรุงเทพด้วย เชื่อว่าจากนี้ไป สิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงผลักให้กรุงเทพฯ ขับเคลื่อนต่อไป กลายเป็นเมืองที่คนเท่ากันที่เราฝันถึง และเราจะไม่หยุด เราจะสรุปบทเรียนเพื่อปรับปรุงและทำงานหนักต่อไป เพื่อให้พี่น้องประชาชนไว้วางใจพวกเรามากขึ้น ๆ ครับ

ท้ายที่สุดนี้อยากจะขอฝากเอาไว้ถึงความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา ประชาธิปไตยไทยจะถูกทำลายอย่างสิ้นเชิงไปถึง 2 ครั้งจากการรัฐประหาร แต่ประชาธิปไตยก็พร้อมที่จะกลับมาเบ่งบานได้อยู่เสมอถึงแม้พี่น้องประชาชนจะต้องก่อร่างสร้างประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่จากศูนย์ ซึ่งผมและพรรคก้าวไกลก็พร้อมที่จะร่วมสู้ไปกับประชาชนเพื่อไม่ให้ประชาธิปไตยไทยถอยหลังหมุนย้อนกลับไปแบบเข็มนาฬิกา แต่จะต้องสู้ให้ประชาธิปไตยไทยเดินหน้าไปได้เสียทีหนึ่งครับ

ขณะที่ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี แสดงความคิดเห็นต่อผลการเลือกตั้งกทม.ว่า

ผลการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.และสก.มีนัยทางการเมืองที่น่าศึกษามากปรากฏการณ์นี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองในระดับประเทศในโอกาสต่อไปได้ แต่คงไม่มีสูตรสำเร็จหรือกฎเกณฑ์ตายตัวว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น หากแต่จะต้องอาศัยความพยายามอีกมากของฝ่ายประชาธิปไตย

ผลการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นข่าวดีสำหรับผู้รักประชาธิไตยและผู้ที่ต้องการเห็นบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น การที่กรุงเทพฯอยู่กับผู้ว่าฯและสก.ที่มาจากการแต่งตั้งนานเกินไป ทำให้ประชาชนเห็นถึงความล้าหลังและเสียโอกาสอย่างมาก ประกอบกับรัฐบาลที่ต่อเนื่องมาจากการรัฐประหารที่อยู่มา 8 ปีก็มาอยู่ในจุดที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นถึงความล้มเหลวอย่างสุดๆแล้วด้วย การปฏิเสธผู้สมัครที่เชื่อมโยงกับคสช.และการรัฐประหารจึงเกิดขึ้นพร้อมกับการเทคะแนนให้กับผู้สมัครที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตย

สำหรับคุณชัชชาติ นอกจากได้อานิสงส์จากสถานการณ์ดังกล่าวแล้วการเป็นผู้สมัครอิสระ ไม่สังกัดพรรคการเมือง วางตัวแบบไม่อยู่ในขั้วของความขัดแย้ง ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย กลายเป็นจุดแข็ง พร้อมทั้งคุณลักษณะส่วนตัวโดดเด่น ประกาศตัวเร็ว ทุ่มเททำงานมานานและนำเสนอนโยบายที่จับต้องได้จำนวนมาก ก็ยิ่งทำให้ได้รับความนิยมอย่างมาก

ในส่วนของสก.นั้นพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยได้ที่นั่งรวมกันเกือบ 70% ซึ่งก็มาจากทั้งฐานคะแนนของพรรคและตัวบุคคล ในขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลมีคะแนนนิยมตกลงอย่างฮวบฮาบและต่อเนื่อง

การเลือกตั้งกทม. ในอดีต มีบางครั้งที่การเมืองระดับประเทศส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้ลงคะแนนได้มาก สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งคือการเมืองระดับชาติโดยเฉพาะประเด็นประชาธิปไตย- เผด็จการ ซึ่งมีความร้อนแรงเข้มข้นขึ้นอย่างมากใน

โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง

จะว่าเป็นเรื่องบังเอิญหรือประจวบเหมาะก็ได้ที่ช่วงเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งมีการรำลึกและพูดถึงเหตุการณ์ทางการเมืองถึง 3 เหตุการณ์คือ1.เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 35 กับ 2.การปราบฆ่าคนเสื้อแดงในปี 53 และ 3.การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ทำให้เรื่องประชาธิปไตย-เผด็จการ กลายเป็นประเด็นใหญ่

เมื่อมีการยกประเด็น “ไม่เลือกเราเขามาแน่” ขึ้นมาโดยผู้ที่สนับสนุนการรัฐประหารสองครั้งที่ผ่านมา ผลกลับเป็นตรงกันข้ามกับในอดีตคือเกิดการสะวิงกลับไปสนับสนุนผู้สมัครฝ่ายประชาธิปไตยที่ถูกโจมตีกลายเป็นชนะอย่างท่วมท้นเป็นประวัติการณ์

การเลือกตั้งกทม.ครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าคนกรุงเทพฯเห็นความเลวร้ายของการรัฐประหารมากขึ้นและเห็นความล้มเหลวของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์และหันมาสนับสนุนฝ่ายประธิปไตยมากขึ้น นับเป็นก้าวสำคัญที่สามารถนำไปสู่การชนะอย่างท่วมท้นในขอบเขตทั่วประเทศได้ แต่ฝ่ายประชาธิปไตยโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยก็ยังมีการบ้านที่ต้องทำอีกมากเพื่อให้ประชาชนเห็นความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนรัฐบาลและการสนับสนุนให้พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้าแบบแลนด์สไลด์

ชาวกรุงเทพฯส่งสัญญาณแรงๆให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์แล้ว แต่คงยากที่พลเอกประยุทธ์จะเข้าใจและยินยอมที่จะลงจากอำนาจไปโดยดี

ถ้าพลเอกประยุทธ์ยังไม่เชื่อว่าประชาชนไทยไม่ยอมรับการรัฐประหาร และไม่ยอมรับรัฐบาลนี้แล้ว ผมก็คงได้แต่แนะนำว่าขอให้พลเอกประยุทธ์อยู่ในอำนาจต่อไปจนใกล้ครบเทอมแล้วเลือกวันยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 เลยครับ

ลองกันดูว่าประชาชนไทยจะว่าอย่างไร