‘ศิริชัย วัฒนโยธิน’ ประธานศาลอุทธรณ์ แถลง‘ลาออก’-ตอบคำถาม

หมายเหตุ – นายศิริชัย วัฒนโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์ แถลงรอบที่ 3 เปิดใจถึงการ
ลาออกจากราชการ ภายหลังพลาดตำแหน่งประธานศาลฎีกา โดยอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อ.ก.ต.) และ ก.ต. มีมติไม่ผ่านคุณสมบัติ รวมทั้งมีการเปิดตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา เทียบเท่าประธานศาลอุทธรณ์ ที่มีกระแสข่าวว่านายศิริชัยจะถูกโยกไปดำรงตำแหน่งดังกล่าว ตลอดจนมีการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณี อ.ก.ต.ไม่ผ่านคุณสมบัติ ที่ห้องแถลงข่าวชั้น 7 ศาลอุทธรณ์ ถนนรัชดาภิเษก เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา

 

ทุกคนคงทราบว่าผมแถลงการณ์ขอลาออก ผมคิดว่าตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา เป็นตำแหน่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ แม้จะระบุว่าเทียบกับประธานศาลอุทธรณ์แล้วมีตำแหน่งเท่ากัน แต่ศักดิ์ศรีจริงๆ ไม่เท่ากัน เนื่องจากประธานศาลอุทธรณ์เป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมโดยตำแหน่ง และเป็นอุปนายกเนติบัณฑิตคนที่ 1 นอกจากประธานศาลฎีกา แต่ตำแหน่งที่ปรึกษาเป็นตำแหน่งที่ตั้งขึ้นมาเป็นครั้งแรก

การไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาจะมีปัญหาตอนประธานศาลฎีกาไม่อยู่ ใครจะรักษาการแทน เพราะรองประธานศาลฎีกาคนที่ 1 ก็อยู่ ตามกฎหมายที่ระบุไว้ว่ารองประธานศาลฎีกาคนที่ 1 จะรักษาการแทนจะมีปัญหาว่าใครรักษาการแทน ระหว่างที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา กับรองคนที่ 1

ผมเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นจุดหนึ่งที่ผมไม่ควรดำรงตำแหน่งอีกต่อไป อีกประการหนึ่ง ในนิติประเพณีผู้ที่เป็นประธานศาลอุทธรณ์สูงสุดควรเป็นประธานศาลฎีกา แต่ถ้ามีปัญหาไม่ได้ขึ้นก็ยังได้รับเกียรติให้อยู่ตำแหน่งเดิม ไม่เคยมีการโยกย้ายไปตำแหน่งใหม่เหมือนปัจจุบัน

การเป็นผู้พิพากษาเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติมีศักดิ์ศรี จะให้ไปที่ปรึกษาคนเดียวซึ่งมีข้อโต้แย้งว่าไม่น่าที่จะทำได้ นอกจากนี้ยังตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงผมอีก

ผมถอยจนไม่รู้จะถอยยังไงแล้ว ถอยจนไม่มีที่ยืน ก็ต้องลาออกจากระบบด้วยความเจ็บปวดรวดร้าว
ไม่คิดว่าชีวิตราชการที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่มาด้วยความซื่อสัตย์สุจริตขยันขันแข็งทำงาน เมื่ออยู่ศาลอุทธรณ์ก็ทำให้ศาลจากอันดับสุดท้ายขึ้นมาเป็นศาลดีเด่นได้ แต่ผมต้องถูก ก.ต. อนุ ก.ต.บอกว่าไม่มีคุณสมบัติที่จะ
ขึ้นเป็นประธานศาลฎีกา

เมื่ออนุ ก.ต.นัดพิจารณาได้หยิบบัตรสนเท่ห์ขึ้นมา แล้วเรียกพยานที่อนุกรรมการต้องการจะเรียกไปสอบ บัตรสนเท่ห์อันนี้ก็เคยมีมาก่อน ทางสำนักงานศาลเคยให้ชี้แจง ผมก็ชี้แจงไปแล้ว ท่านประธานก็ระงับเรื่องไปแล้ว เพราะไม่มีรายละเอียดอะไรเลย แต่อนุกรรมการหยิบขึ้นมาเอง เรียกพยานมาสอบเอง และเรียกผมไปสอบคำให้การ ผมชี้แจงไปก็คิดว่ามันควรจะจบแล้ว ปรากฏว่าเรียกพยานมาใหม่อีก เมื่อชี้แจงได้ พยานเป็นฝ่ายที่ไม่ชอบหรือมีเหตุที่เข้าใจว่าผมแกล้งเขา เมื่อผมชี้แจงไป เข้าใจว่าชี้แจงได้ทุกขั้นตอน ก็เปลี่ยนเรื่องมาเป็นเรื่องส่วนตัว เมื่อใกล้วันประชุม ก.ต. ประธานที่ประชุมก็บอกไม่เปลี่ยนแล้วเอาแค่นี้

ผมยังไม่เคยเห็นคำให้การของพยานที่อนุ ก.ต.เรียกมาสักปาก ผมไม่รู้ว่าใครให้การอย่างไรบ้าง มันมืดสนิท ผมทำเรื่องเสนอขอความเมตตาไปที่ ก.ต. เพื่อให้เลื่อนการพิจารณาไปก่อน และขอคัดคำให้การพยานในชั้นอนุ ก.ต.เพื่อที่จะได้ต่อสู้ เพราะไม่ว่าจะเป็นการสอบวินัย การดำเนินคดีอาญาก็ต้องเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายหนึ่งมีโอกาสเห็นและมีโอกาสต่อสู้

แต่นี่ผมไม่มีเลย ก.ต.ลงมติว่าผมไม่เหมาะสมที่จะเป็นประธานศาลฎีกา

ท่านคิดดูว่าคนที่ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตให้ความเป็นธรรมคู่ความมาตลอดชีวิตแต่โดนแบบนี้ ผมไม่เชื่อว่าที่ไหนจะมีแบบนี้ ผมต้องยอมกล้ำกลืนมาแถลงต่อท่านว่าผมไม่ฟ้อง ก.ต. ยอมรับได้ กลืนเลือดเพื่อรักษาไว้ซึ่งสถาบันนี้ ผมถูกอนุ ก.ต.ลงมติ 19 ต่อ 1 ก.ต.14 ต่อ 0 ในความรู้สึกของคนทั่วไปทำไมช่าง
เลวร้าย ผู้ที่ใช้นามสกุลเดียวกับผมจะรู้สึกอย่างไร แต่ก็ทน ไม่อยากให้มีปัญหา ยอม แต่เขาก็ไม่จบไม่สิ้น
ตอนแรกขออยู่ที่ศาลอุทธรณ์ต่อไปเงียบๆ จนกว่าจะเกษียณตามกำหนด แต่เขาไม่ยอมก็ไม่รู้จะทำยังไง

ทางเดียวที่จะทำได้คือลาออก

ในการพิจารณาของอนุ ก.ต. ได้นำคดี 3 คดีมาสอบถาม

คดีแรกเกิดขึ้นในสมัยประธานศาลอุทธรณ์คนก่อน ฟ้องว่าจำเลยร่วมกับพวกมียาเสพติดให้โทษ
จำนวนมากไว้ในครอบครอง มีการทักท้วง มีประธานอาวุโสท่านหนึ่ง รองประธานแผนกยาเสพติด ท่านผู้ช่วยเล็ก

ระบบการทำงานของศาลเมื่อเจ้าของสำนวนเขียนคำพิพากษาเสร็จแล้วก็จะส่งให้ผู้ช่วยเล็กตรวจ ถ้า
ผู้ช่วยเล็กเห็นด้วยกับร่างคำพิพากษาก็ส่งผู้ช่วยใหญ่ ถ้าผู้ช่วยใหญ่เห็นด้วยก็ส่งรองประธานแผนกคดี
ยาเสพติด

