โควิด-19 : ศบค.เห็นชอบ แผนปรับเป็นโรคประจำถิ่น จับตาสายพันธุ์ลูกผสม BA.1+BA.2

ศบค.เห็นชอบ แผนปรับ ‘โควิด’ สู่โรคประจำถิ่น 1 ก.ค. วาง 3 เป้าหมายตายต่ำกว่า 0.1% เข็ม 3 มากกว่า 60% ย้ำคนยังไม่ฉีดขอให้เปลี่ยนใจทันที จับตา โอมิครอนลูกผสม BA.1+BA.2 น่าสนใจกว่าเดลตาครอน อนามัยโลกชี้อาจมีเวฟ 6 ยกเลิกตรวจ RT-PCR ก่อนเข้าประเทศ เริ่ม 1 เม.ย.

 

วันที่ 18 มี.ค.65 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) แถลงภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ว่า การประชุมเรื่องที่ 4.การนำแผนบริหารจัดการสถานการณ์โควิดเข้าสู่โรคประจำถิ่น สธ.ได้นำเสนอแผนอย่างเป็นทางการต่อ ศบค.ชุดใหญ่ เพื่อให้เห็นภาพไปด้วยกัน มองแล้วสถานการณ์ตอนนี้อยู่ในระยะแรกคือระยะที่ต้องต่อสู้ (Combatting) โดยช่วงต้น เม.ย.หากควบคุมป้องกันได้อย่างดีเข้าระยะที่ 2 คือ ระยะทรงตัว และลดลงตามคาดการณ์คือปลาย พ.ค.-มิ.ย. และวันที่ 1 ก.ค.น่าจะเห็นตัวเลขที่กดลดลงไปได้ ทั้งประเทศต้องช่วยกันกดกราฟลงให้ได้ ซึ่ง ผอ.ศบค.ก็เห็นชอบด้วย คือ สิ่งที่ต้องทำแผนด้วยกัน ส่วนสถานการณ์จริงวันที่ 1 ก.ค.จะเป็นอย่างไร ก็ต้องดูกันไป แต่หากมีการปรับเปลี่ยนจากนี้ก็ต้องเปลี่ยนแผนด้วย คนกำหนดตัวชี้วัดได้ขึ้นกับประชาชนทั้งประเทศ

ทั้งนี้ จะมีมาตรการขึ้นมา 4 ด้านรองรับ คือ ด้านสาธารณสุข ด้านการแพทย์ ด้านกฎหมายและสังคม และด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ โดยมีเป้าหมาย 3 ด้านที่จะเข้าสู่โรคประจำถิ่น คือ 1.อัตราการเสียชีวิตไม่เกิน 0.1% 2.ความครอบคลุมของเข็มกระตุ้นมากกว่า 60% เพราะเข็มแรกเข็มสองเกินแล้ว แต่เข็มกระตุ้นยังต่ำอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูง อย่างผู้สูงอายุ อยู่ที่ 20-30% เท่านั้น

บางจังหวัดยังต่ำเป็นหลักหน่วย ต้องขอความร่วมมือกัน และ 3.สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง หลายคนพอเห็นประกาศว่าจะเป็นโรคประจำถิ่น ก็ผ่อนคลายทันทีทันใด เราจะไปไม่ถึงจุดหมายในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ย้ำว่ายังไม่เกิดเดี๋ยวนี้ ตัวเลขยังสูงอยู่ การสื่อสารประชาสัมพันธ์ยังต้องเข้มอยู่ และเข้มในการป้องกันส่วนบุคคล จะช่วยกดตัวเลขลงได้

