เลิศรัตน์ ยันรธน.ฉบับปี 64 สูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ หารด้วย 100 ไม่ใช่ 500

‘เลิศรัตน์’ ดักคอ คนอ้างนับคะแนนแบบ ส.ส.พึงมี-คะแนนไม่ตกน้ำ เพื่อประโยชน์ตัวเอง ยันรธน.64 ให้หารด้วย 100 ไม่ใช่ 500 “สมคิด” ยันสูตรหา ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หารด้วย 500 คิดได้แต่ทำไม่ได้

 

วันที่ 10 มี.ค.2565 พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. กล่าวถึงข้อเสนอให้ใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ MMP ว่า คำว่าส.ส.พึงมี หมายถึงเป็นแต่ละกรณี ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2564 หมายถึง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ดังนั้น การหาคะแนนเฉลี่ยต้องใช้ 100 หาร และไม่สามารถย้อนไปใช้สูตรแบบ MMP ได้อีก เพราะรัฐสภาได้เห็นชอบให้ใช้ระบบคำนวณแบบคู่ขนานแล้ว อีกทั้งร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่รัฐสภารับหลักการทั้ง 4 ฉบับ เขียนเนื้อหาไว้เหมือนกัน คือให้คำนวณโดยใช้ 100 หาร ส่วนที่มีคนเสนอให้ใช้ 500 หารนั้นเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นทุกคะแนนเสียงไม่ตกน้ำ ความหมายคือ ไม่ตัดเศษ หรือใช้เปอร์เซ็นต์คะแนนขั้นต่ำ เช่น 1% กำหนดเกณฑ์ที่พรรคจะได้ส.ส. ดังนั้น ทุกคะแนนที่ประชาชนเลือกส.ส.จะนำมาคิดคำนวณทั้งหมด ส่วนที่มีบางพรรคนำคำว่า เสียงไม่ตกน้ำไปใช้ เพราะต้องการให้ตนเองได้ประโยชน์ ได้คะแนนเลือกตั้งแค่ 3 หมื่นคะแนน แต่อยากได้ส.ส. ซึ่งกรณีดังกล่าว ตนมองว่าเป็นการทำลายการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย

“ขอย้ำว่า คะแนนไม่ตกน้ำ คือ ไม่นำเปอร์เซ็นต์ขั้นต่ำมาใช้ หากเอามาใช้ จะทำให้คะแนนที่เลือกพรรคไม่ครบตามเกณฑ์ อย่างประเทศเยอรมันที่ใช้ระบบ MMP เขาตัดเปอร์เซ็นต์ที่ 5% ทำให้ปัจจุบันมีพรรคการเมืองแค่ 5 พรรคเท่านั้น และหากพรรคเล็กต้องการได้ส.ส. ควรไปรวมกับพรรคอื่น เพื่อแข่งขันเลือกตั้ง หากได้คะแนน 2-3 แสนคะแนน จะได้ส.ส. 1 คน” พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว

เมื่อถามว่ายังมีวิธีคำนวณส.ส.รูปแบบอื่นที่ทำให้พรรคได้ส.ส.ตามคะแนนนิยมที่แท้จริง และไม่บวกเพิ่ม เหมือนระบบคู่ขนานหรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ระบบคิดคะแนนในการเลือกตั้ง มี 2 ระบบใหญ่คือ 1.แบบ MMP ที่ใช้ใน 10 ประเทศทั่วโลก เช่น เยอรมัน ตุรกี ญี่ปุ่น โดยใช้กับการเลือกส.ว. ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ นำมาใช้ และ 2.ระบบคู่ขนาน เคยใช้เมื่อรัฐธรรมนูญ 2540 และนำกลับมาใช้ในรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขปี 2564

ดังนั้น หากจะให้กลับไปใช้แบบ MMP ตอนนี้ทำไม่ได้ และหากจะย้อนกลับไป ก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญอีกครั้ง ซึ่งตนมองว่าไม่มีเวลา เพราะอีก 1 ปีจะมีเลือกตั้งส.ส.แล้ว ทั้งนี้ คนที่จะเสนอคำแปรญัตติให้กมธ.พิจารณา สามารถเสนอได้ หากเขาชนะในชั้น กมธ. ก็ต้องเข้าที่ประชุมรัฐสภาให้ลงมติอีก หากเขาชนะอีก ก็ต้องส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) และโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ…. ให้สัมภาษณ์ประเด็นเรื่องสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากกรณีที่มีกระแสว่า กลุ่ม 3 ป. อยากได้สูตรที่หารด้วย 500 เนื่องจากกลัวว่า สูตรการหารด้วย 100 จะเข้าทางพรรค พท. มากเกินไป ประเด็นนี้ พรรค พท. จะแก้เกมอย่างไร ว่า ไม่ต้องแก้ เพราะทำไม่ได้และในหลักการร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับที่นำเข้ามาก็ไม่มีคำว่าหารด้วย 500 มีแค่หาร 100

ฉะนั้น ต่อให้อยากได้มันก็ทำไม่ได้ ทำไมถึงมาคิดเช่นนี้ในตอนนี้ ตอนที่แก้รัฐธรรมนูญเป็นบัตร 2 ใบก็ไม่เห็นพูด ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าการจะทำสูตรที่หารด้วย 500 นั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะจะขัดหลักการที่รัฐสภารับร่างมา อย่างไรก็ตาม สามารถคิดได้แต่ก็ไม่สามารถทำได้