วิจัยชี้ มลพิษในกรุงนิวเดลีเชื่อมโยงกับ “โรคอ้วน” และ “โรคหอบหืด” ในเด็ก

วันที่ 3 ก.ย. บีบีซี รายงานว่า การศึกษาใหม่เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศในอินเดียว่า หากมีระดับสูงจะทำให้เด็กเป็นโรคอ้วน และมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหอบหืดมากขึ้นด้วย โดยเด็กที่เป็นโรคอ้วนมีโอกาสที่จะเป็นโรคหอบหืดมากขึ้น 79%

มูลนิธิดูแลปอด (Lung Care Foundation) และมูลนิธิวิจัยและการศึกษาดูแลปอด (Pulmocare Research and Education) ดำเนินการศึกษาดังกล่าวเพื่อหาความเชื่อมโยง 3 สิ่ง ระหว่างเด็กน้ำหนักเกิน โรคหอบหืด และมลพิษ เป็นครั้งแรกในอินเดีย

มูลนิธิดูแลปอดดำเนินตรวจสุขภาพเด็ก 3,157 คน ใน 12 โรงเรียน ที่สุ่มเลือกจากกรุงนิวเดลี และ 2 เมืองทางใต้ของอินเดีย ได้แก่ เมืองโกฏฏายัม และเมืองไมซอร์ ที่มีอากาศค่อนข้างสะอาดกว่า พบว่า 39.8% ของเด็กจากกรุงนิวเดลีมีน้ำหนักเกิน เทียบกับในสองเมืองที่มีเพียง 16.4%

การศึกษาระบุว่า มีความเกี่ยวพันกันอย่างยิ่งกับฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 ซึ่งเป็นมลพิษขนาดเล็กที่เป็นอันตรายในอากาศ และพบได้ในเมืองทั้งสาม โดยกรุงนิวเดลีเป็นหนึ่งในเมืองที่มีมลพิษสูงสุดในโลก และประสบคุณภาพอากาศอันตรายทุกปี

ดร.สันทีป ศัลวี ผู้อำนวยการ Pulmocare Research and Education ในเมืองปูเน ทางตะวันตกของอินเดีย กล่าวว่า การศึกษาดังกล่าวยืนยันว่า การสูดอากาศไม่สะอาดสามารถทำให้เด็กอ้วนได้ โดยมลพิษในอากาศมีสารเคมีบางชนิดในชื่อ “โอเบโซเจน” (obesogen) ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงการเผาผลาญของคนได้