‘วิโรจน์’ จี้ ศธ.จริงจัง ปรับหลักสูตรเรียนออนไลน์ แนะจำกัดการบ้าน-ตัดวิชาไม่เหมาะออก

จี้ ศธ. จริงจังปรับหลักสูตรเรียนออนไลน์ ‘วิโรจน์’ แนะประกาศจำกัดการบ้านให้ชัด ตัดวิชาไม่เหมาะออก จัดงบใหม่ เยียวยาความสูญเสีย เพื่อสร้างความปกติใหม่ในระบบการศึกษา

วันที่ 6 กันยายน 2564 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงเสียงสะท้อนจากปัญหาการเรียนออนไลน์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ สร้างภาระให้กับผู้ปกครอง โรงเรียนและครูในหลายด้าน แต่ไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นว่า ต้องยอมรับว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่รุนแรง ยืดเยื้อ ยาวนาน และมีความเป็นไปได้สูงว่า การระบาดของโรคยังคงต้องทอดยาวในระดับที่ไม่สามารถวางใจได้ต่อไปอีกหลายเดือน

มาตรการการเรียนออนไลน์ที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เป็นเพียงมาตรการในระยะสั้นเท่านั้น เพราะด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เกิดขึ้นกับทั้งโรงเรียน และครอบครัวของนักเรียน การเรียนออนไลน์ภายใต้หลักสูตรที่ไม่ได้ปรับปรุงอะไรเลย นอกจากจะไม่ได้ประสิทธิผลอย่างที่ควรจะเป็นและส่งผลเสียต่อเจตคติต่อการเรียนรู้แล้ว ยังจะเป็นการซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย นักเรียนที่เข้าไม่ถึงทรัพยากรกร ก็จะยิ่งถูกทิ้งห่างมากขึ้น เมื่อเทียบกับนักเรียนที่มีเศรษฐสถานะที่ดีกว่า