5.เรื่องวัคซีนโควิด 19 กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป 12.7 ล้านกว่าคน ได้เข็มแรกและเข็มสองอย่างละประมาณ 10 ล้านคน แต่เข็มสามอยู่ที่ 4.1 ล้านคน เราเข้าเป้าในเข็มแรกเข็มสอง พอเข็มสามอยู่ที่ 32.5% เท่านั้น ฉะนั้น จึงมีผู้สูงอายุหลักหลายล้านรายยังขาดเข็มกระตุ้นอยู่ คือ กลุ่มเสี่ยงทำให้ป่วยหนักและเสียชีวิตได้ คณะกรรมการจึงห่วงใย ส่วนกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี ยังได้เข็มสองเพียง 0.5% อยู่ก็ต้องช่วยกัน หากป่วยต้องนอน รพ.เพราะไม่สมัครใจฉีดวัคซีน ก็จะไปใช้ทรัพยากรเตียง เครื่องช่วยหายใจ มีเท่าไรก็จะไม่พอ การลดป่วยลดตายต้องมารับวัคซีน

“ผู้ที่ยังไม่สมัครใจรับวัคซีนขอให้เปลี่ยนใจเดี๋ยวนี้เลย หลายประเทศที่รับวัคซีนสูงๆ เขาเปิดประเทศได้ ก็เพราะรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ทำให้สิ่งที่เราผ่อนคลายขึ้นกับปริมาณการฉีดวัคซีนเช่นกัน หากเข้าถึงได้เร็วก็ปรับเปลี่ยนได้เร็ว ซึ่งจากข้อมูลพบว่า สูงอายุยังไม่ได้รับวัคซีน 2.17 ล้านคน ซึ่งกลุ่มสูงอายุที่เสียชีวิตสูงเป็นกลุ่มไม่ได้รับวัคซีน ถ้าลูกหลานจะกลับสงกรานต์ หากพ่อแม่ปู่ย่าตายายยังไม่รับวัคซีน ต้องนำไปพูดคุยทำความเข้าใจ แต่หากรับวัคซีนเข็มกระตุ้นพบว่าช่วยลดเสียชีวิตลง 41 เท่า ฉีดวันนี้ก็อาจจะภูมิขึ้นทันในช่วงสงกรานต์ ซึ่งเรามีวัคซีนเหลือเพียงพอ เราตั้งเป้าเข็มกระตุ้นให้ได้ 70% ก่อนสงกรานต์ มีวัคซีนที่ต้องเพิ่มไว้ 3 ล้านโดสเราเตรียมไว้แล้ว” นพ.ทวีศิลป์กล่าวและว่า ส่วนแผนการรับบริจาคและส่งคืนวัคซีนไปต่างประเทศที่ประชุมก็รับทราบ

ยกเลิกตรวจ RT-PCR ก่อนเข้าประเทศ เริ่ม 1 เม.ย.

นพ.ทวีศิลป์ ยังเปิดเผยภายหลังการประชุมศบค.ชุดใหญ่ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.ศบค.เป็นประธานว่า ที่ประชุมรับทราบการปรับมาตรการป้องกันโรคสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร หลายประเทศ เช่น เดนมาร์ก ฟินแลนด์ สหราชอาณาจักร เป็นต้น โดยประเทศเหล่านี้ลดการตรวจก่อนการเดินทาง มาถึงประเทศก็ไม่ตรวจหาเชื้อ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์

ในส่วนของประเทศไทย มีการปรับดังนี้ ไม่ต้องตรวจก่อนเดินทาง แต่เมื่อมาถึงให้ตรวจ RT-PCR พักโรงแรมที่มีโรงพยาบาลคู่ปฏิบัติการ (SHA Extra Plus) ตรวจ ATK วันที่ 5 ประกัน 20,000 USC เริ่ม 1 เมษายน ทั้งนี้ที่ประชุมหารือเรื่องการลดเงินประกัน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วย โดยจะขอดูอีกสักพักเพื่อพิจารณาปรับอีกครั้ง

“ส่วนแผนการเปิดรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร ประเภท Test & Go , Sandbox และ Quarantine ในวันที่ 1 เมษายน ด่านทางบก เปิด จ.สตูล ท่าเรือ เปิดท่าเรือ ใน จ.สุราษฏร์ธานี ประเภทเรือ เปิดให้เรือของหน่วยงานราชการในประเทศไทย และลูกเรือสัญชาติไทย บนเรือสินค้า ส่วนสนามบิน จะเปิด สนามบินหาดใหญ่ จังหวัดในระยะ 5 ชั่วโมง ตามหลักเกณฑ์ (พื้นที่สีฟ้า และมีโรงแรมที่พัก SHA++ ได้แก่ กระบี่ สงขลา สุราษฏร์ธานี)