ถ้าอุกฉกรรจ์มากก็จะให้ประธานศาลอุทธรณ์เป็นผู้วินิจฉัย

คดีนี้ผู้ช่วยเล็กตรวจแล้วไม่ขัดข้อง แต่รองประธานแผนกคดียาเสพติดท้วง แล้วก็ให้ผู้พิพากษาอาวุโส 2 ท่านตรวจ

ท่านรายงานว่า ข้อเท็จจริง จำเลยขับรถกระบะนำหน้ารถยนต์ซึ่งบรรทุกเมตแอมเฟตามีน ตามจับจำเลยได้ แต่รถที่บรรทุกเมตแอมเฟตามีน คนขับหนีไปได้ เหลือแต่รถ ตำรวจนำสืบว่าจำเลยขับรถนำทาง ร่างก็พิพากษายืนลงโทษจำเลยจำคุกตลอดชีวิต

ท่านท้วงว่า การยึดโทรศัพท์จากจำเลยที่มีการติดต่อหลายครั้งมากในช่วงนั้นโทรไปเบอร์เดียวกว่า 30 ครั้ง ไม่น่ามีส่วนร่วมกระทำผิด พยานเห็นรถกระบะตามรถเก๋งไป ก็ใช่ว่าจะมีส่วนร่วมกระทำผิด กับรถเก๋งที่ขนเมตแอมเฟตามีน

พยานอีกหนึ่งบอกว่าไม่ปรากฏสาระสำคัญใดที่เชื่อมโยงระหว่างรถเก๋งกับขนเมตแอมเฟตามีน ข้อมูลในการโทรของจำเลยก็ไม่ทราบว่าติดต่อกับคนร้ายหรือไม่

เมื่อท้วงปุ๊บ ผู้ช่วยผู้พิพากษาก็ไปเติมตามข้อทักท้วงในร่างอีก 79 บรรทัด ไม่ปรากฏสาระสำคัญ
ที่เชื่อมโยงระหว่างรถเก๋งกับการขนเมตแอมเฟตามีน ผู้ช่วยปรับร่างเพิ่ม พบตารางกรมธรรม์ของรถกระบะจำเลยอยู่ในรถเก๋ง แสดงความเชื่อมโยงถึงรถเก๋งที่ขนเมตแอมเฟตามีน คำทักท้วงของรองประธานแผนกที่อ้างว่าการขับตามมาเป็นพิรุธ ผู้ช่วยก็เติมหน้า 14 ว่าการขับรถตามกันมามีหลักฐานภาพวงจรปิดและรายงานพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์สอดคล้อง รถเก๋งที่ขนเมตแอมเฟตามีนกับรถกระบะจำเลยที่ผ่านด่านตรวจ ก็แก้ว่า มีพยานหลักฐานกล้องวงจรปิด

เมื่อเสนอมาแล้วประธานแผนกคดียาเสพติดเห็นว่า รถจำเลยเชื่อมโยงกับรถขนเมตแอมเฟตามีนอย่างแน่นอน โดยข้อเท็จจริงดังกล่าว ผู้ทักท้วงไม่ได้นำมาพิจารณาอีก ประธานแผนกคดียาเสพติดรับฟัง
ได้ว่าจำเลยกระทำผิดจริง เพราะมีกล้องวงจรปิดเห็นรถสองคันแล่นมาด้วยกัน เจอตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถที่จำเลยขับมาอยู่ในรถที่ขนเมตแอมเฟตามีน

ประธานศาลอุทธรณ์ขณะนั้นไปให้ท่านรองคนที่หนึ่งทำความเห็นว่ากระทบกระเทือนความยุติธรรมหรือไม่ ท่านก็ทำความเห็นว่ากระทบความยุติธรรม ไม่ได้ตรวจสอบว่าร่างมีการปรับแก้แล้วก็ไปโอนสำนวน คือยกฟ้อง

เมื่อยกฟ้องแล้วประธานอุทธรณ์พ้นหน้าที่ ผมมารับหน้าที่ต่อ ดูว่าหลักฐานแก้ไขแล้ว ผมก็ให้ลงโทษไปตามร่างใหม่ที่แก้ไขแล้ว

