“อนุทิน” ย้ำพร้อมคลายล็อก หากสถานการณ์ปลอดภัย เผยไทยเดินหน้าวิจัยแพกซ์โลวิดแล้ว

“อนุทิน” นำ สธ.แถลง ย้ำ พร้อมคลายล็อกประเทศไทย หากสถานการณ์อยู่ในจุดปลอดภัย วางเป้า กุมภาฯ 65 ฉีดวัคซีนโควิด เด็ก 5 ขวบ เผย ไทยเดินหน้าวิจัยยาแพกซ์โลวิดแล้ว

วันที่ 14 มกราคม 2565 ที่ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ร่วมกันแถลงข่าวประเด็นสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย และมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข

นายอนุทิน กล่าวว่า ตนและผู้บริหารกระทรวงฯ ถือโอกาสในวันนี้ ชี้แจงกับประชาชนถึงสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน โดยนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์ มาสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนได้รับทราบ ข้อเท็จจริงคือ หลังปีใหม่ เป็นต้นมายอดการติดเชื้อมีจำนวนเพิ่มขึ้น และมีสายพันธุ์โอมิครอนเข้ามาในประเทศ แต่ก็พบว่า จำนวนผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องใช้เตียงไอซียู เครื่องหายใจแสดงถึงความรุนแรงของโรคนั้น ไม่เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ จากการศึกษาจากสถาบันต่างๆ ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ รายงานตรงกันว่า โควิด 19 สายพันธุ์ โอมิครอน แม้จะติดเชื้อได้ง่าย แต่ความรุนแรงไม่เท่ากับเดลต้า ข้อมูลตรงนี้ เป็นประโยชน์มาก ในการวางแผนรับมือกับสถานการณ์ต่อไป ซึ่งเราพร้อมสนับสนุนข้อเสนอจากคณะแพทย์ ของกระทรวงฯ จากสถาบันการแพทย์ การวิจัยต่างๆ รวมไปถึงทุกหน่วยงาน ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เพื่อให้มีมาตรการทำให้ประชาชนใช้ชีวิตอย่างปกติมากที่สุด

“ขอย้ำว่าเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว เรามีความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัย ทางกระทรวงจะเร่งทำการเสนอ ศบค.ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ให้มากและเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขณะเดียวกัน หากมีเหตุอันตรายต่อประชาชน กระทรวงฯก็พร้อมจะชี้แจง เสนอมาตรการเพื่อความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า ขอยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุข นำเสนอข้อเท็จจริง และไม่มีการปรุงแต่งตัวเลข ที่ผ่านมา เรารับทราบข้อมูลมาตลอด และนำเสนอออกไป ทั้งที่ทราบว่า อาจจะสร้างความตื่นตระหนก แต่ก็ถือเป็นการสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชน เพราะต้องการให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์ และจากข้อมูล จากภาควิชาการ วัคซีน ได้ทำงานแล้ว วัคซีน ทำให้เกิด ความปลอดภัย ช่วยลดอัตราการสูญเสีย ลดอาการป่วยหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ได้ให้นโยบายเชิญชวน ให้ผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดเข็มแรก ให้เร่งเข้ารับวัคซีน ด้วยการเปิดวอร์คอินตามสถานบริการด้านการสาธารณสุข สำหรับผู้ที่ยังปฏิเสธวัคซีน ขอให้มั่นใจว่า วัคซีนที่เรานำมาให้บริการล้วนปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ ใครก็ตาม ที่มารับวัคซีน ถือว่าท่านได้ทำประโยชน์เพื่อสังคมแล้ว อย่างน้อย ท่านก็ช่วยในการควบคุมโรคระบาด และทำให้ผู้ที่ยังลังเลในการมารับวัคซีนมีความกล้ามากยิ่งขึ้น

