อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ ซัดรัฐบาลรัวนโยบายประชานิยม จนงบขาดดุล-หนี้สาธารณะพุ่ง

อดีตผู้ว่า ธปท. รุมอัดรัฐ งบขาดดุล-หนี้สาธารณะพุ่ง เหตุทำนโยบายประชานิยมต่อเนื่อง สร้างปัญหาฐานะการคลังระยะยาว ลั่นถ้าไม่คุมเข้ม เศรษฐกิจตกเหวแน่

 

วันที่ 4 เม.ย. 2565 นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนา “เหลียวหลัง แลหน้า กับผู้ว่าการ ธปท.” ในโอกาสครบรอบ 80 ปี ธปท.ว่า ขณะนี้มีความเป็นห่วงอย่างมากในเรื่องการทำนโยบายการคลังของประเทศ หากมองอย่างเป็นกลาง ภาครัฐตอนนี้อยู่ในฐานะที่น่าเป็นห่วง เพราะมีการทำงบประมาณแบบขาดดุลติดต่อกันมานานเหลือเกิน ขณะเดียวกันหนี้สาธารณะของประเทศก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าถึงจุดหนึ่งต้องรีบแก้ไข

ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ทำนโยบายต่างๆ ต่อเนื่องมาจนทำให้ประชาชนรู้สึกว่านโยบายประชานิยมเป็นเรื่องธรรมดา มีอะไรก็ใช้จ่ายไป ส่งผลให้ฐานะการคลังซ่อนสิ่งที่เป็นปัญหาในระยะยาวไว้เยอะมาก และหากเมื่อไรนโยบายการคลัง ไม่สามารถดูแลตัวเองให้ดีกว่านี้ ภาระในการดูแลเศรษฐกิจก็จะตกมาอยู่ที่การทำนโยบายการเงิน จึงเห็นว่าถ้าเมื่อใด ธปท.จำเป็นต้องทำนโยบายเข้มงวดที่คนอื่นไม่ชอบ ก็ต้องใจแข็งที่จะทำ เพราะถ้าไม่มีเราเป็นด่านสุดท้ายเศรษฐกิจก็ไม่รู้จะตกเหวไปอยู่ที่ไหน

“ผู้ว่า ธปท. คนปัจจุบัน บอกผมหลายเรื่อง ว่าปัญหาเศรษฐกิจเกิดขึ้น มีต้นเหตุจากภาคเศรษฐกิจจริง และสุดท้ายก็มาโผล่ปลายเหตุว่าการเงินไม่มีเสถียรภาพ ทำให้เราต้องรับภาระอยู่คนเดียว ก็ต้องออกแรง แม้ว่าจะเสนออะไร ซึ่งส่วนมากเขาไม่ค่อยฟัง แต่ต้องพยายามทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด” นายชัยวัฒน์ กล่าว

ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ ผู้ว่า ธปท. เปิดเผยว่า การทำนโยบายการคลังขณะนี้ เหมือนไม่มีนโยบาย เป็นการใช้เงินไปเรื่อย ๆ ไม่เคยคิดว่าจะขาดดุลเท่าไร และขาดดุลงบประมาณควรมีน้ำหนักแค่ไหนถึงจะเพียงพอ ฉะนั้นประเทศชาติตอนนี้ ต้องเน้นเรื่องการมีนโยบายการคลังที่จริงจัง ขณะที่การทำนโยบายการเงิน ต้องเน้น กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อต่อไป แต่ต้องสนับสนุนเศรษฐกิจให้เติบโตพอสมควร เพื่อให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีได้

“คนดำเนินนโยบายการคลัง ไม่ทำในสิ่งที่ควรทำ เรื่องนี้อยู่ที่ผู้นำ หรือรัฐบาล มากกว่าว่าจะคิดหรือไม่คิด อยากเห็น ธปท.เน้นเรื่องอิสระ ทำให้ที่ตรงไปตรงมา ไม่จำเป็นต้องคำนึงว่าจะสร้างความพอใจให้ผู้มีอำนาจ นักการเมือง แต่ไม่ใช่ไม่ฟังใคร”

“ธปท.ต้องฟังความหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจ และประสานงานกับ กระทรวงการคลัง และ รมว.คลัง ไม่ทำตัวเหนือหรือไม่ตาม รมว.คลัง ขณะเดียวกัน ต้องดูแลธนาคารพาณิชย์เหมือนลูก ไม่ใช่ศัตรู เพราะธนาคารพาณิชย์มีหน้าที่สำคัญในการช่วยดูแลเรื่องเศรษฐกิจ” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

ขณะที่ นายประสาร ไตรรัตน์ อดีตผู้ว่า ธปท. กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ตอนนี้ไม่ใช่เรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจ เป็นเรื่องการบริหารจัดการ หรือธรรมาภิบาลของประเทศ เป็นเรื่องระบบยุติธรรม ซึ่งมีคนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าธรรมาภิบาลไม่ดี จึงเกิดการขัดขวาง ไม่เห็นด้วย (Discourage) เช่น กรณีเมืองไทย มีคนบอกว่าขาดคนที่เก่งความรู้เทคโนโลยี ซึ่งเด็กรุ่นใหม่เก่งมาก แต่เลือกไปทำงานที่ต่างประเทศ มันเป็นเรื่องที่กว้างกว่าเศรษฐกิจจริง ไม่ใช่เรื่องนโยบายการเงินการคลัง แต่ต้องจำเป็นต้องมีการปรับวิธีการคิด (Rethink) หรือปรับรูปแบบ (Reform) การบริหารราชการใหม่