“อรุณี” แนะ Edutainment อาจเป็นทางรอดปฏิรูปการศึกษาไทย ส่งเสริมเด็กรักการเรียนรู้

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ดร.อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาเสนอแนะแนวทางการศึกษาไทยในยุคโควิด-19 ท่ามกลางภาวะชะงักงันของระบบการศึกษาแบบปกติและการเรียนออนไลน์นั้นมีข้อสงสัยถึงประสิทธิภาพและคุณภาพที่นักเรียนควรได้รับ ประกอบกับผลกระทบจากจิตใจของผู้เรียนในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยการเรียนรู้ว่า
Edutainment หนึ่งในระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้
.
.
ท่ามกลางความไม่แน่นอนในระบบการศึกษาบ้านเรา ที่ถึงแม้ว่าจะมีการฉีดวัคซีนครอบคลุมเด็กนักเรียนจนสามารถเปิดให้มีการเรียนการสอนในห้องเรียนปกติได้แล้วก็ตาม แต่บทเรียนที่สำคัญที่เราได้รับจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 คือ “อะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้”
.
เราไม่เคยจินตนาการออกว่าวันหนึ่งถ้ารัฐบังคับให้ทุกคนอยู่แต่ในบ้านจะเป็นยังไง วันนี้เราได้เห็นแล้ว เราไม่เคยจินตนาการออกว่าวันหนึ่งถ้าทุกคนจะออกไปไหนมาไหนต้องใส่หน้ากากอนามัยเหมือนในหนังจะเป็นยังไง วันนี้เราก็ได้เห็นแล้ว เราไม่เคยจินตนาการออกว่าวันหนึ่งถ้าทุกโรงเรียนต้องปิดและต้องเรียนออนไลน์จากที่บ้านจะเป็นยังไง วันนี้เราก้ได้เห็นกันแล้ว “อะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้”
.
ดังนั้น มันก็มีความเป็นไปได้เสมอถ้าหากเราต้องล็อคดาวน์อีกครั้ง นักเรียนทุกคนอาจต้องกลับไปเรียนออนไลน์อีกครั้ง หากวันดีคืนร้ายโรคระบาดกลับมารุนแรงครั้งใหญ่อีกระลอก (ใครจะไปรู้) เราจึงต้องเรียนพร้อมรับมือในทุกสถานการณ์
.
.
การศึกษาก็เช่นกัน เราไม่อาจหยุดหรือเว้นวรรคการศึกษาของเด็กไทยได้ เพราะค่าเสียโอกาสเรื่องเวลาเป็นสิ่งที่มีคุณค่าเหลือเกินต่อประเทศนี้และต่ออนาคตเด็กไทยทุกคน แต่บทเรียนจากโควิด-19 ทำให้เราได้รู้ว่า การศึกษาหรือการเรียนรู้ในห้องเรียน มันถูกท้าทายได้ทุกเมื่อ ดังนั้น เราจำเป็นต้องมองออกนอกห้องเรียนและปรับสภาพแวดล้อมทุกอย่างให้เหมาะสมกับการศึกษาหรือการเรียนรู้ จึงนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “การเรียนรู้นอกห้องเรียน”
.
การเรียนรู้นอกห้องเรียน จะเกิดขึ้นจริงได้ก็ต่อเมื่อสภาพแวดล้อมนอกห้องเรียนมันเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ ดังนั้น จึงเปล่าประโยชน์หากรัฐบาลจะมันแต่มาพูดหล่อๆว่า “เราจะส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน” แต่กลับไม่คิดที่จะพัฒนาหรือส่งเสริม “ระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้” อย่างครบวงจร
.
