สำรวจปฏิกิริยา หลังคำวินิจฉัยศาลรธน. ปราศรัยปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ล้มล้างปกครอง

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 หลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถูกประกาศโดยมติ 8 ต่อ 1 ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ต่อคำปราศรัยการชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในเวที ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ณ ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยเฉพาะคำปราศรัยของ อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ภาณุพงศ์ จาดนอก และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนากุล ปราศรัยการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ รวมถึงข้อเสนอ 10 ข้อ นั้นเป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองและให้เลิกกระทำการลักษณะดังกล่าวเสีย ได้เกิดปฏิกิริยาทั้งในเชิงส่งเสริมกับฝ่ายผู้สนับสนุนรัฐบาลใช้เป็นช่องทางในการจัดการกับพรรคการเมืองและนักการเมืองที่สนับสนุนการชุมนุมทางการเมือง และในเชิงคัดค้านจนถึงไม่ยอมรับคำตัดสิน พร้อมกับเกิดความกังวลถึงสถานะของประชาธิปไตยในไทยกำลังถูกทำลาย จากกลไกรัฐจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่สนับสนุนฝ่ายอำนาจนิยม จนทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ตกลงแล้วประเทศไทยกำลังปกครองด้วยระบอบอะไร?

ณฐพร-ไพบูลย์ ฉวยจังหวะ ยื่น กกต.จัดการพรรค-นักการเมืองสนับสนุนม็อบ

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ได้คำตัดสินจากศาลรัฐธรรมนูญจากการยุบพรรคประชาชนปฏิรูปของตัวเองแล้วเข้าร่วมกับพลังประชารัฐนั้นชอบด้วยกฎหมาย กล่าวว่า คำวินิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นเชื่อว่าจะทำให้เกิดความมั่นคงในสถาบันของชาติ และผลคำวินิจฉัยดังกล่าวจะมีผลผูกพันต่อทุกองค์กร ทั้งตำรวจ, อัยการ และศาลยุติธรรมด้วย ดังนั้นในความเห็นทางกฎหมายตนมองว่าหากพบบุคคลที่กระทำพฤติกรรมตามที่ศาลวินิจฉัย เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะพิจารณาว่ามีพรรคการเมืองใดที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายด้วยหรือไม่ เพราะจะโยงกับลักษณะของมาตรา 92(1) และ (2) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง

เมื่อถามว่ากรณีที่ก่อนหน้านี้พบนักการเมืองเข้าร่วมการชุมนุมที่เข้าข่ายเป็นพฤติกรรมตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยจะมีความผิดด้วยหรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของกกต.​ต้องพิจารณา แต่จะเข้าข่ายผิดหรือไม่ต้องพิจารณาเป็นรายกรณี โดยทางกฎหมายนั้นมีฐานที่พิจารณาได้คือ ความผิดตามกฎหมายอาญา และ ผิดจริยธรรมของนักการเมือง ที่กำหนดให้เป็นค่านิยมหลัก ต่อการยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ

ด้านณฐพร โตประยูร ผู้ยื่นให้วินิจฉัยคำปราศรัยปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และเป็นคนเดียวกันกับที่เคยยื่นร้องศาลรธน.วินิจฉัยพรรคอนาคตใหม่จากรณี “อิลลูมินาติ” กล่าวยอมรับว่าหลังมีคำตัดสินชี้ขาดมาส่วนตัวไม่ได้สบายใจ หรือสุขใจ เพราะไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ในประเทศไทย และไม่ต้องการให้มีกระบวนการที่อยู่เบื้องหลังการล้มล้าง ทำลายสถาบัน

“มั่นใจต่อคำร้องนี้ เนื่องจากมีพยานหลักฐาน ปัจจุบันมีกระบวนการชักศึกเข้าบ้าน นำองค์กรต่างชาติเข้ามาดำเนินการกับประเทศไทย พร้อมกับตั้งคำถามว่า การลบล้างสถาบันประชาชนได้อะไร ซึ่งหากเป็นการดำเนินการเพื่อปัญหาปากท้องของประชาชน จะเกิดประโยชน์กว่า ส่วนตัวอยากให้แก้ไขปัญหาเรื่องสัญญาณดาวเทียม น้ำมัน จะดีกว่า” นายณฐพร กล่าว

