‘ปูติน’ ชี้ตะวันตกคว่ำบาตรเสมือนประกาศสงคราม “สวีเดน-ฟินแลนด์” จับมือกระชับความมั่นคง

เมื่อวานนี้ (5 มีนาคม 2565) รอยเตอร์สรายงานว่า  ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดีมีร์ ปูติน กล่าวถึงมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกที่มีต่อรัสเซียคล้ายกับการประกาศสงคราม และเตือนว่า ความพยายามใดๆ ที่จะกำหนดเขตห้ามบินในยูเครนจะนำไปสู่ผลลัพธ์หายนะต่อโลก

นายปูตินย้ำว่า เป้าหมายของตนคือการปกป้องชุมชนที่พูดภาษารัสเซีย (ดินแดนโดเนตสค์ และดินแดนลูฮันสค์ ที่กลุ่มฝักใฝ่รัสเซียยึดครอง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน) ด้วยการทำให้ยูเครนปลอดทหารและการกำจัดลัทธินาซีของประเทศ เพื่อให้อดีตเพื่อนบ้านโซเวียตของรัสเซียแห่งนี้เป็นกลางและไม่คุกคามรัสเซียอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ยูเครนและบรรดาประเทศตะวันตกเพิกเฉยข้ออ้างดังกล่าวไร้เหตุผลในการรุกรานยูเครนที่นายปูตินเปิดฉากเมื่อวันที่ 24 ก.พ. และกำหนดมาตรการคว่ำบาตรที่มุ่งเป้าไปที่การโดดเดี่ยวรัฐบาลรัสเซีย

ปูติน นั่ง กับ พนักงานต้อนรับ บนเครื่องบิน

KREMLIN

“มาตรการคว่ำบาตรที่กำลังมีผลบังคับใช้นี้คล้ายกับการประกาศสงคราม แต่ขอบคุณพระเจ้าที่ยังไม่เกิดขึ้น” นายปูตินพูดคุยกับกลุ่มพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ที่ศูนย์ฝึกอบรมแอโรฟลอต ใกล้กรุงมอสโก

นายปูตินกล่าวว่า ความพยายามใดๆ ของมหาอำนาจอื่นในการกำหนดเขตห้ามบินในยูเครน รัสเซียจะถือเป็นก้าวหนึ่งสู่ความขัดแย้งทางทหาร ซึ่งจะส่งผลร้ายแรงต่อยุโรปและโลก

พันธมิตรทางทหารขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ปฏิเสธคำขอของยูเครนในการเขตห้ามบิน โดยอ้างว่าจะยกระดับสงครามนอกเหนือยูเครนเป็นความขัดแย้งในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้สหรัฐขัดแย้งกับรัสเซียได้

กำลังวางแผน

ต่อคำถามเกี่ยวกับรายงานข่าวที่ว่ามีการใช้ทหารเกณฑ์รัสเซียในยูเครนหรือไม่ นายปูตินกล่าวว่า ไม่มีทหารเกณฑ์นายใดเกี่ยวข้อง และกล่าวว่า ปฏิบัติการทางทหารกำลังเป็นไปตามแผน

“ไม่มีทหารเกณฑ์นายใดนายหนึ่ง และเราไม่ได้วางแผนที่จะมีทหารเกณฑ์ด้วย กองทัพของเราจะทำหน้าที่ทั้งหมดสำเร็จ ผมไม่สงสัยเลย ทุกอย่างกำลังเป็นไปตามแผน” นายปูตินกล่าว

รายงานระบุว่า คำอธิบายข้างต้นขัดแย้งกับการประเมินจากเจ้าหน้าที่ของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ หน่วยข่าวกรองทางทหารของอังกฤษกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 มี.ค. ว่า การรุกคืบของรัสเซียในเมืองหลวงของยูเครนมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อย และเผชิญกับการต่อต้านหนัก

นายปูตินปฏิเสธข้อกังวลวที่อาจมีการประกาศกฎอัยการศึกหรือสถานการณ์ฉุกเฉินในรัสเซีย โดยกล่าวมาตรการดังกล่าวจะใช้เมื่อมีภัยคุกคามภายในหรือภายนอกสำคัญเท่านั้น “เราไม่ได้วางแผนที่จะใช้อำนาจพิเศษใดๆ ในดินแดนรัสเซีย ขณะนี้ไม่มีความจำเป็น” นายปูตินกล่าว

ดมีตรี เปสคอฟ โฆษกเครมลิน กล่าวว่า ชาติตะวันตกประพฤติตัวราวกับโจรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย โดยตัดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเหนือความขัดแย้งในยูเครน แต่รัสเซียใหญ่เกินกว่าจะถูกโดดเดี่ยว เนื่องจากโลกนี้ใหญ่กว่าแค่สหรัฐอเมริกาและยุโรปมาก และรัสเซียจะตอบโต้ แต่โฆษกเครมลินไม่ได้ระบุจะตอบโต้อย่างไร แต่จะสอดคล้องกับผลประโยชน์ของรัสเซีย