ไทยร่วมพัฒนาแพกซ์โลวิด

นายอนุทิน กล่าวว่า สิ่งที่ต้องเน้นย้ำ และให้ความสำคัญคือ การฉีดวัคซีน สามารถช่วยลดความรุนแรงของโรค และลดการสูญเสียได้ ดังนั้น ขอให้ประชาชนมารับวัคซีนตามที่กำหนด วัคซีนที่เรานำมาให้บริการประชาชน เป็นวัคซีนที่ได้มาตรฐาน ในอนาคต เราจะขยายการให้บริการให้ครอบคลุมกลุ่มช่วงอายุมากขึ้น โดยภายในเดือนกุมภาพันธุ์นี้ เราจะให้บริการวัคซีนแก่เด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป ซึ่งผู้ผลิตรายหนึ่งยืนยันแล้วว่า สามารถให้บริการได้ และทาง อย.ไทย ก็รับขึ้นทะเบียนแล้ว และในปัจจุบัน กำลังพิจารณา วัคซีนจากผู้ผลิตรายอื่นๆ ที่ยืนยันสรรพคุณว่าสามารถฉีดให้เด็กได้

ถ้าเรามั่นใจว่า วัคซีนนั้น มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย เราก็พร้อมจัดหาเข้ามา ในส่วนของเวชภัณฑ์ ทางกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมพร้อมอยู่ตลอด ท่านปลัด สธ. เป็นประธาน คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม ได้หารือกับทางฝ่ายนโยบาย เราจะไม่ให้มีการขาดแคลน ของเวชภัณฑ์ โดยเฉพาะยาสำคัญ อย่าง ฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งสำรองไว้จำนวนมาก นอกจากนั้น ยาตัวดังกล่าว เราสามารถผลิตได้เองจากสารตั้งต้นด้วย เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านเวชภัณฑ์อีกชั้นหนึ่ง

ขณะที่ทางกรมการแพทย์ และกรมควบคุมโรค ได้สำรองยาโมลนูพิราเวียร์ ไว้ เพราะเราต้องเก็บยาหลายประเภท หลายยี่ห้อไว้ เพื่อเป็นทางเลือก ในการรักษา เรามีแผนร่วมพัฒนายายาแพกซ์โลวิดกับสถาบันการแพทย์จุฬาภรณ์ ได้ตั้งคณะกรรมการร่วมพิจารณา เพื่อทำการวิจัย และผลิตสารตั้งต้น โดยทั้ง 2 หน่วยงาน ได้ประชุมร่วมกันมาในระดับหนึ่ง ขอย้ำว่า ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขไม่เคยประมาท เรายังทำงาน และเตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลา เราอยากจะเตรียมไว้ แล้วรอเก้อ เพราะไม่มีการระบาด แต่ถ้าต้องใช้ เราก็พร้อม ในเรื่องของมาตรฐานการรักษา กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องเข้ามาตรการกักตัว จะเร่งปรับปรุงให้เกิดความสะดวกขึ้น แนวทางการรักษา ปัจจุบันนี้ มีความชัดเจนมาก

ทาง สปสช. ก็พร้อมให้การดูแล รับผิดชอบ ค่าใช้จ่าย ที่จำเป็นตามสิทธิ์ เพื่อแบ่งเบาภาระประชาชน ขอย้ำว่า ตอนนี้ สถานการณ์ ต่างจากปีทีแล้ว ในปีก่อน เราพยายามนำทุกคนเข้าถึงเตียงในโรงพยาบาล แต่วันนี้ เรามีความเข้าใจแล้ว ว่าผู้ป่วยจำนวนมากไม่จำเป็นต้องรักษาพยาบาล จะมีแต่ผู้ป่วยที่อาการปานกลางถึงหนักเท่านั้น ที่ต้องเข้าถึงเตียง และการรักษาในระบบโรงพยาบาล ขณะที่ผู้ป่วย ซึ่งอาการน้อย ถึงไม่แสดงอาการเลย สามารถรักษาในระบบแยกกักตัวได้

วันนี้ เรามีประสบการณ์ มีความรู้ มีความพร้อม ส่วนเรื่อง ร.พ. สนาม ตอนนี้ ยังไม่มีการขยายเพิ่มเติม เราใช้ระบบการกักตัวในชุมชน ที่สามารถปรับพื้นที่เป็นโรงพยาบาลสนามได้ ในการจัดการกับสถานการณ์ จากนั้น ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการปรับมาตรการการกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้น้อยลงกว่า 14 วันหรือไม่ นายอนุทิน ตอบว่า ให้เป็นไปตามหลักฐานทางวิชาการ ถ้าหลักฐานบอกว่า กักตัวน้อยกว่านั้นได้ ก็พร้อมปรับ เพราะกระทรวงสาธารณสุข ต้องทำงานบนหลักการ