ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคกล้า ซัด ครบ 10 ปีนโยบายรถคันแรก เอื้อทุนใหญ่-ทำรถติด-คนฟุ่มเฟือย

ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคกล้า ฟาดหนัก ครบ 10 ปีนโยบายรถคันแรก เอื้อทุนใหญ่-ทำคนฟุ่มเฟือย-รถติด พร้อมเสนอโครงการ ‘ธุรกิจแรก’ (First Firm) ที่ส่งเสริม SMEs-สตาร์ตอัพ ชี้เป็นนโยบายที่ดีกว่า

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพมหานคร เขตคลองเตย-วัฒนา สังกัดพรรคกล้า เขียนบทความวิจารณ์ ครบรอบ 10 ปี นโยบายรถคันแรก โดยระบุว่า เป็นโครงการเอื้อกลุ่มทุนอย่างน่าเกลียด สร้างนิสัยฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ ให้กับประชาชน ก่อปัญหาทางสังคมทำรถติดยับ ในเมืองแทบอัมพาต

ยืนไว้อาลัย 10 ปี “รถคันแรก”… ดันนโยบาย “ธุรกิจแรก” กระตุ้นเศรษฐกิจคนตัวเล็กหลายทศวรรษ หลากรัฐบาล… ยังแก้ไม่หาย เรื่องการเอื้อกลุ่มทุนจากภาครัฐ หนุนไปสู่การผูกขาดในอุตสาหกรรม เป็นกันมาทุกยุค… ซึ่งไม่รู้วงจรอุบาทว์นี้ จะไปสุดหยุดตรงไหน …หลายท่านโวยผม ทำไมไปซักไซร้ เอาความจริงมาซัดใส่กลุ่มทุนอย่าง …. บริษัทเดียว.. บอกได้ตรงนี้ ไม่ว่ากลุ่มธุรกิจอะไร – สัญชาติไหน ถ้าสิ่งที่เค้าทำนำไปสู่การผูกขาด ซึ่งทำให้การต่อสู้ในระบบเสรีทุนนิยมไม่เป็นธรรม เราประชาชนมีสิทธิพูด-วิพากษ์ ยืนหยัดต่อสู้กับระบบนี้อย่างเต็มที่

ครบรอบ 10 ปีพอดี… ทำให้ผมนึกถึงนโยบายจากรัฐบาล ที่ออกเมื่อปี 2554 ที่ออกจะดูไร้เหตุผล และเอื้อหนุนกลุ่มทุนใดทุนหนึ่ง อย่างน่าเกลียด คือโครงการ “รถคันแรก” โดยรัฐบาลในสมัยนั้น โดยให้เหตุผลว่าเพราะเกิดวิกฤตน้ำท่วมหนัก ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ (ญี่ปุ่น) ในไทย เสียหาย

เป็นอีกหนึ่งอภิมหาโครงการประชานิยม ที่อาจไม่มีรัฐบาลไหนกล้าทำอีกแล้ว สำหรับการซื้อรถยนต์แล้วสามารถนำไปขอคืนภาษีกับกรมสรรพสามิตได้สูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท …นโยบายดังกล่าวดูแล้วนอกจากเป็นการเอื้อประโยชน์กับนายทุนแบบโจ่งแจ้งแล้ว ยังสร้างนิสัยฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อให้กับประชาชน เพราะตอนนั้นขนาดพนักงานรายได้ต่ำ อย่างพนักงานรับจ้างรายวัน ยังถอยรถป้ายแดงกันออกมาไม่หยุดหย่อน.. นี่ยังไม่นับเรื่องปัญหาทางสังคมทำรถติดยับๆ ในเมืองแทบอัมพาต และก่อให้ควันดำเพิ่มมลพิษ ให้สิ่งแวดล้อม ทั้งๆ ที่ทั้งโลกเค้ารณรงค์กันโครมๆ

สิริรวมโครงการ “รถคันแรก” จาก 16 ก.ย. 2554 – 31 ธ.ค. 2555 …มียอดรวมรถคันแรกที่ขอคืนภาษีทั้งสิ้น 1.255 ล้านคัน คิดเป็นเงินที่รัฐบาลต้องคืนภาษีรวม 9.1 หมื่นล้านบาท สูงกว่าที่ตั้งเป้าไว้ในช่วงแรก 3 หมื่นล้านบาท ถึง 3 เท่าตัว …จนทำให้การจ่ายเงินคืนภาษี ของกรมสรรพสามิตมีปัญหาฝืดเคืองขึ้นมาเลย

ไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อม… นโยบายรถคันแรก โดยท่าน รมว.กระทรวงคมนาคม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ …ทำให้ตัวเลขรายได้รวมของกลุ่ม…… ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ชั้นนำในเอเชีย เติบโตสูงสุดที่ 7.5 หมื่นล้านบาท ในปี 2555 ในปีที่ธุรกิจภาคส่วนอื่นล้มลุกคลุกคลาน.. ส่งผลให้ยอดผลิตรถยนต์ในประเทศสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ถึง 2.4 ล้านคัน… ทั้งที่ตัวเลขผลิตรถยนต์เฉลี่ยต่อปี ได้เพียง 1 ล้านกว่ามาตลอด (ยกเว้นปี 61 ที่ผลิตได้ 2.1 ล้านคัน/ปี) และตัวเลขก็ไม่เคยมาแตะจุดนั้น จนถึงปัจจุบัน

ทำไมเราไม่คำนึงถึงคนส่วนใหญ่ ทำไมถึงสนับสนุน “รถคันแรก” เพื่อบริษัทรถญี่ปุ่น เพื่อกลุ่มทุนขายอะไหล่ ทำไมบอกเท่าเทียม แต่ไม่เท่ากัน ..ในเมื่อทุกอุตสาหกรรม ต่างก็เจ็บตัวทั้งนั้น …โครงการดีๆ ที่เอื้อกลุ่มทุนเล็กๆ คนธรรมดาที่มีความสามารถ มีบ้างมั้ย…?

นี่เลย โครงการ “ธุรกิจแรก” (First Firm) ที่ส่งเสริม SMEs – สตาร์ตอัพ ทำให้ทุกคนในประเทศไทย มีสิทธิมีเสียง สามารถเป็นผู้ประกอบการเริ่มแรก โดยใช้มาตรฐานแบบ Sandbox Mode คือภายใต้สภาพที่ผู้ประกอบการหน้าใหม่สามารถลองผิดลองถูกได้… ไม่ใช่มาถึงเจอการเก็บภาษี และสงครามกีดกันจากเจ้าตลาดยักษ์ใหญ่แบบชุดใหญ่ไฟกะพริบตั้งแต่แรกเริ่ม

ยกตัวอย่าง เมื่อเข้าโครงการ “ธุรกิจแรก” ◾ ยกเว้นฐานภาษี 1 ปี และทยอยเก็บเพิ่มปีหน้า ◾ รัฐเป็น Incubator ตัวกลางบ่มเพาะธุรกิจ แบบที่เมืองนอกเค้ามีกัน ใช้หน่วยงานที่มีอย่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, กรมส่งเสริมการส่งออก, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, กรมส่งเสริมการเกษตร หรือแม้กระทั้งศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ TCDC และสำนักนวัตกรรม NIA ช่วยเหลือผู้ประกอบการ

ให้ความรู้เบื้องต้นเมื่อเริ่มทำธุรกิจ – การคิดภาษี – การหาแรงงาน – ให้ข้อมูลโรงงานและแหล่งผลิต

ข้อดี ส่งเสริมให้ธุรกิจใหม่ไปให้รอดในระยะยาว เพราะตามสถิติ หากธุรกิจใหม่สามารถดำรงผ่านปีแรก มีแนวโน้มเกิน 70% ที่จะอยู่รอดปลอดภัยตลอดอีก 5 ปีข้างหน้า ..เป็นการสร้างความเจริญแบบยั่งยืนจากกลุ่มธุรกิจเล็ก – ขนาดกลาง ซึ่งเป็นเส้นเลือดฝอยหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจ สามารถจูงใจให้ทุกธุรกิจย่อยๆ ที่ยังไม่อยู่ในระบบ ให้เข้ามาอยู่ในระบบจัดเก็บภาษีของรัฐได้.. ทั้งร้านเล็กๆ ตามอินสตาแกรม, ไลน์, เฟซบุ๊ก หรือกลุ่มคนรับฟรีแลนซ์อิสระก็ตาม สิ่งที่รัฐต้องปรับมากที่สุดก็คือ Mindset (มโนคติ) ใหม่: รัฐต้องทำหน้าที่เหมือนเป็นเซลส์แมน ให้มองภาษีเงินได้ 20% ที่เก็บจากบริษัททั่วไป กลายเป็นเหมือนเป็นค่าคอมมิสชั่น… รัฐสนับสนุนให้เค้าอยู่รอดก่อนในปีแรก.. มีกำไรเยอะ ตัวเองจึงจะเก็บภาษีได้เยอะ.. ไม่ใช่แค่ปล่อยให้ตาย ภาษีเก็บไม่ได้ และไม่มีใครได้อะไร

แค่ปรับความคิด ละทิ้งผลประโยชน์ส่วนตัว แล้วคำนึงถึงผลประโยชน์รวมของชาติเป็นหลัก ไม่ใช่ผลประโยชน์ครอบครัวใด ครอบครัวหนึ่ง เราทุกคน ถึงจะชนะไปด้วยกัน…