สำหรับข้อเสนอการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของฝ่ายการเมือง ยืนยันว่าจากคำวินิจฉัยจะทำให้คำร้องเอาผิดและยุบพรรคก้าวไกลดำเนินการได้ หลังตนได้ยื่นคำร้องกับ กกต.ไว้ตาม มาตรา 92 เชื่อว่า กกต.จะขอคัดถ่ายสำเนาคำวินิจฉัย ไปดำเนินการเนื่องจากพรรคการเมือง และส.ส.ของพรรคดังกล่าวให้การสนับสนุนทางการเงิน และการประกันตัวผู้ต้องหา รวมถึงอ้างว่ามีการไปร่วมชุมนุม ถือเป็นความผิด ซึ่งเชื่อมั่นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวันนี้จะเป็นสารตั้งต้นในการฟ้องร้องเอาผิดต่อผู้กระทำการละเมิดต่อสถาบัน

ความกังวล-เสียงวิจารณ์ จนถึงไม่ยอมรับคำตัดสิน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตามมาอาจถือว่า มากกว่าครั้งที่ ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ในปี 2563 เพราะหลังคำตัดสินล่าสุด เสียงวิจารณ์เกิดขึ้นในทันที จากกลุ่มผู้ชุมนุมที่เฝ้ารอคำวินิจฉัยก็แสดงความไม่พอใจและประกาศไม่ยอมรับคำวินิจฉัย

เช่นเดียวกับ บนโลกโซเชียลก็แสดงความไม่พอใจกับคำวินิจฉัย พร้อมกับวิจารณ์เนื้อหาการวินิจฉัยที่ทำลายหลักการประชาธิปไตยและบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน”

หรือแม้แต่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่เป็นศิษย์เก่าของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ยังวิจารณ์และแสดงความผิดหวังกับหนึ่งใน 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เคยเป็นอดีตอาจารย์ของสถาบันด้วย

รศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความกังวลผ่านทวิตข้อความหลังคำวินิจฉัยว่า คำตัดสินของศาลแบบนี้ แปลความได้ว่า เด็กๆทั้งหลายจงยอมแพ้ โดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ต้องส่งเสียงร้องใดๆ จงอย่าคิดอย่าหวังผลักดันการปฏิรูปใดๆ จงกลับไปใช้ชีวิตแบบอยู่ไปวันๆเหมือนเดิม เพื่อให้ระบบเดินดำรงอยู่ต่อไปอย่างถาวร

ส่วนรศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความเห็นว่า ถ้าผู้พิพากษาและองค์กรตุลาการซีเรียสกับเรื่อง “ล้มล้างการปกครอง” จริง และต้องการทำให้ระบบกฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ ควรรีบนำตัวผู้ที่เกี่ยวข้องกับคมช.และการรัฐประหาร 2549 รวมถึงคสช.และการรัฐประหาร 2557 ทุกคนมาดำเนินคดีและพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต และยังกล่าวว่า คำตัดสินวันนี้: 1.เขียนรธน.ขึ้นมาใหม่เสียเองโดยคณะบุคคลที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน 2.สร้างหลักการปกครองแบบใหม่ที่ออกนอกกรอบ constitutional monarchy 3. ทำลาย/บิดเบือนหลักการ constitutional monarchy ที่บัญญัติใน รธน.ของไทยและสากล 4.ทำลายหลักการเรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน

ด้านกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายกลุ่มที่มีบทบาทเคลื่อนไหวในปี 63-64 หลายกลุ่มได้แถลงจุดยืนไม่ยอมรับคำตัดสิน ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มราษฎร กลุ่มทะลุฟ้า กลุ่มเยาวชนปลดแอก จนถึงราษฎรโขงชีมูล