วิกฤตทั้งนี้ วิโรจน์ จึงมีข้อเสนอแนะต่อกระทรวงศึกษาธิการว่า กระทรวงศึกษาธิการ ควรปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เพื่อให้มีความเหมาะสมต่อการเป็นมาตรการในระยะยาว ที่ตอบโจทย์กับปัญหาความเหลื่อมล้ำได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น
.
1. ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นกรณีเฉพาะ โดยให้สอนเฉพาะวิชาหลักเท่านั้น ได้แก่ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์ สำหรับวิชาอื่นๆ ที่การเรียนการสอนไม่เหมาะกับการเรียนแบบออนไลน์ เช่น สังคมศึกษา ศิลปะ ดนตรี พลศึกษา สุขศึกษา การงานอาชีพ พระพุทธศาสนา หน้าที่พลเมือง ลูกเสือ และเนื้อหาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการทดลองในห้องปฏิบัติการ และการฝึกปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายอาชีวศึกษา ให้พิจารณาพักการเรียนการสอนไว้ก่อน แล้วให้ปรับรูปแบบการเรียนการสอน ให้อยู่ในรูปแบบที่บูรณาการวิชาเหล่านี้เข้าด้วยกัน แล้วจัดการเรียนการสอนที๋โรงเรียน ในรูปแบบกิจกรรม เมื่อโรงเรียนสามารถเปิดได้ สำหรับนักเรียนที่เรียนในระดับชั้นที่เป็นปลายช่วงชั้นที่ไม่สามารถเลื่อนการเรียนการสอนได้ อาจจำเป็นต้องเรียนแบบออนไลน์ แต่ก็ควรปรับการเรียนการสอนให้อยู่ในรูปแบบบูรณาการหลายวิชาเข้าด้วยกัน เพื่อลดเวลาเรียนลง
.
2. กระทรวงศึกษาธิการ ควรมีออกประกาศอย่างจริงจัง เพื่อให้โรงเรียนจำกัดการสั่งการบ้าน และรายงาน ที่เป็นภาระแก่นักเรียน โดยการบ้านควรมีเฉพาะในวิชาหลักเท่านั้น และไม่ควรสั่งการบ้านที่เป็นภาระแก่นักเรียน และไม่ตอบวัตถุประสงค์การเรียนรู้ อาทิ การให้นักเรียนถ่ายคลิปการเดาะลูกตระกร้อ ถ่ายคลิปการรำต่างๆ ซึ่งเป็นภาระแก่พ่อแม่ ผู้ปกครองเป็นอย่างมาก
.
3. ปรับเปลี่ยนรูปแบบการประเมินผล ให้ใช้การสอบ กับเฉพาะวิชาหลัก เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์ เท่านั้น สำหรับวิชาอื่นๆ ไม่ได้พักการเรียนเอาไว้สอนในเทอมหน้า ให้ใช้การประเมินผลด้วยวิธีอื่น เช่น การตอบคำถามท้ายคาบ การมีส่วนร่วมในชั้นเรียน หรือวิธีการอื่นๆ ที่ไม่ใช่การสอบ และไม่ใช่การมอบหมายรายงาน ที่เป็นสร้างภาระให้กับนักเรียน
.
4. กระทรวงศึกษาธิการ ควรจัดทำสื่อการเรียนรู้กลางที่มีคุณภาพ พร้อมเอกสารประกอบการเรียนการสอนที่ครบถ้วน ในทุกรายวิชา ทุกระดับชั้น ที่นักเรียนทุกคนทั่วประเทศ สามารถใช้ในการเรียนรู้ด้วยตนเองได้ ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันโรงเรียนที่มีเงินทุนสนับสนุน ก็สามารถพัฒนาสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพได้ แต่จะจำกัดให้แต่นักเรียนของตนเท่านั้น ที่จะเข้าถึงสื่อการเรียนรู้นั้นได้ สำหรับสื่อการเรียนรู้ DLTV และ DLIT ที่มีอยู่ ก็ไม่มีคุณภาพที่มากพอ นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังควรจัดสรรงบประมาณ เพื่อจัดซื้อแท็บเล็ต พร้อมซิมอินเตอร์เน็ต เอาไว้จำนวนหนึ่ง สำรองไว้ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อจ่ายแจกให้กับนักเรียนที่ขาดแคลนได้ใช้เรียนแบบออนไลน์อย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งจัดสรรงบประมาณรายหัวใหม่ โดยเพิ่มเติมค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์การศึกษา และอาจโอนเงินในส่วนของค่าชุดนักเรียนให้มาเป็นค่าอุปกรณ์ทางการศึกษาแทน เพื่อให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง สามารถนำเงินดังกล่าวไปจัดซื้อแท็บเล็ต พร้อมกับชำระค่าอินเตอร์เน็ตได้
.
5. ต้องยอมรับว่า เงินเยียวยานักเรียน 2,000 บาท เป็นเพียงเงินเยียวยาเบื้องต้นเท่านั้นปัจจุบันนักเรียนจำนวนไม่น้อยกำลังประสบกับภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการในระยะยาว ในสถานการณ์โรคระบาด ที่โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ กระทรวงศึกษาธิการ จึงควรหารือกับนายกรัฐมนตรี ในการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จัดสรรเงินรายหัวที่อุดหนุนโรงเรียนส่วนหนึ่ง จ่ายเป็นค่ายังชีพให้แก่นักเรียน สำหรับโรงเรียนเอกชนที่รับเงินอุดหนุนรายหัว ซึ่งเงินอุดหนุนดังกล่าวมีเงินเดือนของครูผู้สอนรวมอยู่ในนั้นด้วย ให้รัฐบาลพิจารณาใช้งบกลาง หรืองบประมาณจากเงินกู้ อุดหนุนเพิ่มเติม โดยให้ใช้มาตรการนี้ทั้งในเทอมนี้ และเทอมถัดไป จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลาย
.
6. กระทรวงศึกษาธิการควรเสนอต่อรัฐบาล ให้พิจารณาตรา พ.ร.ก. กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยให้ผู้ปกครอง นักเรียน นิสิต นักศึกษา สามารถกู้ยืมเงินในระยะสั้น แบบปลอดดอกเบี้ย เพื่อการศึกษา ผ่านธนาคารพาณิชย์ โดยให้รัฐบาลรับผิดชอบดอกเบี้ย และค้ำประกันเงินกู้ให้
.
7. กระทรวงศึกษาธิการควรเสนอต่อรัฐบาล ให้พิจารณออก พ.ร.ก. ชดเชยเยียวยาแก่เด็ก และเยาวชนที่สูญเสียพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง จากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2010 (COVID-19) โดยให้รัฐบาลอุดหนุนงบประมาณเพื่อเลี้ยงดู และส่งเสริมการศึกษา ให้กับเด็กเหล่านี้ โดยให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นผู้จ่ายเงิน และติดตามผล
.
8. เร่งจัดหาวัคซีนที่มีความปลอดภัย และมีประสิทธิผลต่อเชื้อกลายพันธุ์ มาฉีดให้กับนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา โดยมีกำหนดการ และแผนการฉีดวัคซีนที่ชัดเจน เพื่อให้โรงเรียนสามารถกลับมาเปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติ ให้เร็วที่สุด
.
“สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ณ วันนี้ เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับแล้ว เราอาจจะไม่สามารถกำจัดให้โรคๆ นี้ออกไปจากโลกใบนี้ได้ อย่างไรก็ตาม พัฒนาการ และการเรียนรู้ของเด็กๆ และประชาชนคนไทย มีความจำเป็นต้องเดินหน้าต่อ กระทรวงศึกษาธิการ มีความจำเป็นต้องวางกลยุทธ์ใหม่ วางหลักสูตรใหม่ กำหนดแผนการเรียนการสอนใหม่ จัดสรรงบประมาณใหม่ เพื่อสร้างความเป็นปกติใหม่ (New Normal) ของระบบการศึกษาไทยได้แล้ว” วิโรจน์ ระบุ