900ผู้พิพากษาศาลต้นเข้าชื่อเพิ่ม เสนอแก้สัดส่วน’ก.ต.’สูตร 4:4:4 วันสุดท้ายสรุปยอดเกือบ 2,000

เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่สำนักงานกฎหมายและวิชาการ สำนักงานศาลยุติธรรม คณะผู้แทนของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ได้นำหนังสือและรายชื่อผู้พิพากษาศาลชั้นต้นกว่าอีก 800-900 รายชื่อ มายื่นต่อผู้แทนเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเพิ่มเติม หลังจากที่เคยยื่นไว้เกือบ 1,000 รายชื่อ เมื่อวันที่ 4 กันยายนที่่ผ่านมา เพื่อแสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่. …) พ.ศ. … (ปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ ก.ต.) เนื่องจากสำนักงานศาลยุติธรรมได้ออกประกาศสำนักงานศาลยุติธรรม เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยเปิดให้แสดงความคิดเห็นได้ถึงวันที่ 19 กันยายน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในประเด็นตามมาตรา 36 (2) แห่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวที่ได้บัญญัติถึงคุณสมบัติ จำนวน และวิธีการเลือกตั้ง ก.ต. ไว้ว่า (2) กรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสิบสองคน ซึ่งข้าราชการตุลาการ ในแต่ละชั้นศาล เว้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา เป็นผู้เลือกจากข้าราชการตุลาการในชั้นศาล ของตนเอง ดังนี้ (ก) ศาลฎีกาให้เลือกจากข้าราชการตุลาการที่ดำรงตำแหน่งในศาลฎีกาในตำแหน่งที่ ไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวนหกคน (ข) ศาลชั้นอุทธรณ์ให้เลือกจากข้าราชการตุลาการที่ดำรงตำแหน่งในศาลชั้นอุทธรณ์ ในตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์หรือผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาคจำนวนสี่คน (ค) ศาลชั้นต้นให้เลือกจากข้าราชการตุลาการที่ดำรงตำแหน่งในศาลชั้นต้นในตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าศาล จำนวนสองคน

โดยคณะผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ร่วมกันใช้สิทธิตามรัธรรมนูญ 2560 มาตรา 77 วรรคสอง แสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ดังนี้ 1.ประเด็นคุณสมบัติของ ก.ต. ในแต่ละชั้นศาลนั้นเดิมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 221 (2) บัญญัติเกี่ยวกับ ก.ต. ไว้ว่า “กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละชั้นศาล ได้แก่ ศาลฎีกา 6 คน ศาลอุทธรณ์ 4 คน และศาลชั้นต้น 2 คน ซึ่งเป็นข้าราชการตุลาการในแต่ละชั้นศาล และได้รับการเลือกจากข้าราชการตุลาการในแต่ละชั้นศาล” ดังนี้ เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ประสงค์ให้ ก.ต. ซึ่งเป็นข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมในแต่ละชั้นศาล มาจากข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมในชั้นศาลนั้นๆ อย่างแท้จริง ไม่ใช่มาจากข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมที่ดำรงตำแหน่งในชั้นศาลนั้น เช่น ผู้พิพากษาศาลฎีกามาดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หากประสงค์จะรับเลือกเป็น ก.ต. ก็ชอบที่จะลงรับเลือกตั้งเป็น ก.ต. ในชั้นศาลฎีกา ไม่ใช่ศาลชั้นต้น

เนื่องจากข้าราชการตุลาการ ศาลยุติธรรมในชั้นศาลใดย่อมจะมีความใกล้ชิดและรับทราบปัญหาในแต่ละชั้นศาลของตนเองมากกว่าในชั้นศาลอื่น เมื่อมีการประชุม ก.ต. ย่อมจะนำข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน มาให้ที่ประชุมพิจารณาได้อย่างเป็นธรรมยิ่งกว่า แต่ปรากฏว่านับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน กลับมิได้เป็นเช่นนั้น โดยมีการเลือกตั้ง ก.ต. ข้ามชั้นศาล ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