แน่นอนว่าหากเราจะพูดถึง ระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ในวันนี้ คงต้องคุยกันอีกยาวเพราะมีหลายสิ่งหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก วันนี้หญิงจึงอยากจะมาพูดถึง สิ่งหนึ่งที่อยู่ในระบบนิเวศการเรียนรู้และเป็นส่วนเสี้ยวหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้นอกห้องเรียน เป็นช่องทางหนึ่งทางการเรียนรู้ที่จะมาอุดรูรั่วจากประสิทธิภาพการสอนในห้องเรียน นั่นก็คือ…“Edutainment”
.
Edutainment คืออะไร?
Edutainment คือการรวมกันของ 2 คำ ระหว่างคำว่า Education (การศึกษาหรือการเรียนรู้) + Entertainment (ความบันเทิง) กลายเป็น Edutainment หรือที่เรียกว่า “ความบันเทิงเพื่อการเรียนรู้” (เอิ่ม ใช้ทับศัพท์น่าจะดีกว่า)
.
Edutainment จึงเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่นำเอาข้อดีของสื่อหรือกิจกรรมความบันเทิง คือ ความสนุก ความเพลิดเพลิน ความน่าตื่นเต้น มาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการเรียนรู้ของผู้คน การนำเอาความบันเทิงมาผสมกับความรู้นั้น ทำให้ผู้คนสามารถทำความเข้าใจและเรียนรู้ในสิ่งที่ยากมากๆ ได้ง่ายขึ้นกว่าการเรียนการสอนในรูปแบบปกติ
.
ซึ่งหากจะเปรียบเทียบกับการเรียนการสอนแบบดั้งเดิม คือ การเรียนรู้ผ่านการบรรยายหน้าห้อง (Lecture-Based Learning) ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ เป็นการเรียนการสอนภายใต้แนวคิดง่ายๆ คือ 1 คนพูดหน้าห้อง ที่เหลือก็ฟังและก็จะเกิดการเรียนรู้ขึ้น แต่ Edutainment มีแนวคิดที่เหนือไปกว่านั้น คือ นอกจากที่จะสนใจและให้ความสำคัญกับเนื้อหา (Content) เพียงอย่างเดียว Edutainment ให้ความสำคัญกับ “วิธีการส่งมอบเนื้อหา” อีกด้วย โดยคำนึงถึงวิธีที่จะทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจและเกิดการเรียนรู้ได้ง่ายที่สุด ซึ่งรูปแบบการส่งมอบเนื้อหาที่ผู้คนชื่นชอบและไม่ก่อให้เกิดความเครียด ก็คือ รูปแบบของความบันเทิง
.
เราสามารถใช้สื่อบันเทิงรูปแบบต่างๆเพื่อการเรียนรู้ได้ เช่น รูปแบบรายการทีวี ซึ่งแน่นอนว่าตอนเราเด็กๆ หลายคนคงต้องเคยดูรายการอย่าง “Mega Clever ฉลาดสุดๆ” ที่ทำให้เราได้รับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในรูปแบบที่มีตอบคำถามและทดลองให้ดู หรือรายการของไทยอย่าง “เกมเศรษฐี” ที่เป็นรายการแข่งขันตอบปัญหาความรู้รอบตัว ทำให้ผู้ชมทางบ้านพากันคิดตาม แถมบางบ้านอาจมีการแข่งกันทายคำตอบระหว่างพ่อกับลูกว่าใครจะตอบถูกตอบผิด ซึ่งก็เป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ภายในครอบครัวผ่านรายการทีวีอีกด้วย แต่น่าเสียดายที่รายการดีๆที่สอดแทรกความรู้เหล่านี้ไม่ค่อยจะเหลือให้เราได้ดูมากซักเท่าไหร่ในปัจจุบัน
.
นอกจากรายการทีวีแล้ว ยังรวมไปถึงรูปแบบภาพยนตร์ ละคร ซีรี่ย์ต่างๆ เช่น ซีรี่ย์ Sex Education ที่ให้ความรู้ในเรื่องของเพศศึกษา เพศสภาพ เพศวิถีผ่านตัวละครต่างๆ หรือในรูปแบบของรายการใน YouTube เช่น รายการของคุณฟาโรส (หญิงชอบมากๆ) ที่เอาสาระความรู้ต่างๆมาพูดคุยกันอย่างสนุกสนานและเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ หรือแม้แต่ในรายการพอดแคสต่างๆที่กำลังเป็นที่นิยมในขณะนี้ เช่น พอดแคสต์ของ The Standard หรือ Mission To The Moon ฯลฯ ซึ่งเป็นเอาความรู้ต่างๆมาย่อยให้เราเข้าใจได้ง่ายขึ้น เป็นต้น
.
และปัจจุบันที่เทคโนโลยีพัฒนามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็มีการนำเอาเทคโนโลยีต่างๆในอุตสาหกรรมบันเทิงมาใช้เพื่อการเรียนรู้มากขึ้น เช่น การใช้เกมอย่าง Math Blaster มาใช้เพื่อการฝึกคิดเลขผ่านเกม หรือเกมการตอบคำถามอย่าง Kahoot หรือการใช้เทคโนโลยี VR มาใช้ในการเรียนการสอน หญิงเห็นข่าวว่าที่โรงเรียนญี่ปุ่นใช้เทคโนโลยีVR ในการสอนเด็กของเขารับมือกับภัยพิบัติน้ำท่วมเฉียบพลัน ซึ่งเป็นภัยพิบัติที่เขาเผชิญบ่อยมาก เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ว่าถ้าน้ำท่วมเฉียบพลันขึ้นมาน้ำจะท่วมในระดับใด จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เด็กจะมองเห็นภาพเสมือนจริงผ่านแว่น VR เหล่านี้ และนี่ยังไม่รวมถึงเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำต่างๆทั่วโลกกำลังแข่งขันกันพัฒนาอย่าง Metaverse หรือการสร้างโลกเสมือนจริง ซึ่งหญิงเชื่อว่าหากเทคโนโลยีนี้เกิดขึ้นและถูกใช้อย่างแพร่หลาย เทคโนโลยีโลกเสมือนจริงนี้จะปฏิวัติวงการการศึกษามากเลยทีเดียว
.
ที่สำคัญคือ Edutainment ไม่จำเป็นต้องไฮเทคเสมอไป เพราะยังมีรูปแบบความบันเทิงอื่น เช่น การใช้เกมการ์ด เกมกระดาน (Board Game) เพื่อการศึกษา เช่น เกม Werewolf ที่ส่งเสริมวิธีคิดวิเคราะห์ การคาดการความเป็นไปได้ และอื่นๆอีกมากมาย หรือแม้กระทั่งหนังสือการ์ตูนที่เราอ่านสมัยเด็กๆ เช่น หนังสือการ์ตูนเอาชีวิตรอดในที่ต่างๆที่สอนเรามีความรู้รอบตัว หนังสือการ์ตูนครอบครัวตึ๋งหนืดที่ทำให้เรามีความรู้เรื่องเงินและรู้จักการเก็บเงินมากขึ้น หรือหนังสือการ์ตูนพวกล่าขุมทรัพย์ ก็ทำให้เรามีความรู้เกี่ยวกับประเทศต่างๆที่ตัวละครได้ไปผจญภัย เป็นต้น หรือแม้กระทั่งการเรียนรู้แบบออนไซต์จากพิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์ หอศิลป์ และอื่นๆ ก็อาจถือได้ว่าเป็น Edutainment อย่างหนึ่งได้เช่นกัน
.
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คือ การนำเอาสื่อบันเทิงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรายการทีวี ซี่รี่ย์ รายการยูทูบ พอดแคสต์ เกมออนไลน์ เกมกระดาน หนังสือการ์ตูน และอื่นๆอีกมากมาย มาใช้เพื่อวัตถุประสงค์การทางศึกษา และนี่ คือสิ่งที่เรียกว่า “Edutainment”
.
