นายกฯ บินร่วมเวทีสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ ปัดห่วงสถานการณ์ในประเทศ

นายกฯ บินร่วมเวทีสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ ส่ายหัวปัดห่วงสถานการณ์ในประเทศ

วันที่ 11 พฤษภาคม 2565 เมื่อเวลา 07.00 น.  ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 (กองบิน 6) ดอนเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พร้อมด้วย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ และนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน พร้อมคณะ ออกเดินทางไปยังกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา สมัยพิเศษ (ASEAN-U.S. Special Summit) ครั้งที่ 2

ก่อนการเดินทางมีผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเป็นห่วงสถานการณ์ในประเทศหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ตอบคำถาม เพียงหันมาโบกมือให้ผู้สื่อข่าว พร้อมส่ายหัวก่อนเดินเข้าอาคารไปทันที

สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา สมัยพิเศษ (ASEAN-U.S. Special Summit) ครั้งที่ 2 นี้ ประธานาธิบดีสหรัฐมีหนังสือเชิญนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมภายหลังมีการทาบทามเจรจากันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2564 ซึ่งเชื่อมั่นว่าการเดินทางครั้งนี้จะเป็นโอกาสให้ประเทศสมาชิกอาเซียนและสหรัฐได้ร่วมเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐ ผู้นำจะได้พบหารือ (in-person) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นต่างๆ เพื่อกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน-สหรัฐในอนาคต

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะได้พบหารือกับผู้นำสมาชิกอาเซียนปะเทศอื่นๆ และจะได้พบหารือกับผู้นำและผู้แทนระดับสูงของสหรัฐ เพื่อผลักดันความร่วมมือการขับเคลื่อนการฟื้นฟู และการเติบโตอย่างยั่งยืนของภูมิภาค ในยุคหลังโควิด-19 รวมทั้งจักได้ส่งเสริมการมีบทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐในภูมิภาคนี้ โดยวันที่ 12 พ.ค. นายกรัฐมนตรีจะมีกำหนดการสำคัญ ได้แก่ ผู้นำรัฐสภาสหรัฐเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันแก่ผู้นำอาเซียน ผู้นำอาเซียนพบหารือกับผู้แทนนักธุรกิจสหรัฐ ณ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ โดยประธานาธิบดีสหรัฐจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำแก่ผู้นำอาเซียน ณ ทำเนียบขาว

ทั้งนี้ การประชุมอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษนี้ เป็นที่จับตาโดยเฉพาะท่าทีของชาติสมาชิกอาเซียน ต่อประเด็นที่อาเซียนหลีกเลี่ยงและเกิดเสียงแตกกัน โดยเฉพาะวิกฤตสงครามกลางเมืองในพม่า สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ รวมถึงยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่จะมาคานอำนาจอิทธิพลจีนที่แผ่ปกคลุมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นเส้นทางสำคัญของแผนยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนอีกด้วย ซึ่งชาติอาเซียนบางประเทศมีจุดยืนเอนเอียงจีนอย่างมากในช่วงหลายปีมานี้