“เพื่อไทย” จี้รัฐเร่งต้นเหตุวิกฤตเศรษฐกิจให้ทัน แนะลองศึกษาอดีตรบ.แก้วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ 2008

“เพื่อไทยจี้” รัฐบาลเร่งรุกแก้วิกฤติเศรษฐกิจที่ต้นเหตุให้ทันสถานการณ์ แนะหัดดูรัฐบาลในอดีต (พลังประชาชน) ที่เคยทำสำเร็จมาแล้วในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯปี 2008

 

วันที่ 17 มีนาคม 2565 ดร.อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึง ขณะนี้คนไทยกำลังต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจที่ซ้ำซ้อน ต่อเนื่องและยาวนาน จากความผิดพลาด บกพร่องและไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้คนไทยต้องตกอยู่ในภาวะวิกฤติโควิด-19 แบบโงหัวไม่ขึ้น เข้าปีที่ 3 ต่อเนื่องกัน วันนี้เมื่อเกิดความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันและสินค้าวัตถุดิบต่างๆ ที่ราคาพุ่งสูงขึ้น เศรษฐกิจไทยที่ย่ำแย่อยู่แล้วจากโรคระบาด ยิ่งวิกฤติหนักกว่าเดิมซ้ำเติมความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน

ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคพาเหรดกันขยับราคาขึ้นตามอย่างรวดเร็ว

ดร.อรุณี กล่าวต่ออีกว่า คนไทยต้องเผชิญวิกฤติน้ำมันแพงนานกว่าเดือน รัฐบาลประยุทธ์ กลับนิ่งเฉยต่อปัญหาความล่าช้าของรัฐบาลนี้ กลายเป็นสิ่งซ้ำเติมความเดือดร้อนประชาชน รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่บริหารประเทศมาเสมือนไร้ความรู้สึก ไม่สนใจไม่ใส่ใจความเดือดร้อนของคนไทย ซ้ำร้ายยังไร้มาตรการที่ชัดเจน 7 ปีที่บริหารประเทศ ทำงานไล่ตามปัญหา แก้ปัญหาตามเสียงก้นด่าของประชาชน

ยกตัวอย่าง ในช่วงปี 2551 ได้เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (แฮมเบอร์เกอร์ไครซิส) ในสหรัฐอเมริกา สร้างผลกระทบไปทั้งโลก ราคาน้ำมันในตลาดโลกยกระดับสูงขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อและสร้างผลกระทบกับค่าครองชีพพี่น้องประชาชน รัฐบาลในขณะนั้น นำโดย ‘พรรคพลังประชาชน’ ได้เร่งรัดหาทางแก้ไขปัญหาในทันทีและรวดเร็ว โดยได้ประกาศ ‘6 มาตรการ 6 เดือน “ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทยทุกคน’ ที่ครอบคลุมและชัดเจนในการแก้ไขสถานการณ์บรรเทาปัญหาค่าครองชีพพี่น้องประชาชน มีการแถลงอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2551 ประกอบด้วย

มาตรการที่ 1 ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันทุกประเภท โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลเหลืออัตราการจัดเก็บเพียง 0.005 สตางค์

มาตรการที่ 2 ชะลอการปรับราคาก๊าซหุ้งต้ม (แอลพีจี) ในภาคครัวเรือน เพื่อลดแรงกดดันค่าใช้จ่ายในภาคครัวเรือน

มาตรการที่ 3 ลดค่าใช้จ่ายน้ำประปาของครัวเรือน ‘ฟรีค่าน้ำประปา’ สำหรับผู้ใช้น้ำในประเภทที่อยู่อาศัยที่มีปริมาณการใช้น้ำตั้งแต่ 0-50 ลูกบาศก์เมตร (คิว) ต่อเดือน ครอบคลุมผู้ใช้น้ำทั้งประเทศ

มาตรการที่ 4 ลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าของครัวเรือน ‘ไฟฟ้าฟรี’ สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 80 หน่วยต่อเดือน และจ่ายค่าไฟฟ้า 50% สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย

มาตรการที่ 5 ลดค่าใช้จ่ายเดินทางรถโดยสารประจำทาง ‘รถเมล์ฟรี’ ในรถโดยสารประจำทาง ขสมก. ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

และ มาตรการที่ 6 ลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยรถไฟให้ประชาชน ‘รถไฟฟรี’ ให้ประชาชนใช้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทุกขบวนเป็นเวลา 6 เดือน

ทั้ง 6 มาตรการ คือตัวอย่างที่สะท้อน การจัดการกับปัญหาและรีบเร่งดำเนินการ มุ่งช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง ลดภาระค่าใช้จ่าย บรรเทาปัญหาค่าครองชีพในสินค้าและบริการพื้นฐานสำหรับพี่น้องประชาชน ซึ่งมาตรการเหล่านี้เป็นหลักการพื้นฐานในการแก้ไขปัญหาที่หลายประเทศก็ทำเมื่อประเทศเผชิญกับสภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ

“รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ บริหารประเทศโดยให้ประชาชนต่อสู้ดิ้นรนกันเองตามยถากรรม ถ้าคิดเองไม่ได้อยากขอแนะนำรัฐบาล ลองศึกษา 6 มาตรการแก้ปัญหาในอดีตที่หยิบมานำเสนอ พรรคเพื่อไทยไม่ขอคิดค่าลิขสิทธิ์แต่อย่างไรถ้าเกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน ” ดร.อรุณี กล่าว