กล่าวมาถึงจุดนี้แล้ว ทำให้เรารู้ว่า Edutainment ไม่ใช่สิ่งที่กำลังจะมา หากแต่เป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว เพียงแต่เราไม่เคยใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่เท่านั้นเอง ในสภาวะที่เด็กไทยเผชิญความเสี่ยงทางการศึกษาที่อาจจะเกิดการล็อคดาวน์อีกครั้งจนไม่สามารถกลับไปเรียนในห้องเรียนปกติได้ (ย้ำอีกครั้งว่าอาจจะ) ท่ามกลางการเปิดประเทศที่ดูเหมือนจะไม่มีมาตรการรองรับที่ชัดเจนและมีสิทธิที่จะเกิดการระบาดระลอกใหม่ๆตามมาได้เสมอ สงครามกับเชื้อโรคที่อาจจะไม่ได้จบเร็วดังที่หลายคนคาด
.
หากเป็นเช่นนั้น เด็กไทยอาจต้องกลับไปเรียนออนไลน์อีกครั้ง ซึ่งจากการประเมินของ The Economist และ McKinsey พบว่า การเรียนออนไลน์ทำให้ประสิทธิภาพการเรียนการสอนลดลงถึง 50% ฉะนั้นหากเราต้องกลับมาล็อคดาวน์อีกครั้ง การเรียนออนไลน์ผ่านคอมพิวเตอร์อาจจะไม่เพียงพอที่จะสร้างการเรียนรู้ให้แก่เด็ก รัฐบาลอาจจำเป็นต้องพิจารณาเรื่อง Edutainment อย่างจริงจัง อาจจะร่วมมือกับสื่อบันเทิงต่างๆ ทั้งรายการทีวี สื่อออนไลน์ บริษัทเกม หนังสือการ์ตูน และอื่นๆ เพื่อมาช่วยกันผลิตและถ่ายทอดสาระความรู้ต่างๆ สร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ สร้างระบบนิเวศของ Edutainment ขึ้นมาให้เด็กไทยสามารถได้เรียนรู้และเข้าถึงความรู้นอกเหนือจากสิ่งที่อยู่ในหนังสือเรียนหรือสิ่งที่ครูสอนหน้าห้องเรียนออนไลน์
.
.
แน่นอนว่า การเรียนรู้ในรูปแบบ Edutainment อาจจะไม่สามารถแทนที่การเรียนการสอนแบบบรรยายดั้งเดิมได้ เพราะการเรียนการสอนแบบเก่านั้นยังคงมีความสำคัญ มีคุณค่าและมีที่ทางของมัน แต่ถ้าเรานำเอา Edutainment ที่มีการวางระบบและมีเนื้อหาสอดคล้องกับการเรียนรู้ของเด็กเข้ามาเป็นส่วนเสริม เพื่อให้เด็กไทยเกิดการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน ไม่แน่ว่า Edutainment ที่มีทั้งสาระความรู้และความสนุกผ่อนคลายนี่แหล่ะ อาจจะทำให้เด็กไทยหลายคน “รักที่จะเรียนรู้” ก็เป็นได้
.
ทุกท่านลองคิดดูว่าจะเป็นอย่างไร หากประเทศไทยมีระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ที่น่าหลงใหล มีระบบสนับสนุน Edutainment ที่จะทำให้เด็กไทยสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลาแม้ว่ากำลังดูรายการทีวี ฟังพอดแคส อ่านหนังสือการ์ตูน หรือแม้กระทั่งนั่งเล่นเกมกับเพื่อน ซึ่งรัฐต้องจริงจังและส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาให้ระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ทุกด้าน รวมทั้งด้าน Edutainment เกิดขึ้นได้จริง
.
ไม่แน่ว่า Edutainment อาจจะเป็นอีกหนึ่งทางรอดและอาจเป็นหนึ่งทางออกในการปฏิรูปการศึกษาไทยก็เป็นได้