จุรินทร์ ไม่ห่วงส่งออก แนะไทยเที่ยวไทย ดันจีดีพี ควบคู่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

พร้อมเปิดประเทศ! “จุรินทร์” แนะไทยเที่ยวไทยดัน GDP ในประเทศ คู่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่ห่วงส่งออกปี 2564 เน้นเอกชนเกาะติดข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ
เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 16 ตุลาคม ที่โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อม นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายเมธี อรุณ นักร้องนำวงลาบานูน ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายการเปิดประเทศว่า เป็นเรื่องที่หนีไม่พ้น เพราะการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจกับโควิดต้องไปด้วยกัน โจทย์ 2 ข้อนี้ จะต้องทำไปพร้อมกัน เมื่อถึงเวลาที่สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย การเดินหน้าเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องจำเป็น

ในเศรษฐกิจตอนนี้มี 3 เรื่อง 1.เร่งรัดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น 2.การท่องเที่ยวที่ชะงัก จากนี้ไปการท่องเที่ยวนอกจากเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ซึ่งไทยเที่ยวไทยเป็นอีกประเด็นที่ตนคิดว่าต้องสนับสนุน เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนนักท่องเที่ยวเดินทางข้ามจังหวัดในประเทศไทยด้วยกันเอง และจะเป็นตัวกระตุ้นให้การท่องเที่ยวเติบโตได้อีกครั้งไม่เช่นนั้นจะกระทบ GDP

และ 3.การส่งออก ซึ่งไม่คิดว่าน่าเป็นห่วง เพราะทำงานร่วมกับเอกชนเต็มที่มีผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมชัดเจนเชื่อว่าหลังจากเดือนกันยายน อาจกระทบตัวเลขส่งออกบ้างแต่ยังเป็นบวกแน่นอน แต่เดือนตุลาคม-ธันวาคมนี้ จะดีขึ้นไปอีก ตัวเลขการส่งออกปี 2564 ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เอกชนกับกระทรวงพาณิชย์จับมือกันแน่นเราเดินหน้าแก้ปัญหาเชิงรุกรวดเร็วมาก

และเรื่องเศรษฐกิจอื่นๆ กระทรวงพาณิชย์และตนเตรียมการล่วงหน้า เราไม่ทำเฉพาะเรื่องการทำตัวเลขส่งออกเพียงอย่างเดียว แต่เราติดตามเฝ้าระวังภาวะเศรษฐกิจของประเทศเดินไปข้างหน้าในอนาคตด้วย เช่น 1.เศรษฐกิจของประเทศ Bio Economy มีความสำคัญอย่างยิ่ง คือ เศรษฐกิจชีวภาพที่เรามีต้นทุนความหลากหลายทางชีวภาพสูง และมีวัตถุดิบปัจจัยเงื่อนไขในประเทศสูง เราสามารถขับเคลื่อนไปได้

2.เรื่องนวัตกรรมเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เราต้องหน้าต่อไป 3.ระบบการค้าขายแบบอีคอมเมิร์ซเป็นเรื่องที่ต้องรีบศึกษาทำความเข้าใจ เพราะข้อตกลงระหว่างประเทศทุกข้อตกลงมีการระบุเงื่อนไขเรื่องอีคอมเมิร์ซในนั้น ข้อตกลงระหว่างประเทศทั้ง FTA พหุภาคี เช่น RCEP หรือ APEC ภาคเอกชนต้องเร่งศึกษา และกระทรวงพาณิชย์ตนเป็นที่ประธานการประชุมรัฐมนตรีการค้าระหว่างประเทศและ APEC ตนก็นั่งเป็นประธาน เอกชนและทุกฝ่ายจะต้องติดตามประเด็นเพราะไปข้างหน้าเร็วมากทุกฝ่ายต้องเรียนรู้ไปพร้อมกันเพื่อเตรียมการให้เศรษฐกิจไทยในอนาคต

และสุดท้ายต้องติดตามสถานการณ์การเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพราะขณะนี้มีการแบ่งค่ายทางเศรษฐกิจการเมืองในระหว่างประเทศมหาอำนาจทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน ออสเตรเลีย หรือกลุ่มประเทศอื่นๆ เพื่อกำหนดสถานการณ์สถานภาพของประเทศไทยว่าจะต้องยืนอยู่ตรงไหนและความสมดุลในการสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศทางเศรษฐกิจและการเมืองอยู่ตรงจุดใด จะเป็นการบ้านที่เราต้องทำต่อไป