จำเลยยอมรับคำพิพากษาทุกประการไม่ขอฎีกา คดีถึงที่สุดแล้ว

อีกเรื่องหนึ่ง ศาลชั้นต้นจำเลยกระทำความผิด 4 คน ศาลชั้นต้นลงโทษทุกคน จำเลยที่หนึ่งรับสารภาพ
เหลือ 25 ปี ที่เหลือจำคุกตลอดชีวิตปรับคนละ 3 แสนบาท จำเลยก็อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เจ้าของสำนวน
ก็ยืนตาม พอร่างยืนผู้ช่วยก็บอกว่าร่างฟังไม่พอที่จะลงโทษได้ แต่เมื่อรองประธานแผนกคดียาเสพติด เห็นว่าพอผ่านไม่ได้ ก็มีการฟ้องกัน

ประธานศาลอุทธรณ์ในขณะนั้นให้รองประธานคนที่หนึ่งพิจารณาว่ากระทบกระเทือนความยุติธรรมหรือไม่ รองก็ทำว่ากระทบกระเทือนก็โอนสำนวนไป เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2558 รู้ผลว่ายกฟ้อง ผู้ช่วยก็มาตรวจ ทิ้งไว้ 3 เดือนให้ผู้ช่วยเล็ก มาตรวจ 6 สิงหาคม 2558 แล้วมาเสนอผมวันที่ 30 พฤศจิกายน ทิ้งเวลาไป 6-7 เดือน เพราะอะไร ผมเห็นว่าเป็นพฤติการณ์แปลกๆ ไม่ควรทิ้งขนาดนี้ เจ้าของสำนวนเขียนโดยยกคำพิพากษาศาลฎีกามาเลย เห็นว่าร่างตกไปแล้ว ใช้ร่างเดิมมิชอบ ก็ลงโทษจำเลยไปจำเลยก็ยอมรับไม่ขอฎีกา คดีถึงที่สุด

ผมเพิกถอนการโอน 2 เรื่อง ลงโทษจำเลยจำเลยยอมรับผิดตามคำพิพากษาโดยไม่ฎีกา ทุกท่านก็รู้อยู่ว่าคดียาเสพติดมีผลเงินมหาศาล ถ้าไม่ทำผิดลงโทษไม่ได้ก็ต้องขอฎีกา บางคน 3 ศาลแล้วก็ยังขอรื้อฟื้นคดีต่อ

เรื่องที่สาม การโอนสำนวนเนื่องจากศาลชั้นต้นยกฟ้อง เจ้าของสำนวนเขียนยกฟ้องตาม แต่ทุกคนท้วงหมดว่าร่างนี้ลงโทษได้ เมื่อหมดทุกท่านอย่างนี้ ผมก็ต้องถามรองประธานศาลอุทธรณ์ว่าร่างกระทบยุติธรรมไหม เมื่อรองบอกว่ากระทบผมก็ต้องสั่งโอนสำนวน

โอนไปให้ท่านหนึ่งเก็บไว้ยี่สิบกว่าวันก็เอามาคืน เพราะท่านไม่สะดวกใจที่จะเขียนเรื่องนี้ ซึ่งจริงๆ ท่าน
ทำไม่ได้ เมื่อมอบหมายแล้วท่านต้องเขียน ผมมาบริหารงานไม่ต้องการใช้ระเบียบเข้มข้น ทำให้การ
งานยาก หากไม่เขียนจะตั้งกรรมการสอบก็ภาพลักษณ์ไม่ดี เมื่อคืนมาผมก็จ่ายสำนวนต่อไป ผมใช้ปากกาตลอด ช่วงแรกฝ่ายเลขาฯ จะใช้ดินสอเขียนมาว่าควรจะจ่ายใคร เราก็จะรู้ว่าเรื่องไหนหนักเบาเฉลี่ย
ครบทุกคนหรือไม่ รอบแรกจะมีลายดินสอของฝ่ายเลขาทุกคดี แล้วผมจะเขียนด้วยปากกา

