เอกชนตั้งรับราคาพลังงานพุ่งยาว จ่อขึ้นราคาสินค้า หลังปมรัสเซียนรุกรานยูเครนส่อเยื้อยาว

รัสเซียโจมตียูเครนส่อยืดเยื้อ! เอกชนตั้งรับราคาพลังงานพุ่งยาว จ่อขึ้นราคาสินค้า

 

วันที่ 2 มีนาคม 2565 นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ในฐานะนายกกิตติคุณ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน นั้น ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าสถานการณ์จะบานปลายไปแค่ไหน แต่ตอนนี้ราคาพลังงานและราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นไปสูงมาก อย่างไรก็ตาม หากเกิดความขัดแย้งที่หนักขึ้น ยิ่งส่งผลกระทบกับต้นทุนพลังงานอย่างมาก เพราะไทยนำเข้าพลังงานมหาศาลจากรัสเซีย และทุกองคาพยพ​ล้วนแต่ใช้พลังงานในส่วนนี้ อีกส่วนที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องปุ๋ย และอาหารสัตว์ ที่ต้นทุนมีแนวโน้มสูงขึ้น ถ้าเป็นเช่นนั้นจะยิ่งกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตของไทยพอสมควร

“ในส่วนของการปรับราคาสินค้าหรือวัตถุดิบขึ้น นั้น ขณะนี้ อยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์​ความขัดแย้งของทั้ง 2 ประเทศ อยู่ว่าเหตุการณ์​จะรุนแรงและยืดเยื้อแค่ไหน ก่อนที่จะปรับขึ้นราคาวัตถุดิบตามความเหมาะสมต่อไป” นายพจน์ กล่าว

ส่วนเรื่องผลกระทบจากการนำเข้าวัตถุดิจากรัสเซีย นั้น คาดว่าวัตถดิบที่จะได้รับผลกระทบ อาทิ ปุ๋ยยูเรีย ข้าวสาลี และถั่วเหลือง เป็นต้น และต้องยอมรับว่าความขัดแย้งในครั้งนี้ ทำให้เกิดผลกระทบเป็นห่วงโซ่ แม้จะไม่ได้ส่งผลกระทบทันที แต่ไทยและทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้แน่นอน ส่วนเรื่องการสต็อกสินค้าผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องอาจมีการสต็อกสินค้า อาทิ ปุ๋ย และอาหารสัตว์ แต่ไม่ได้สต็อกในจำนวนมาก คาดว่าสต็อกไว้ให้เพียงพอต่อการใช้งานอีก 1 เดือน

นายพจน์ กล่าวอีกว่า ขณะที่ การส่งออกอาหารทะเล และอาหารแช่เยือกแข็ง นั้น ไม่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในครั้งนี้มากนัก โดยในช่วงปีแรกที่เกิดโควิด-19 หรือปี 2563 การส่งออกทูน่าเป็นไปได้ดี รวมถึงการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นไปได้ดีมาก ส่วนในปี 2564 การส่งออกทูน่ายังดีอยู่แต่ไม่มากเท่าปี 2563 ส่วนอาหารสัตว์เลี้ยงยังส่งออกดีอย่างต่อเนื่อง ส่วนในปัจจุบันอาหารแช่แข็ง โดยเฉพาะอาหารทะเลค่อนข้างแย่ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากความเข้มงวดตามกฎของ การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) ส่งผลให้มีวัตถุดิบในการส่งออกลดลง

ส่วนเรื่องการแบนระบบการเงินรัสเซีย จากทางสมาคมโทรคมนาคมทางการเงินโลก หรือสวิฟต์ นั้น ของไทยยังได้รับผลกระทบน้อย ส่วนความกังวลเรื่องค่าบาท นั้น อยากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประคองค่าเงินให้อยู่ที่ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ​ ชั่วคราวหรือประมาณ 1 เดือน เพื่อให้ผู้ส่งออกยังสามารถประคองตัวอยู่ได้ในสภาวะนี้ต่อไป