ศึกรัสเซีย-ยูเครน : นายกฯห่วง ราคาปุ๋ย-อาหารสัตว์พุ่ง “สุพัฒนพงษ์” เรียกคลัง-พลังงานถกรับมือน้ำมันแพง

โฆษก รบ.เผย นายกฯห่วงวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ ทำปุ๋ยและอาหารสัตว์ราคาแพง กำชับพาณิชย์-เกษตรฯ ติดตามระดับราคาซื้อ-ขายในประเทศ “สุพัฒนพงษ์” เรียกคลัง-พลังงาน ถกด่วน ปมน้ำมันแพง เตรียมพร้อมแถลง ที่พลังงานวันนี้

 

วันที่ 11 มีนาคม 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ได้ส่งผลต่อระบบการค้าโลกแล้ว โดยราคาน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์และสินแร่ที่มีการซื้อขายระหว่างประเทศพุ่งสูงขึ้นในระยะเวลาอันรวดเร็ว และหากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อ จะยิ่งทำให้การค้าโลกมีข้อจำกัดมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะปุ๋ยและวัตถุดิบอาหารสัตว์ อาทิ ข้าวสาลี และข้าวโพด จะมีราคาเพิ่มขึ้นอีกเพราะรัสเซียและยูเครนเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ ขณะที่ไทยยังต้องนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์และปุ๋ยจากต่างประเทศเป็นหลัก ประกอบกับราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการขนส่งสินค้าปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปุ๋ยในประเทศมีราคาแพงตั้งแต่ช่วงปลายปี 64 ถึงปี 65

นายธนกรกล่าวว่า ขณะนี้นายกฯได้กำชับทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหา ทั้งติดตามระดับราคาอาหารสัตว์และปุ๋ยให้ขึ้น-ลงสอดคล้องกับสัดส่วนต้นทุนที่แท้จริง ไม่ให้มีการกักตุน ฉวยโอกาสขึ้นราคา ขณะเดียวกันก็ให้เร่งกระจายการนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยและอาหารสัตว์จากแหล่งนำเข้าอื่นๆ เพิ่มเติม รวมทั้งใช้มาตรการอื่นในการอำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหา ลดอุปสรรคการผลิต การนำเข้า เพื่อลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรด้วย

ในปี 2564 ไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีจาก 45 ประเทศ ปริมาณ 5,520,883 ตัน คิดเป็นมูลค่า 70,103 ล้านบาท โดย 5 ประเทศที่ไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีมากที่สุด ได้แก่
1.จีน นำเข้า 1.25 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 16,997 ล้านบาท สัดส่วน 22.75%
2.ซาอุดีอาระเบีย นำเข้า 8.4 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 10,707 ล้านบาท สัดส่วน 15.3%
3.รัสเซีย นำเข้า 4.4 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 5,604 ล้านบาท สัดส่วน 8.06%
4.โอมาน นำเข้า 3.6 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 4,381 ล้านบาท สัดส่วน 6.64%
5.เกาหลีใต้ นำเข้า 3.3 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 3,417 สัดส่วน 6.14%

ทั้งนี้ ปุ๋ยเคมีและอาหารสัตว์ เป็นสินค้าควบคุมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หากจะมีการปรับราคา กระทรวงพาณิชย์จะต้องพิจารณาคำร้องของผู้ประกอบการก่อน ซึ่งขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า ยังไม่มีใครทำเรื่องขอปรับราคาอย่างเป็นทางการ