การที่มีคนกล่าวว่าต้องการให้ผมมีการลงโทษจำเลยมันเป็นไปไม่ได้ เพราะมันเป็นขั้นตอนที่ว่าประธานศาลอุทธรณ์คนเดียวไม่ได้มีอำนาจที่จะทำอะไรได้ ถ้ารองประธานคนที่ 1 เห็นไม่กระทบกระเทือนความยุติธรรมก็ต้องตีออกไปตามนั้น ไม่สามารถที่จะไปทำอย่างอื่นได้ แล้วผู้พิพากษามีเกียรติมีศักดิ์ศรี เราจะไปบอกท่านให้เขียนอย่างนั้นอย่างนี้ทำไม่ได้

การที่คดีจะโอนสำนวนได้ต้องรองประธานคนที่หนึ่งบอกกระทบเท่านั้น ประธานศาลอุทธรณ์ คนเดียวไม่มีสิทธิ การที่ผมลงโทษทั้งสามเรื่องเป็นสิ่งที่ทำให้ผมไม่ได้เป็นประธานศาลฎีกา ไม่เหมาะสมเป็นประธาน ผมลงโทษพวกค้ายาเสพติด ถูกตำหนิว่าไม่เหมาะสมจะเป็นประธานศาลฎีกา ผมก็เงียบไม่ว่าอะไร กลืนเลือดตัวเองยอมรับได้

ผมทำงานจนได้เป็นศาลดีเด่น แต่ผมลงโทษผู้ค้ายาไม่เหมาะจะเป็นประธานศาลฎีกา ท่านคิดว่ามัน
ถูกต้องหรือไม่

แล้วการที่ อนุ ก.ต.ไต่สวนก็มีการหยิบเอาคำพิพากษาที่ยังไม่ได้มีการลงลายมือชื่อไปอ่าน
เป็นเรื่องเกิดปี 2558 จำนวน 2 เรื่อง เป็นเอกสารลับเอาออกไปได้ยังไงไม่ทราบใช้ในอนุ ก.ต. แล้วเก็บไว้ตั้งแต่ปี 2558 ซึ่ง 3 ปีที่แล้วผมเป็น ก.ต.อยู่ด้วยได้พิจารณาลงโทษข้าราชการตุลาการชั้นผู้ใหญ่หลายคนออกไป ซึ่งพัวพันเกี่ยวกับยาเสพติดด้วย ถ้าทราบถึงผู้บริหารที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับยา ท่านจะทราบว่าช่วงที่ผมไม่อยู่เขาจะพอใจมาก เพราะเราไม่ต้องการที่จะให้มีการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากคดียา ถ้าผมอยากรวยก็ทำ คดียาเสพติดมีมูลค่าเท่าไหร่ คือสิ่งที่ผมอยากฝากให้ผู้บริหารบ้านเมืองด้วยว่า คดียาเสพติดมี 3 ชั้น ถ้าถึงอุทธรณ์ แล้วปล่อยไป ถ้าถึงที่สุดอุทธรณ์ปล่อยจำเลยไป ขังระหว่างฎีกาไม่ได้ ถ้ายกไป จำเลยหนีหมด เป็นไปได้ว่าหากให้ขังระหว่างอุทธรณ์ได้เป็นการดี

“ผมเคยคิดจะถวายฎีกา แต่ก็กลัวจะระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ผมเล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร ท่านหนึ่งบอกว่าอาจารย์ถูกปล้น ปล้นกลางวันแสกๆ ขณะนี้มันอยู่ในยุค คสช.ยังกล้าทำอย่างนี้ ไม่ธรรมดาการปล้นครั้งนี้ยังมีการทำร้ายหัวหน้าด้วย ก็คิดดูว่าหัวหน้า คสช. พูดถึงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการไม่เหมือนศาล อัยการ เป็นไปตามอาวุโส พอท่านพูดไม่นานเท่าไหร่ ก.ต.ก็ลงมติเลยไม่เอาตามอาวุโส

ประธานศาลอุทธรณ์ไปลงโทษคนค้ายาเสพติด ยังถูกตั้งกรรมการสอบสวนก็หมดหนทาง

ฝากหัวหน้า คสช.อย่าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ ผู้พิพากษาระส่ำระสายไม่รู้ว่าต่อไปจะเป็นระบบอาวุโสหรือเปล่า ผู้พิพากษาทั่วประเทศจับตามองอยู่ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความเป็นธรรม และประชาชนช่วยดูว่า ผมนี่เลวร้ายขนาดไหน ผมถึงถูกทำขนาดนี้

คืออยากจะให้ท่านเห็นว่านี่คือสิ่งที่ผมได้รับ และผมควรจะลาออกไหม

 

•ประโยคสุดท้ายที่เอ่ยถึงหัวหน้า คสช. ท่านคิดว่าจะนำเรื่องให้หัวหน้า คสช.ดำเนินการอย่างไร ในเมื่อการพิจารณาของ ก.ต.ถือเป็นอิสระ

มาตรา 44 อยู่สูงกว่า และก็ลองสอบถามผู้พิพากษาทั่วประเทศว่าเห็นชอบกับการ
กระทำแบบนี้ ทำจนผมไม่มีที่ยืนต้องไป

•มีการวิ่งเต้นเพื่อไม่ให้ขึ้นประธานศาลฎีกาหรือไม่

มีพูดมาตลอดกับเรื่องที่ผมมาบริหารงาน สั่งปิดน้ำปิดไฟ ก็มีมาเรื่อยๆ แต่พอได้ศาลดีเด่น เรื่องนี้ก็หายไป เพราะหากมีการปิดน้ำปิดไฟไม่ให้ทำงานคดีจะเสร็จได้อย่างไร ได้เป็นศาลดีเด่นในปัจจุบันได้อย่างไร ผมต้องตรากตรำทำงานตั้งแต่เช้า กลางคืนไม่ได้กลับ นอนที่ศาลอุทธรณ์เพื่อให้งานเสร็จ ทำคดีปลายปี 2559 และปีนี้ปี 2560 ก็แทบไม่เหลือคดีคั่งค้างในศาลอุทธรณ์ ก็อดทนทำมาตลอด

•ได้รับคำสั่งการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง เรื่องโอนสำนวนแล้วหรือไม่

ผมยังไม่ได้คำสั่งเกี่ยวกับอนุ ก.ต.หรือ ก.ต.
เลย ทุกวันนี้ยังไม่รู้ว่าพยานของอนุ ก.ต.และ ก.ต.ดังกล่าว ให้ความเห็นว่าอย่างไร

•ผู้พิพากษาคนอื่นมีความเห็นอย่างไรบ้าง

ผู้พิพากษาระดับผู้น้อยมาให้กำลังใจผมก็มีคนถ่ายภาพไปลงไลน์และมีการพูดกันว่าพวกนี้มาได้อย่างไร หนีเวลาราชการมาหรือไม่

•เป็นไปได้หรือไม่ว่าเป็นเรื่องการตีความในเรื่องแนวทางปฏิบัติของผู้พิพากษา

ไม่มี ผมยืนยันว่าไม่มีกฎหมาย ไม่มีแนวทางระบุ ผู้พิพากษาอาวุโสบางคนก็เคยมีความเห็นว่าควรระบุแนวทางให้แน่นอน แต่ผมเห็นว่าไม่สามารถกระทำได้ เป็นไปได้อย่างไร คนใหม่มา ถ้าเห็นว่าคดีมันทุจริต แล้วเราต้องเซ็น แต่เรารู้ว่าเขากินเงินกัน มันจะเป็นไปได้ไหม อย่างคดีที่สองที่ผมโอนทิ้งระยะเวลา 6 เดือน ทำไมก่อนหน้านี้ไม่โอน ทำไมต้องมาถึงสมัยของผม ทำไมถึงปล่อยระยะเวลาถึง 6 เดือน

•คดีการโอนสำนวนที่ถูก ก.ต.สอบข้อเท็จจริงนั้น มีการโอนสำนวนให้ผู้พิพากษา 3 คนใช่หรือไม่