อย่างไรก็ตามหากสถานณ์ดีขึ้น การเปิดด่านทางบกให้ประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะใช้เดือนพฤษภาคมเป็นหมุดหมายให้ทุกจังหวัดที่มีความพร้อมได้เตรียมการประเมินและอาจจะทำการเปิดต่อไป สำหรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร ประเภท Test & Go , Sandbox และ AQ วันที่ 1-16 มีนาคม พบว่ามีนักท่องเที่ยวเข้าทางอากาศ กว่า 200,000 รายแล้ว”

 

‘อนุทิน’ โยนถาม ‘กรมควบคุมโรค’ ตอบปมผ่อนคลายสถานบันเทิง

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่การประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ที่ไม่ได้มีการหารือ เรื่องการผ่อนคลายมาตราการสถานบันเทิง

นายอนุทิน กล่าวว่า ตนไม่ได้เข้าร่วมประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เนื่องจากติดภารกิจงานวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ ประจำปี 2565 ของกระทรวงสาธารณสุข ขอให้ไปถามรายละเอียดจาก นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ซึ่งตนยังไม่ได้รับรายงานเรื่องนี้แต่อย่างใด

ส่วนกรณี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ยื่นศาลปกครองกลางฟ้อง นายอนุทิน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมการแพทย์ และ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ฐานใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ ในการผลักดันการจัดซื้อจัดหายาฟาวิพิราเวียร์เพิ่มเติมแบบไม่หยุดหย่อน ทั้งที่ยาดังกล่าวประเทศผู้ผลิตยังไม่อนุมัติให้ใช้ เพราะอาจไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

นายอนุทิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในกระทรวงไม่ได้พูดคุยอะไรกันมากถึงเรื่องดังกล่าว เพราะทุกคนทำงานกันอย่างทุ่มเท มีเจตนาดี และต้องการให้ประชาชนทุกคนหายป่วยจากทุกโรค

 

จับตาสายพันธุ์ลูกผสม

ศ.เกียรติคุณ วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงการพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ลูกผสม (Recombination) ระหว่างเดลต้า กับ โอมิครอน เป็น “เดลตาครอน” และลูกผสมโอมิครอนด้วยกันระหว่าง สายพันธุ์ย่อย BA.1 กับ BA.2 ว่า สำหรับเดลตาครอนนั้น ขณะนี้ส่วนใหญ่พบในฝรั่งเศส เนเธอแลนด์ อังกฤษมีบ้าง เท่าที่ดูข้อมูล ยังไม่พบการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว คนที่ติดเชื้อนี้ ไม่มีอาการรุนแรง ไม่ต่างจากเชื้อโอมิครอนทั่วไป

ข้อมูลในฐานข้อมูลกลางโควิด-19 โลก หรือ จีเสด (GISAID) พบสายพันธุ์เดลตาครอนมากบ้าง น้อยบ้าง ในแต่ละพื้นที่ จำนวนไม่ได้เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ แสดงว่า เดลตาครอนเปรียบเสมือนเด็กที่เกิดมาเป็นเด็กไม่แข็งแรงสมบูรณ์หรือพิการ เพราะฉะนั้น ก็จะแพร่ระบาดสืบทอดลูกหลานได้ไม่ดี ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกไม่ได้จัดให้อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of concern-VOC) เพียงแต่องค์การอนามัยโลก ออกมาเตือนล่วงหน้าว่า มีสายพันธุ์ลูกผสมนี้เกิดขึ้น เพื่อให้ระมัดระวังเท่านั้น

“สำหรับประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นเชื้อโอมิครอนที่ครองพื้นที่ส่วนใหญ่ อาจจะเกิดเชื้อเดลตาครอนได้ยาก หรือหากจะมีเกิดขึ้น น่าจะเป็นการนำเข้ามาจากประเทศอื่นมากกว่า แต่ไม่ว่าจะเกิดในประเทศใดก็ตาม หากมีการระบาดก็สามารถแพร่กระจายได้ทั่วโลก แม้แต่สาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีการล็อกดาวน์ เชื้อก็ยังหลุดเข้าไปได้ผ่านสิ่งของวัสดุภัณฑ์ เพราะเชื้อไวรัสสามารถอยู่บนพื้นผิวได้ 7-8 วัน เป็นธรรมชาติ แม้จะควบคุมอย่างไรก็สามารถหลุดเข้าไปได้ เพราะไวรัสเป็นนักฆ่าเพื่อความสมดุล” ศ.เกียรติคุณ วสันต์ กล่าว

ศ.เกียรติคุณ วสันต์ กล่าวอีกว่า ส่วนลูกผสมโอมิครอนด้วยกันระหว่าง BA.1+BA.2 เป็นตัวที่น่าจับตามากกว่า ข้อมูลเบื้องต้นที่มีการคำนวณผ่านระบบคอมพิวเตอร์คร่าวๆ จากรหัสพันธุกรรมที่ถอดได้ กับระยะเวลาที่พบเชื้อ พบอัตราการติดเชื้อที่แพร่ได้มากขึ้นจาก BA.2 ในสัดส่วนร้อยละ 126 แต่การคาดการณ์ดังกล่าวจะเป็นจริงหรือไม่ ในธรรมชาติหรือหน้างานต้องใช้เวลาศึกษาอีกสักระยะ อย่างไรก็ตาม นอกจากพบในประเทศอิสราเอลตามที่ปรากฏข่าวในจีเสดแล้ว ยังมีรายงานการพบที่อังกฤษและไอร์แลนด์ 267 ราย

“เท่าที่ดูข้อมูลรหัสพันธุกรรม ยังไม่มีการนำส่วนสำคัญที่สร้างโปรตีนหนามสไปก์มาแลกเปลี่ยนกันเป็นลูกผสม ความรุนแรงก็อาจจะยังไม่ต่างจากสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน ยังต้องจับตามองว่า ท้ายที่สุดจะกลายเป็นคลื่นลูกใหม่ที่ส่งผลให้เกิดการระบาดระลอกที่ 6 หรือไม่ โดยพิจารณา หากผสมกันแล้วมีอัตราการติดเชื้อได้ง่ายขึ้นเหนือกว่าตัวอื่นอย่างมากจนชนะ ขณะเดียวกัน ก็ยังไม่สามารถระบุเป็นฆาตกรหรือคนดี จนกว่าจะเห็นพฤติกรรมความรุนแรง” ศ.เกียรติคุณ วสันต์ กล่าว

ทั้งนี้ ศ.เกียรติคุณ วสันต์ กล่าวว่า ล่าสุด องค์การอนามัยโลกได้ออกมาเตือนถึงการมองเชื้อโอมิครอนจะเป็นสายพันธุ์สุดท้าย ทำให้ประชาชนการ์ดตก หรือมองว่ากำลังจะเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งองค์การอนามัยโลก มองว่า น่าจะมีสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ได้มากกว่าเชื้อโอมิครอนที่อาจจะเป็นการระบาดในระลอกที่ 6 ซึ่งเชื้อโอมิครอนกลายพันธุ์ไปจากเชื้ออู่ฮั่น ประมาณ 100 ตำแหน่ง

“และตัวที่ 6 จะต้องกลายพันธุ์มากกว่าเชื้อโอมิครอนหลายตำแหน่ง แต่จะร้ายกาจรุนแรงหรือไม่ยังไม่รู้ ทั้งนี้ ลูกผสม BA.1+BA.2 เป็นหนึ่งตัวที่ต้องจับตา อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย ศูนย์จีโนมฯ ยังไม่พบลูกผสม BA.1+BA.2 แต่หากพบก็ไม่น่าประหลาด เพราะไวรัสสามารแพร่มาได้ทุกทางหากการ์ดตก จึงต้องพยายามฉีดวัคซีนป้องกันให้ครอบคลุมทั่วโลก” ศ.เกียรติคุณ วสันต์ กล่าวย้ำ