‘หมอมิ้ง’ แนะทางแก้โควิด รัฐบาลอย่าล็อกดาวน์ตัวเองจนไม่รับผิดชอบ-ไม่รับฟังความเห็นถูกต้อง

วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กต่อการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาลที่กำลังตัดสินใจยกระดับการล็อกดาวน์เพื่อสกัดการระบาดที่มีแต่เพิ่มขึ้น โดยยังไม่สามารถหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงได้ทันว่า

รัฐ ’ล็อกดาวน์’ บทบาทตัวเองหรือ?

ข่าวความสับสนในมาตรการการจัดการแก้วิกฤตของรัฐ ความไร้ประประสิทธิภาพในบริการของรัฐ ความผิดหวัง สิ้นหวังของประชาชนที่ต้องรอคอยบริการจากรัฐ เกิดเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ เคียงคู่กับข่าวบทบาทของภาคเอกชนและภาคประชาชนที่ระดมความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากวิกฤตโรคโควิดอย่างไม่ขาดสาย ไม่ว่าเป็นการจัดหาวัคซีน การสร้างและบริการสถานที่พักพิงรอคอย การสนับสนุนโรงพยาบาลสนาม ที่สำคัญคือกลุ่มอาสาสมัครต่างๆ ปลายทางสุดท้ายถึงบ้าน บรรเทาทุกข์ถึงตัวผู้ติดเชื้อทั้งหลาย ไม่ว่าเครือข่ายมูลนิธิกระจกเงา กลุ่มเส้นด้าย มูลนิธิต่างๆ ตลอดจนเครือข่ายนักการเมืองระดับชาติ ระดับท้องถิ่น ใกล้ชิดประชาชน ต่างต้องที่เสียสละช่วยเหลือดับทุกข์ คลายกังวลของผู้เป็นทุกข์ระดับหนึ่ง

ในที่นี้ ยังต้องขอยกย่องบุคลากรการแพทย์สาธารณสุขด่านหน้าที่เรายกย่องเป็น ‘นักรบเสื้อขาว’ ที่ต้องเสียสละทำงานหนักหน่วง บางท่านเหนื่อยจนเป็นลมหมดสติ หน้างาน บางท่านติดเชื้อ จนบางท่านเสียสละชีวิต ที่ต้องขอคารวะในที่นี้

แต่คำถามจึงพุ่งไปที่นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำรัฐบาล ที่แต่งตั้งตนเองเป็นผู้อำนวยการ’ศบค’ , ผู้อำนวยการ’ศบศ’, ผู้อำนวยการ ‘ศบค.กทม.’, ฯลฯ รวมอำนาจไว้เพื่อการสั่งการที่ฉับไว ทันการณ์ แต่สถานการณ์กลับเป็นตรงข้าม เกิดคำถามสงสัยมากมาย

1. มาตรการและการสั่งการไม่เป็นเอกภาพ กลับไปมา ไม่ทันการณ์ จนมีคำกล่าวว่า ‘ รัฐบาลขับเคลื่อนด้วยการด่า’
2. ‘สั่งการตามหลังสถานการณ์’ คือ มีปัญหาแล้วแก้ตาม ขาดการคาดการณ์ที่ถูกต้อง เตรียมความพร้อมด้านทรัพยากร ไม่ว่าเป็นมาตรการ บริหารกำลังคน จัดหาเวชภัณฑ์รองรับที่เพียงพอ และการสั่งการทันการณ์ การแก้ปัญหาทุกวันนี้ จึงเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ที่ผู้รับเคราะห์คือประชาชน
3. ‘ไร้ประสิทธิภาพในการบริหาร’ กล่าวคือ รัฐมีงบประมาณ มีข้าราชการเป็นกำลังคนมากมาย เช่นมีกองทัพ มีกำลังคน เตรียมในยามสงคราม วันนี้ ประเทศมีสงครามกับโควิด กองทัพจะปรับบทบาทนำทรัพยากรและกำลังพลมาแก้ไขอย่างไร กระทรวงพัฒนาสังคมและทรัพยากรมนุษย์(พ.ม.) จะมีบทบาทอย่างไร ต้องรอให้อาสาสมัครบริการประชาชนและขอเรี่ยไรบริจาคเงินกันเองมาทำงานกระนั้นหรือ กระทรวงเศรษฐกิจดิจิตอล จะคอยจับผิดคนเดือดร้อน ที่ออกมาเรียกร้องรัฐบาลเท่านั้น หรือเร่งขยายบทบาทสร้างพัฒนาระบบข้อมูลประกอบการตัดสินใจการปฏิบัติงาน ของ’นักรบเสื้อขาว’ แนวหน้า หรือ สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนอย่างไร
4. การบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ต้องเร่งรัด ตัดขั้นตอนอย่างไรให้บรรลุภารกิจ กำจัดและจัดการโรคอย่างไร ต้อง’บริหารงานให้บรรลุความมุ่งหมาย ไม่ใช่บริหารกฎเกณฑ์’ แบบภาวะปกติ
5. มักใช้มาตรการบังคับประชาชน โดยขาดมาตรการรองรับเพื่อแก้ปัญหา เช่น สั่ง ‘ล๊อคดาวน์ แคมป์คนงาน’ ก็ต้องเพิ่มเร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อ เพื่อแยกตัวออกจำกัดการแพร่เชื้อ และต้องดูแลเยียวยาผู้ประกอบการและคนงานทันที แต่ที่ผ่านมา ไม่มีมาตรการรองรับ แถมยังเปิดโอกาสให้ คนงานกลับบ้านในต่างจังหวัด กลายเป็นมาตรการแพร่กระจายโรคออกไป เป็นต้น

นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางประการทำให้ปัญหาบานปลาย ณ วันนี้ การระบาดของโรค ออกไปกว้างขวางรวดเร็ว มาตรการการจัดการยังไม่ค่อยชัดเจนอย่างเป็นระบบ อย่างเป็นมาตรการกระท่อนกระแท่น ฟังไม่ชัดเจน เช่น

1. การตรวจหาผู้ติดเชื้อ และแยกออก เนื่องจากมีจำนวนมาก การปลดเปลื้องให้ มีการตรวจด้วยตัวเอง (self ripid antigen test) รัฐควรแจ้งให้ชัดว่า ใช้อย่างไร ชนิดไหน ที่ถูกต้องอาจต้องสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้อุปกรณ์ตรวจราคาต่ำสุด ประชาชนเข้าถึงง่าย เพราะการตรวจเป็นประโยชน์ต่อผู้ติดเชื้อ และสังคม
2. เมื่อพบติดเชื้อแล้ว รัฐกำหนดมาตรการให้ชัดว่า ถ้ากักตัวอยู่บ้าน( Home isolation) หรือ แยกกักตัวในชุมชน(community isolation) ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร นี่พบว่าในชุมชน บางชุมชน จัดการจัดบริหารที่กักตัวในชุมชนเองใต้ทางด่วนดูดีมาก กลับมีเจ้าหน้าที่รัฐมาบอกว่าผิดกฎหมาย และถ้ากรณีผู้ติดเชื้อมีอาการต้องปฏิบัติตัวอย่างไร รัฐสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นที่ไหนอย่างไร สื่อสารอย่างทั่วถึง จัดระบบการดูแลให้อุ่นใจ ในกลุ่มนี้ ถ้ามียาฟ้าทะลายโจร หรื ยา Flavipiravir แก่รายที่จำเป็น ระบบการเข้าถึงหมอพยาบาล อย่างที่ทางสปสช.เสนอไว้ และปฏิบัติได้จริง เผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปรู้ ก็จะเริ่มผ่อนคลายกังวลได้บ้าง
3. การเตรียมจัดหายา(ทั้งฟ้าทะลายโจร และยาต้านไวรัส ) วัคซีน ที่มีประสิทธิภาพ หลากหลายและเพียงพอ และเวชภัณฑ์ที่จำเป็น ตลอดจนกลไกที่ให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างจริงจัง เป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
4. ระดมกำลังคนและทรัพยากรลงมาร่วมแก้ปัญหาเต็มที่ แล้วจึงสนับสนุนความร่วมมือจากอาสาสมัครและภาคเอกชนอื่นๆ จัดระบบให้เป็นเอกภาพ ซึ่งระบบข้อมูลข่าวสาร เป็นเครื่องมือช่วยลดความสับสนในการปฏิบัติงาน
5. การบริหารของรัฐ ‘อย่าหยุดเพียงได้สั่ง แต่ให้ติดตามผลถึงการปฏิบัติถึงประชาชน’
6. ‘สื่อสารกับประชาชนด้วยความจริง’ การสื่อสารถึงประชาชนด้วยข้อมูลที่ไม่เป็นจริง หรือจงใจให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ดังปรากฏอยู่เช่นเรื่องการจัดหาวัคซีน ย่อมทำลายความเชื่อมั่นให้รัฐบาลเอง ทำให้การขอความร่วมมือจากประชาชนจะไม่เป็นผล

หวังว่าความเห็นนี้ จะเป็นประโยชน์ กับรัฐบาล โดยเฉพาะผู้นำ ที่จะ
1. ไม่ ’ล๊อคดาวน์’ ตนเองจากความรับผิดชอบ ปล่อยให้หน่วยงาน แต่ละส่วนทำงานไปเอง โดยขาดการนำที่ถูกต้อง มีประสิทธิภาพ
2. ไม่’ล๊อคดาวน์’ ตนเองจากความรับผิดชอบการเจ็บป่วยเดือดร้อนเสียหายของประชาชน
3. ไม่’ล๊อคดาวน์’ ตนเองจากการรับฟังความคิดเห็น และเลือกตัดสินใจบนหลักวิชาการที่ถูกต้อง ทันการณ์