ยืนยันว่าไม่มี ที่มักจะมีการพูดว่าผมโอนสำนวนหลายๆ ทอด ก็มีการโอนแล้วเขาไม่ทำคดี
ไม่เขียนคำพิพากษาซึ่งมันก็ออกคำพิพากษาไม่ได้ แล้วเขามาคืนสำนวนผมก็ต้องจ่ายคนอื่น ซึ่งก็มีคำสั่งเก่า เรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องกระทบต่อความยุติธรรม ก็เลยโอนสำนวน เมื่อไม่มีคนเขียนคำพิพากษา ก็ต้องสั่งจ่ายสำนวนจนกว่าจะมีคนเขียน ถ้าเขาเขียนเหมือนเดิมผมก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะว่าก็ไม่ใช่ญาติโกโหติกา

•หลังจากที่มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น จะเป็นโอกาสที่นำพยานหลักฐานเข้าต่อสู้ให้พ้นมลทินหรือไม่

ที่จริงแล้วไม่ต้องมีอะไร เพราะดูแค่จากเอกสารก็ทราบแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่การไปรับเงิน เพียงแค่ประเด็นว่าที่ผมสั่งสำนวนผิดหรือไม่ เป็นกฎหมายที่ระบุไว้หรือไม่

•ที่ประชุมอนุ ก.ต.มีการนำเรื่องส่วนตัวมาพูดเป็นเรื่องอะไร

เป็นเรื่องส่วนตัวที่ได้ข่าวว่าจะมีการนำมาพูด แต่พอมาประชุมก็ไม่ได้มีการนำมาพูด ส่วนที่ถามว่าผลสอบข้อเท็จจริงจะออกมาว่ากระทำผิดมันจะเป็นไปได้หรือ ก็ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องแบบนี้จะทำให้ผมไม่มีที่ยืนลูกศิษย์ผมบอกว่าอาจารย์ถูกโกง ผมไม่มีที่ยืน ผมก็ตัดสินถูก ผมทำตามพระบรมราโชวาทที่ระบุว่า กฎหมายไม่ใช่ความยุติธรรมต้องดูความเป็นจริงด้วยก็ในเมื่อเขาเป็นคนกระทำความผิดแล้วลงโทษ จำเลยก็ยอมรับ แล้วเสียหายราชการตรงไหน แต่ขณะเดียวกัน ถ้าผมปล่อยจะเสียหายมากกว่าไหม ถ้ากลับไปค้ายาเสพติดอีก แล้วเราจะเอาอย่างไร ทุกอย่างต้องดูเจตนา ผมทำเพื่อสังคม

•หากหัวหน้า คสช.ใช้ มาตรา 44 เกี่ยวกับศาลยุติธรรม อยากเห็นออกมารูปแบบใด

ก็แล้วแต่ดุลพินิจ อาจจะถามมติของศาลทั่วประเทศหรือไม่ก็ได้ ว่าเห็นชอบกับเรื่องแบบนี้ใช่ไหม

•หลังจากนี้หากกรรมการสอบข้อเท็จจริงเรื่องโอนสำนวนเรียกไปสอบ มีความพร้อมหรือไม่

พร้อมอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราพร้อมแล้วผมจะออกมาอย่างไรก็เท่านั้นเอง ผมก็เอาข้อเท็จจริงมาให้ท่านดูว่าทุจริตหรือเปล่า

•การพิจารณาของ ก.ต.ยังควรเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซงขององค์กรอื่นหรือไม่

ขณะนี้ผมไม่แน่ใจแล้ว แต่กลัวว่าบางระบบมันจะกลับมาอีก เมื่อ ก.ต.รวมกันได้หมดทุกอย่างแล้วก็จะผูกขาด ก.ต.เขาห้ามหาเสียง แต่ถ้าไม่หาเสียงก็ไม่มีใครได้ แล้วระบบหาเสียงก็ต้องมีระบบหัวคะแนน แล้วควร
จะให้มีไหม และก็มีการสลับกันเป็น ก.ต.และ ก.บ.ศ. และ ก.ต.คนนอกก็นั่งทำงานกับ ก.ต.ใน
ระบบ รู้จักกัน สนิทกัน ไปไหนมาไหนด้วยกัน