ขณะที่ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกแถลงการณ์แสดงความผิดหวังต่อคำวินิจฉัย โดยระบุว่า

แถลงการณ์องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณี ข้อเสนอ 10 ข้อปฏิรูปสถาบัน

สืบเนื่องจากคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 กรณีข้อเสนอ 10 ข้อปฏิรูปสถาบันที่ปรากฏครั้งแรกในงานชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นการล้มล้างการปกครองนั้น ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นและตีค่าเจตนาอันดีที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก เรารู้สึกเสียใจต่อการกระทำของพวกท่านในครั้งนี้ และมองว่าเป็นการกระทำที่ผิดพลาดอันจะส่งผลเสียอย่างประเมินค่ามิได้ต่อระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นธรรมดาที่ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องเผชิญ ท่ามกลางกระแสครอบโลกที่แปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในทุกวินาที การเปลี่ยนแปลงจะช่วยธำรงให้สิ่งต่างๆ คงอยู่ได้และดำเนินไปอย่างสถาพร ข้อเสนอ 10 ข้อดังกล่าวจะช่วยสร้างความยอมรับและก่อให้เกิดฉันทามติของคนในชาติ สลายความขัดแย้งที่เกิดขึ้นแต่พวกท่านหาได้คำนึงถึงจุดนี้ไม่ เสียงร้องกู่ก้องของประชาชนและเยาวชนทั้งหลายผู้มีเจตนาที่ดีกลับถูกเอาไปปลุกปั่นว่าสร้างความขัดแย้ง บ้านเมืองของเราจะดำรงอยู่ได้ก็เพราะทุกคนร่วมมือร่วมใจและรับฟังซึ่งกันและกัน เหตุการณ์ดังกล่าวจะเป็นตราบาปที่ติดตัวพวกท่านไปจนถึงวันที่พวกท่านตายจากโลกนี้ไป เราจะขอจดจำสิ่งที่ท่านทำไว้และไม่ให้อภัยถึงสิ่งที่ท่านกระทำ

ด้วยความเสียใจยิ่ง

องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
10 พฤศจิกายน 2564

ทั้งนี้ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้สัมภาษณ์กับรายการ The Politics ของมติชนทีวี เมื่อวานนี้ (10 พ.ย.64)  โดยได้้กล่าวตอนหนึ่งว่า การเคลื่อนไหวของเยาวชนกำลังเจออุปสรรคชิ้นใหญ่ที่มาขัดขวาง แต่กลุ่มคนที่ล่าชื่อ(ยกเลิกม.112) ก็จะไม่หยุด อยากฟ้องก็ฟ้องไป กลุ่มเยาวชนก็ไม่ได้เกรงกลัวการเผชิญหน้ากับกระบวนการยุติธรรม

เมื่อถามถึงทางออกของการพบครึ่งทาง รศ.ดร.พวงทองกล่าวว่า เขาไม่ประนีประนอม ไม่ยอมปฏิรูป ไม่ยอมปรับตัวอะไรทั้งสิ้น ขณะที่เยาวชนเองก็เห็นว่า สังคมที่เป็นอยู่ไม่มีอนาคต ไม่มีทางออกภายใต้ระบอบเป็นที่อยู่ ที่เข้ามาด้วยการเล่นพรรคเล่นพวก การอุปถัมภ์ ซึ่งคนที่เข้ามาด้วยวิถีทางนี้ไม่ใช่คนที่มีความสามารถ มุ่งไปสู่การรวมศูนย์อำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ มีแต่ทุนใหญ่ที่ผูกขาด มีการศึกษาหลายชิ้นระบุชัดว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่รัฐประหาร 49 มีแต่ทุนใหญ่ร่ำรวยมากขึ้น ประชาชนกลับตกต่ำ เยาวชนเห็นสิ่งที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ จะให้อยู่โดยไม่ทำอะไรงั้นเหรอ ต่อให้หนีไปอยู่ที่อื่นได้ ก็จะสู้เพื่อสังคมของเขา