เผยแพร่ |
---|
กรุงเทพฯ 12 พฤศจิกายน 2564 – สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เดินหน้ายกระดับศักยภาพทางนวัตกรรมให้กับกลุ่มเยาวชน โดยเข้าร่วมจัดกิจกรรม “TREASURE TOWN ขุมทรัพย์มหาสนุกจากของ (ไม่) ไร้ค่า” ในงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2564” ซึ่งจัดขึ้นบนแนวคิด “ศิลปะ วิทยาศาสตร์ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์: Art – Science – Innovation and Creative Economy พร้อมมุ่งขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม หรือ BCG Model ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวมีเป้าหมายในการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงนวัตกรรมให้กับกลุ่มเยาวชน พร้อมสร้างแรงขับเคลื่อนนวัตกรรมในด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีกิจกรรมไฮไลท์ทั้งสิ้น 11 วัน เยาวชนที่สนใจสามารถเข้าร่วมได้ผ่านทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์บน https://www.steam4innovatorvr.com และอาคาร 9-12 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ตั้งแต่วันนี้ -19 พฤศจิกายน 2564
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า NIA มีเป้าหมายในการสร้างภาพลักษณ์และผลักดันให้ประเทศไทยเป็น 1 ในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางนวัตกรรม ซึ่งแนวทางที่สำคัญหนึ่งคือการยกระดับทักษะของทรัพยากรมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางภาครัฐและเอกชน ผู้ประกอบการ รวมถึง “เยาวชน” โดยที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า NIA พยายามผลักดันเยาวชนไทยให้มีความสามารถทางนวัตกรรมผ่านหลักสูตรและองค์ความรู้ใหม่ ๆ การสนับสนุนให้เกิดมหาวิทยาลัยแห่งผู้ประกอบการ การผลักดันการเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพ รวมถึงการนำเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้โจทย์ทั้งในมิติสังคมและเศรษฐกิจ พร้อมยกระดับแนวคิดให้สามารถก้าวไปสู่นวัตกรรมที่สร้างมูลค่าและประโยชน์ได้จริง ซึ่งแนวทางเหล่านี้เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อสร้างโอกาสทางด้านนวัตกรรมให้กับกลุ่มเยาวชนเพิ่มมากขึ้น ล่าสุด NIA ได้ร่วมจัดกิจกรรม “มหกรรมวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2564” ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นบนแนวคิด “ศิลปะ วิทยาศาสตร์ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์: Art – Science – Innovation and Creative Economy พร้อมมุ่งขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม หรือ BCG Model โดย NIA จัดเป็นนิทรรศการ TREASURE TOWN ขุมทรัพย์มหาสนุกจากของ (ไม่) ไร้ค่า สถานีการเรียนรู้ที่จะชวนเด็ก ๆ ตะลุยเมืองคู่ขนาน เพื่อเผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันและค้นหาคำตอบการจัดการสิ่งของไร้ค่าในชุมชนและสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นนวัตกรรมโดยอาศัยหลักการของ “STEAM4INNOVATOR” ที่ใช้ความรู้ความเข้าใจของศาสตร์และศิลป์ ทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ ศิลปะ และคณิตศาสตร์ มาประยุกต์และสร้างสรรค์ผลงานบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีมิติของการประกอบธุรกิจนวัตกรรมอยู่ด้วย ผ่านกระบวนการ 4 ขั้นตอน ประกอบไปด้วย ขั้นตอนที่ 1 STEAM + Insight (รู้ลึก รู้จริง) ขั้นตอนที่ 2 Wow Idea (สร้างสรรค์ไอเดีย) ชมโซนนวัตกรรมเพื่อนำสิ่งของมาสร้างสรรค์เป็นสินค้านวัตกรรมชิ้นใหม่ ขั้นตอนที่ 3 Business Model (แผนพัฒนาธุรกิจ) และขั้นตอนที่ 4 Production & Diffusion (การผลิตและการกระจาย)
ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมดังกล่าวเป็นแบบผสมผสานทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เด็ก ๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรม จะได้เรียนรู้และสนุกกับการทำภารกิจในแต่ละด่านที่สะท้อนการพัฒนาสิ่งแวดล้อมรอบข้างและชุมชนในชีวิตจริงได้ โดย NIA ได้จำลองสถานการณ์ปัญหาขยะล้นเมือง และสอดแทรกความรู้และความเข้าใจพื้นฐานของหลักการ STEAM4INNOVATOR เพื่อให้เด็ก ๆ เข้าใจถึงปัญหาของผลกระทบของขยะที่มีต่อสังคม การเรียนรู้การจัดการขยะเบื้องต้นผ่านคัมภีร์ 7R ซึ่งประกอบด้วย Reduce (ลดใช้) Reuse (ใช้ซ้ำ) Refill (เติม) Return (คืน) Repair/Repurpose (ซ่อมแซม/เปลี่ยนวัตถุประสงค์การใช้งาน) Replace (แทนที่) และ Recycle (นำกลับมาใช้ใหม่) การเพิ่มความรู้ความเข้าใจในการแยกขยะทั้ง 4 ประเภท การสร้างและทดสอบชิ้นงานต้นแบบ วางแผนธุรกิจ พร้อมนำไอเดียมาสร้างเป็นชิ้นงาน ตลอดจนการนำเสนอผลงานเพื่อเพิ่มมูลค่าผลงานนวัตกรรมที่อาจเกิดขึ้นจริงในอนาคต ซึ่งจะมีกิจกรรมทั้งหมด 11 วัน เด็ก ๆ และเยาวชนสามารถเข้าร่วมได้ผ่านทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ผ่าน https://www.steam4innovatorvr.com และอาคาร 9-12 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ตั้งแต่วันนี้ -19 พฤศจิกายน 2564
“NIA ยังคงมุ่งเติมศักยภาพด้านนวัตกรรมให้กับกลุ่มเยาวชนอย่างเข้มข้น รวมถึงผลักดันกลุ่มดังกล่าวให้มีส่วนร่วมในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากตระหนักดีว่าคนรุ่นใหม่มีไอเดียที่สร้างสรรค์ และเติบโตมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง สามารถเข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเรื่องสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงยังมุ่งเป็นหน่วยงานที่พร้อมรับฟังความคิดเห็นและสนับสนุนการนำไอเดียใหม่ ๆ มาต่อยอดให้เป็นนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งในระดับสังคม เศรษฐกิจ ภาคบริการสาธารณะ ซึ่งมั่นใจว่าการส่งเสริมของหน่วยงานและเครือข่ายที่มีอย่างต่อเนื่อง จะช่วยผลักดันให้เกิดกลุ่มนวัตกร สตาร์ทอัพ รวมทั้งผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมที่มีศักยภาพในอนาคตอันใกล้นี้” ดร.พันธุ์อาจ กล่าวสรุป
#NIA #สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ #นวัตกร #STEAM4INNOVATOR #นวัตกรรมสิ่งแวดล้อม