เริ่มแล้ว! เปิดร่างสัญญาประชาคม 10 ข้อ หนุนปรองดอง เน้นการเมือง “บริสุทธิ์-ยุติธรรม”

ภาคกลางเริ่มแล้ว เปิดร่างสัญญาประชาคม 10 ข้อ หนุนปรองดอง เน้นการเมือง “บริสุทธิ์-ยุติธรรม” ใช้กลไกรัฐสภา แก้ปัญหา ย้ำต้องเดินตามยุทธศาสตร์ชาติ ขับเคลื่อน ปท.

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 17 กรกฎาคม ที่กองทัพภาคที่ 1 พล.ท.กู้เกียรติ ศรีนาคา แม่ทัพน้อยที่ 1เป็นประธาน เปิดเวทีสาธารณะ ในพื้นที่ภาคกลาง 26จังหวัด เพื่อชี้แจงร่างสัญญาประชาคม

โดยมีประชาชน ตัวแทนกลุ่มการเมือง พรรคการเมืองในภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร ร่วมทั้งหมด 312 คนในพื้นที่จ.ภาคกลาง จังหวัดละ 12 คน 71 พรรค การเมือง 2 กลุ่มการเมือง เช่น นายชวลิต วิชัยสุทธิ์ อดีตรักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายจตุพร พรหมพันธ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนายธนา ชีรวินิจ อดีตสส. กรุงเทพ พรรคประชาธิปัตย์ รวมไปถึง NGOs ภาคประชาสังคม และ ภาคเอกชน เข้าร่วมเวทีอย่างคับคั่ง

พล.ท.กู้เกียรติ กล่าวเวที ว่า ตนทราบว่าทุกภาคส่วนต้องการให้ประเทศมีความสามัคคี และเดินไปข้างหน้าอย่างสันติ จึงคาดว่าการจัดเวทีครั้งนี้จะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ราบรื่น มีบรรยากาศยอมรับความคิดเห็นที่หลากหลาย ปราศจากความขัดแย้ง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความสามัคคีในอนาคต ขณะเดียวกันเป้าหมายปรองดอง คือการมุ่งเน้น การแก้ไขปัญหาประชาชน อันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความสามัคคีให้เกิดความยั่งยืน โดยคำนึงถึง ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน ซึ่งการเก็บข้อมูลที่หลากหลายสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของประชาชน จะส่งผลให้สัญญาประชาคมมีความสมบูรณ์ และเป็นฉันทามติที่สมบูรณ์ เพื่อทำให้ประเทศเดินหน้าไปในอนาคต

สำหรับการเสวนาครั้งนี้ พล.ต.อภิศักดิ์ สมบัติเจริญนนท์ ผู้แทนคณะอนุกรรมการพิจารณา การบูรณาการข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง และพล.ต.ชนาวุธ บุตรกินรี ผู้แทน คณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนฯ และพ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ดำเนินรายการ

สำหรับเนื้อหาร่างสัญญาประชาคม แบ่งเป็น3 ส่วนคือ บทนำ ความคิดเห็นร่วม และภาคผนวก โดยความคิดเห็นร่วมมี 10 ข้อ ประกอบไปด้วย

1. คนไทยทุกคน เพิ่งร่วมมือกันสร้างบรรยากาศความสามัคคีปรองดองเพื่อให้ประเทศไทยมีความเป็นหนึ่งเดียวภายใต้การปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าใจระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงใช้สิทธิเสรีภาพอย่างถูกต้องและกรอบกฎหมาย มีส่วนร่วมกับการเมืองภาคประชาชนยอมรับความแตกต่างทางความคิดส่งเสริมสถาบันการเมืองให้มีความเข้มแข็งเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งที่โปร่งใสบริสุทธิ์ยุติธรรมและยอมรับผลการเลือกตั้งซึ่งถือเป็นฉันทามติของคนไทยทั้งประเทศ รวมทั้งร่วมกันตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐและการแก้ไขปัญหาโดยใช้กลไกรัฐสภา

2. คนไทยทุกคนพึงน้อมนำศาสตร์พระราชา ประยุกต์ใช้ในชีวิต
3. คนไทยทุกคนพึงยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรม
4. คนไทยทุกคนพึงอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
5. คนไทยทุกคนพึงส่งเสริม การดูแลคุณภาพชีวิต และสาธาณะสุข
6. คนไทยทุกคนพึงเคารพ เชื่อมั่น และปฏิบัติตามกฏหมาย สนับสนุนกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคม
7. คนไทยทุกคนพึงใช้ความรอบคอบในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ไม่บิดเบือน
8. คนไทยทุกคนพึงตระหนัก ในการส่งเสริมสังคมให้มีมาตรฐานสากล ตามกฎกติการะหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี
9. คนไทยทุกคนพึงส่งเสริมการปฏิรูปประเทศทุกด้าน ให้สอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน
10. คนไทยทุกคนเรียนรู้ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ

ทั้งนี้ร่างสัญญาประชาคมมาจากการรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชนตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ถึง 8 พฤษภาคม โดยนำมาร่วมกับทบทวนการศึกษาวิจัยและวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งในวันนี้จะเป็นการแถลงถึงขั้นตอนวิธีการจัดทำและเนื้อหาสาระของร่างสัญญาประชาคมรวมถึงกระบวนการการจัดทำความเห็นร่วมที่ทุกเสียงของประชาชนทั้งข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะและประเด็นสำคัญที่มีประโยชน์และมีความสำคัญในการผลักดันให้รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปแก้ไขปัญหาเพื่อให้ตรงกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง