กล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์เว็บบ์ 3 แสนล้าน ทะยานสู่ภารกิจย้อนเวลาหาอดีต

เอพี รายงานว่า กล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์ ที่ทรงพลังและใหญ่ที่สุดในโลก มูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือเกิน 3 แสนล้านบาท โดยสารไปกับจรวดนำส่งอารีอาน 5 ทะยานขึ้นสู่อวกาศแล้วในวันคริสต์มาส 25 ธ.ค. จากฐานยิงเฟรนช์เกียนา ดินแดนในอาณัติของฝรั่งเศส ตรงชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้

“ช่างเป็นของขวัญคริสต์มาสที่มหัศจรรย์จริงๆ” โธมัส ซูร์บูเชน หัวหน้าภารกิจ เจมส์ เว็บบ์ สเปซ เทเลสโคป หรือ JWST ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา กล่าว

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ เป็นทายาทรุ่นที่สองของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล มีประสิทธิภาพและความไวสูงกว่าถึง 100 เท่า เนื่องจากมีขนาดของกระจกปฐมภูมิที่ใหญ่กว่า

กล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์
Ariane 5 rocket with NASA’s James Webb Space Telescope onboard, lifts off Saturday, Dec. 25, 2021, at Europe’s Spaceport, the Guiana Space Center in Kourou, French Guiana. (Chris Gunn/NASA via AP)

นาซาส่งกล้องนี้ไปกับจรวดที่ขึ้นสู่ห้วงอวกาศโดยไม่มีการโคจรรอบโลกก่อน เพื่อมุ่งตรงไปยังจุดหมายปลายทางอันแสนไกลจากโลก 1.6 ล้านกิโลเมตร

ทริปดังกล่าวจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 เดือน และรออีก 5 เดือน กว่าที่ดวงตาอินฟราเรดของกล้องจะเริ่มสแกนแหล่งกำเนิดหมู่ดาว โดยส่องทะลุทะลวงผ่านสิ่งกีดขวางในห้วงอวกาศ เช่น กลุ่มฝุ่นและก๊าซได้

กล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์
Launch teams monitor the countdown to the launch of Arianespace’s Ariane 5 rocket carrying NASA’s James Webb Space Telescope, Saturday, Dec. 25, 2021. (NASA/Bill Ingalls/NASA via AP)

กล้องเจมส์เว็บบ์แตกต่างจากดาวเทียมและกล้องโทรทรรศน์อวกาศอื่น  ที่โคจรรอบโลก เพราะวงโคจรของมันมีดวงอาทิตย์เป็นจุดศูนย์กลาง เพื่อให้คงอยู่ในตำแหน่งของจุดสังเกตการณ์ที่ห่างออกไปจากโลก และไกลจากโลกยิ่งกว่าดวงจันทร์ 4 เท่า

ระยะดังกล่าวจะทำให้กล้องอยู่ในห้วงอวกาศได้อย่างมีเสถียรภาพและประหยัดพลังงาน ทั้งยังสังเกตห้วงอวกาศลึกได้ชัดเจนขึ้นโดยมีโลกและดวงอาทิตย์อยู่ด้านหลัง

This photo provided by NASA, the James Webb Space Telescope is separated in space on Saturday, Dec. 25, 2021. (NASA via AP)

วัสดุที่สร้างกล้องเจมส์เว็บบ์ ประกอบด้วยกระจกมหาศาล และเกราะป้องกันแสงอาทิตย์ พับเก็บเข้าไปยังปลายจรวดนำส่งตรงปลายกรวยได้ด้วยวิธีเหมือนพับกระดาษญี่ปุ่น หรือ โอริงามิ เพราะหากไม่โดยสารไปในรูปแบบนี้ก็ไม่อาจจะเดินทางไปยังจุดหมายที่แสนไกลเพื่อทำหน้าที่เหมือนไทม์แมชชีน

FILE – In this April 13, 2017 photo provided by NASA, technicians lift the mirror of the James Webb Space Telescope using a crane at the Goddard Space Flight Center in Greenbelt, Md. (Laura Betz/NASA via AP, File)

เป้าหมายสำคัญของกล้องเจมส์เว็บบ์ คือการมองย้อนเวลาผ่านห้วงอวกาศลึก จนเห็นถึงชั่วขณะที่ดาวฤกษ์ดวงแรกถือกำเนิดขึ้นเมื่อราว 13,700 ล้านปีก่อน เริ่มฉายแสงในความมืดมิด หลังเกิดปรากฏการณ์บิ๊กแบงหรือกำเนิดจักรวาลได้ราว 100 ล้านปี ก่อนที่ดาราจักรหรือกาแล็กซีแห่งแรกจะเกิดขึ้นตามมาเมื่อราว 1,000 ล้านปีหลังเหตุการณ์บิ๊กแบง

บิล เนลสัน ผู้อำนวยการใหญ่ของนาซา เรียกกล้องเจมส์เว็บบ์ ว่าเป็นไทม์แมชชีน หรือเครื่องเจาะเวลาหาอดีตที่จะทำให้เรสเข้าใจถึงจักรวาลและการดำรงอยู่ของโลกในจักรวาลได้ดียิ่งขึ้น

In this image released by NASA, Arianespace’s Ariane 5 rocket with NASA’s James Webb Space Telescope onboard, lifts off Saturday, Dec. 25, 2021, at Europe’s Spaceport, the Guiana Space Center in Kourou, French Guiana (Chris Gunn/NASA via AP)

“เราเป็นใคร มาจากไหน เป็นการค้นหาที่ไม่มีที่สิ้นสุด เราจะได้ค้นพบเรื่องราวที่เหลือเชื่อซึ่งเราไม่เคยคาดคิดจินตนาการมาก่อน ยังมีเรื่องมากมายมหาศาลที่เราต้องทำงานและทำให้สมบูรณ์แบบ เรารุู้ว่ารางวัลที่ได้นั้นเป็นความเสี่ยงที่คุ้มค่า” เนลสันกล่าวที่ศูนย์อวกาศเคนเนดีในรัฐฟลอริดา