ท่าทีของปูติน เกิดขึ้นท่ามกลางความคว่ำบาตรครั้งใหญ่จากหลายชาติโดยเฉพาะชาติตะวันตก แม้แต่ชาติที่วางตัวเป็นกลางมาตลอดอย่างสวิตเซอร์แลนด์เห็นชอบในการคว่ำบาตรทางการเงิน การตัดรัสเซียจาก SWIFT การแบนสินค้าของรัสเซียและธุรกิจหลายด้านตั้งแต่แฟชั่น รถยนต์ ไอทีจนถึงแพลตฟอร์มเกมส์พากันระงับการให้บริการในรัสเซีย จนล่าสุดระบบบริการการเงินชื่อดังอย่างวีซ่า มาสเตอร์การ์ดและเพย์พาล ได้ระงับการให้บริการตามด้วย ส่งผลทำให้ชาวรัสเซียไม่สามารถใช้บัตรเครดิตในการทำธุรกรรมใดๆได้ ไม่นับรวมถึงรัฐบาลหลายประเทศทำการอายัดทรัพย์สินของปูติน เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ใกล้ชิดกับปูตินในรัฐบาลรัสเซีย ไปจนถึงบรรดาชนชั้นนำผู้มั่งคั่งที่ใกล้ชิดกับปูตินก็โดนไปตามๆกัน

ขณะที่ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ กล่าวว่า นับตั้งแต่การรุกรานยูเครนของรัสเซียเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ จนถึงตอนนี้ มีพลเรือนที่ได้รับการยืนยันว่าเสียชีวิตจากการสู้รบแล้วอย่างน้อย 351 ราย บาดเจ็บ 707 แต่เชื่อว่าตัวเลขที่แท้จริงจะสูงกว่านี้

ผู้นำ “สวีเดน-ฟินแลนด์” จับมือผนึกกำลังกระชับความมั่นคง

รอยเตอร์สยังรายงานอีกว่า จากท่าทีของปูตินที่ออกมาพูดเชิงข่มขู่สวีเดนและฟินแลนด์หากเข้าร่วมสมาชิกนาโต้จะเผชิญผลร้ายที่ตามมาเฉกเช่นเดียวกันยูเครน ทำเอา 2 ประเทศหรือแม้แต่ชาติยุโรปต้องตกใจกับท่าทีกับปูติน แต่ก็ส่งผลอีกด้านตามมาด้วย เพราะเมื่อวานนี้ ทั้งสวีเดนและฟินแลนด์ได้ตกลงเพิ่มความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านความมั่นคงแม้จะไม่ตกลงร่วมเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ โดยแม็กดาลีน่า แอนเดอร์สัน นายกรัฐมนตรีสวีเดนและซานน่า มาริน นายกรัฐมนตรีฟินแลนด์ได้พบกันที่กรุงเฮลซิงกิของฟินแลนด์ ได้มาพบปะระดับทวิภาคีในการเพิ่มความร่วมมือด้านความมั่นคงในแถบสแกนดิเนเวียเพื่อรับมือภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ซานน่ากล่าวระหว่างแถลงร่วมว่า สงครามรัสเซียได้กลายเป็นภัยความอธิปไตยต่อชาติในยุโรปและทำให้ระเบียบความมั่นคงของยุโรปตกอยู่ในความเสี่ยง ในภาวะแวดล้อมความมั่นคงที่เปลี่ยนไป ทั้งสวีเดนและฟินแลดน์์จะเพิ่มความเข้มแข็งในด้านความมั่นคงร่วมกัน

“เราได้หารือกันในที่นี่และเราได้หารือเรื่องพวกนี้กันในรัฐสภากับประธานาธิบดีและกับระหว่างพรรคกันด้วย” ซานน่า กล่าว

ด้านสวีเดนเองก็มีการถกเถียงกันเรื่องเข้าร่วมนาโต้ ซึ่งแอนเดอร์สันกล่าวว่าเป็นเรื่องธรรมชาติของการคุยกันซึ่งจะเกิดขึ้นอีก

“สถานการณ์ความมั่นคงมีแนวโน้มไปทางนั้นแล้ว ดิฉันได้พบกับผู้นำพรรคการเมืองหลายพรรคในสวีเดนหลายครั้งและคุยกันหลายเรื่อง” แอนเดอร์สัน กล่าวโดยไม่ได้ตอบว่าจะเข้าร่วมกับนาโต้หรือไม่

ท่าทีของสองผู้นำครั้งนี้ เกิดขึ้นพร้อมกับกระแสโพลที่ 2 ประเทศนี้ทำขึ้น ซึ่งผลสำรวจพบว่าหลังจากการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย เสียงส่วนใหญ่ได้หันไปสนับสนุนการเข้าร่วมนาโต้เป็นครั้งแรก และจากกรณีล่าสุดที่เครื่องบินรบรัสเซียได้บินรุกล้ำน่านฟ้าสวีเดน ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลและชาวสวีเดน

อีกทั้ง เย็นส์ สต็อลเตินบาร์ก เลขาธิการนาโต้ซึ่งเป็นชาวนอร์เวย์กล่าวเมื่อมกราคมที่ผ่านมาว่า ทั้งสวีเดนและฟินแลนด์มีใครใกล้ชิดกับใกล้ชิดกับนาโต้มากและเคยได้ชวนเข้าร่วมการหารือกับสถานการณ์ในยูเครน ซึ่งพวกเขาอาจเข้าร่วมเป็นพันธมิตรเร็วขึ้น หากทั้ง 2 ประเทศตัดสินใจตอบรับการเป็นสมาชิก

ทั้งนี้ ซอลลิ นินิสโต้ ประธานาธิบดีฟินแลนด์กล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า ทั้งสหรัฐฯและกลุ่มประเทศนอร์ดิก มีความต้องการทำกระบวนการที่ชัดเจนเพื่อยกระดับความร่วมมือด้านการป้องกันและความมั่นคง