ส่วนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 196 ยังคงบัญญัติให้คงหลักการเดิมเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยให้มี ก.ต. ในแต่ละชั้นศาล แต่ตามร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่. …) พ.ศ. … มาตรา 36 (2) กลับบัญญัติถึงคุณสมบัติของ ก.ต. ว่าให้เลือกจากข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมที่ดำรงตำแหน่งในศาลชั้น…โดยมิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน ทำให้ข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมสามารถแสดงความประสงค์เข้ารับการเลือกตั้งข้ามชั้นศาลของตนเองได้เช่นเดิม และย่อมมีผลให้ข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมที่ได้รับการเลือกตั้งในแต่ละชั้นศาลไม่ใช่ตัวแทนของข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมในชั้นศาลนั้นอย่างแท้จริง ด้วยเหตุผลตามที่กล่าวมา ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ฉบับดังกล่าวจึงขัดหรือแย้งกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ อันเป็นการไม่ชอบ

2.ประเด็นจำนวนหรือสัดส่วนของ ก.ต. ปัจจุบันอัตรากำลังผู้พิพากษาศาลฎีกามีประมาณ 150 คน ศาลชั้นอุทธรณ์มีประมาณ 750 คน ศาลชั้นต้นมีประมาณ 3,400 คน (ไม่รวมตำแหน่งอธิบดีฯ รองอธิบดีฯ เนื่องจากไม่ใช่ศาลชั้นต้นแท้จริง และไม่รวมผู้ช่วยผู้พิพากษา เนื่องจากไม่มีสิทธิเลือก ก.ต. หรือเทียบสัดส่วนอัตรากำลัง 150:750:3,400 แต่การกำหนดสัดส่วน ก.ต. ของศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ และศาลชั้นต้น ตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว กลับมีสัดส่วน 6:4:2 ตามลำดับ ทั้งนี้ การกำหนดสัดส่วน ก.ต. ในแต่ละชั้นศาลให้เหมาะสม และเป็นธรรมควรเป็น 2:4:6 อย่างไรก็ตาม เพื่อมิให้เป็นการลักลั่นกับจำนวนหรือสัดส่วนของคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม หรือ ก.บ.ศ. ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารของศาลยุติธรรมอีกชุดหนึ่งที่กำหนดสัดส่วนหรือจำนวนในแต่ละชั้นศาลไว้ในปัจจุบันเป็น 4:4:4 ดังนี้ ก.ต. สมควรจะมีสัดส่วน 4:4:4 เช่นกัน โดย ก.ต. ในศาลชั้นต้นสมควรจะมีอย่างน้อย 4 คน จึงจะเป็นธรรมต่อข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมในศาลชั้นต้น

3.ประเด็นการใช้สิทธิเลือกตั้ง ก.ต. ตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 36 (2) บัญญัติให้ข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมในแต่ละชั้นศาลเป็นผู้เลือก ก.ต. ในชั้นศาลของตนเองนั้น เห็นว่าการที่ ก.ต. แต่ละชั้นศาล มีอำนาจให้คุณและให้โทษแก่ข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมในทุกชั้นศาล รวมทั้งศาลชั้นต้น แต่ข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมในศาลชั้นต้นกลับไม่มีสิทธิเลือก ก.ต. ในศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาได้ ย่อมยังผลทำให้ ก.ต. ในศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ไม่ให้ความสำคัญต่อข้อมูลและความคิดเห็นของข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมในศาลชั้นต้นซึ่งเป็นบุคลากรส่วนใหญ่ของศาลยุติธรรม ดังนั้น จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะกำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้ ก.ต. ในแต่ละชั้นศาล มาจากการรับเลือกของข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมในทุกชั้นศาล

กรณีจึงเห็นสมควรเสนอแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของ ก.ต. ในแต่ละ ชั้นศาล ตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยตัดข้อความตาม มาตรา 36(2)(ก)(ข)(ค) ออกทั้งหมดและให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน “(2) กรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสิบสองคน ซึ่งข้าราชการตุลาการ ในทุกชั้นศาล เว้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาเป็นผู้เลือกจากข้าราชการตุลาการในแต่ละชั้นศาล ชั้นศาลละ 4 คน สำหรับศาลชั้นต้น ให้เลือกจากข้าราชการตุลาการในตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าศาล”

นอกจากนี้ คณะผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ยังเรียกร้องขอให้มีการจัดเวทีแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นทางการ ด้วยการจัดให้มีการประชุมผู้พิพากษาทั้งประเทศ จะได้รับฟังความคิดเห็นรอบด้านจากผู้พิพากษาทุกระดับชั้นเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียของ ก.ต. ในรูปแบบต่างๆ เพื่อความรอบคอบอันจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารองค์กรศาลยุติธรรมอย่างแท้จริงต่อไป