“นายกรัฐมนตรีได้เตรียมมาตรการและแนวทางรับมือผลกระทบตั้งแต่มีความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ก่อนที่จะพัฒนาเป็นวิฤกตสงคราม และนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมาเป็นระยะ โดยอะไรที่อยู่ในอำนาจหรือกฎหมายที่รัฐบาลสามารถผ่อนผันได้ ก็เร่งดำเนินการทันที เช่น กระทรวงการคลังใช้มาตรการทางภาษี ลดภาษีสรรพสามิต กระทรวงพลังงาน ดูแลราคาพลังงาน ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร กระทรวงพาณิชย์ กำกับราคาเนี้อสัตว์และอาหาร สินค้าจำเป็น เป็นต้น ทั้งนี้ หากภาวะสงครามยุติเร็ว คาดว่าราคาสินค้าและน้ำมันจะกลับเข้าสู่กลไกตลาด แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อ รัฐบาลก็ได้เตรียมมาตรการอื่นๆ ไว้แล้ว เพื่อบรรเทาภาระพี่น้องเกษตกร ผู้ประกอบการ และประชาชนให้มากที่สุดด้วย” นายธนกรกล่าว

เรียก “พลังงาน-คลัง” ถกรับมือน้ำมันแพง

ก่อนหน้านี้ เมื่อวานนี้ (10 มีนาคม 2565) ที่กระทรวงการคลัง นายสุพัฒน์พงษ์​ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้หารือกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับความผันผวนของสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลก เกิดจากสงครามรัสเซียกับยูเครน โดยมีผู้บริหารระดับสูงทั้ง 2 กระทรวง อาทิ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)​ น.ส.รื่นฤดี สุวรรณมงคล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เข้าร่วมประชุมด้วย ก่อนที่นายสุพัฒนพงษ์ และผู้บริหารกระทรวงพลังงานจะมีการแถลงมาตรการพลังงาน อย่างเป็นการในวันที่ 11 มีนาคมนี้ ที่กระทรวงพลังงาน

โดยนายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เพื่อประเมินสถานการณ์โดยภาพรวมของเศรษฐกิจและแหล่งเงินที่จะนำมารับมือปัญหาราคาน้ำมันแพง แต่ประเด็นสำคัญต้องคำนึงเสถียรภาพความมั่นคงด้านพลังงาน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้พลังงานอย่างเพียงพอ เช่น การสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่ม จาก 60 วัน เป็น 70 วัน เพื่อสร้างมั่นใจให้ประชาชนว่ามีน้ำมันเพียงพอ ส่วนไฟฟ้า ก็จะเจรจาหาแหล่งผลิตไฟฟ้ารูปแบบอื่นๆทดแทน ขณะที่ เรื่องราคาน้ำมันนั้น รัฐบาลยังมีมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรอยู่

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังเป็นการหารือ เพื่อหามาตรการรองรับและช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนด้วย ส่วนกรณี สถานะของเงินในกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะทบทวนขยายกรอบเพดาน เกิน 4 หมื่นล้านบาทหรือไม่ และ แหล่งเงินใน พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ 5 แสนล้านบาท จะเพียงพอหรือไม่นั้น ก็ต้องพิจารณาด้วยเช่นกัน

“วันนี้เราไม่รู้ว่าสถานการณ์สงคราม จะยาวนานแค่ไหน เราก็ต้องหามาตรการรับมือไว้ ที่สำคัญคือ ต้องมีพลังงานเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ส่วนราคาแพง ก็ต้องแก้ปัญหา วานนี้ (10 มีนาคม) จึงนัดประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน หากแนวทาง เพื่อเตรียมความพร้อมการรับมือสงครามยือเยื้อ เรื่องแหล่งเงินนั้น นอกจากจะดูว่าเพียงพอหรือไม่ ก็ต้องดูถึงความจำเป็นที่จะต้องใช้ด้วย” นายสุพัฒน์พงษ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุพัฒน์พงษ์ และผู้บริหารเสร็จสิ้นการประชุมเมื่อเวลา 19.00 น. นับเป็นระยะประมาณ 2 ชั่วโมง ทั้งนี้ในที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปใดๆ

โดย นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวเพียงสั้นๆ ว่าในการประชุมครั้งนี้ เป็นเพียงการมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ส่วนเรื่องมาตรการน้ำมันแพงก็ได้ให้การบ้านกับทั้ง 2 กระทรวงแล้ว และถ้ามีความคืบหน้าจะแจ้งให้สื่อมวลชนทราบ