รัฐบาลวอนหยุดด้อยค่า ‘ซิโนแวค’ อ้างอนามัยโลกรับรอง ฉีดแล้วปลอดภัย

รัฐบาล วอน หยุดด้อยค่า ‘ซิโนแวค’ ชี้ อนามัยโลก รับรอง ฉีดแล้วปลอดภัย ไม่ไร้คุณภาพอย่างที่กล่าวหา

วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรณีที่มีการเตรียมฟ้องรัฐบาลเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้มีการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติม โดยอ้างว่าการจัดซื้อวัคซีนดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะวัคซีนที่สั่งซื้อไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดได้นั้น ล่าสุดองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย ได้เผยแพร่ข้อมูลเพื่อย้ำว่า วัคซีนที่ได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยประเทศไทยมีวัคซีน 3 ชนิดที่ให้บริการไปแล้ว ได้แก่ แอสตร้าเซเนก้า ซิโนฟาร์ม และซิโนแวค อีกทั้งการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะแผนการจัดหาวัคซีน ประกอบไปด้วยคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ และมีงานวิชาการรองรับ เป็นไปตามกฎหมายทุกขั้นตอน สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญ และทำตามหลักภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ขององค์การอนามัยโรค (WHO)

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ส่วนความกังวลว่าวัคซีนซิโนแวคที่มีการสั่งซื้ออย่างต่อเนื่องอาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อที่กำลังแพร่ระบาดได้นั้น ปัจจุบันข้อมูลทางการแพทย์พบว่า ยังไม่มีวัคซีนชนิดใดที่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าได้ 100% แม้แต่วัคซีนชนิด mRNA แต่ทุกชนิดรวมทั้งเทคโนโลยีเชื้อตาย สามารถลดการป่วยหนักและการเสียชีวิตได้ ดังนั้น ในระหว่างรอส่งมอบวัคซีน mRNA ในช่วงไตรมาสที่ 4 อาทิ วัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส ตามแผนวัคซีนหลัก และโมเดอร์นา ซึ่งเป็นวัคซีนทางเลือก รัฐบาลจึงเร่งจัดหาและฉีดวัคซีนให้ประชาชนในวงกว้างให้มากที่สุดเพื่อลดการป่วยหนักและการเสียชีวิต ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ซึ่งแผนการดังกล่าวภาครัฐได้ดำเนินการและสื่อสารมาอย่างต่อเนื่อง มิได้เพิ่งอนุมัติจัดหาในการประชุม ครม.ที่ผ่านมา

สำหรับวัคซีนซิโนแวคนั้น อนามัยโลกให้กับรับรองเป็นลำดับล่าสุดเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลังใช้เวลาพิจารณานานท่ามกลางคำถามต่างๆ รวมถึงการไม่เผยแพร่ผลทดสอบเฟส 3 แต่กระนั้นก็ให้การรับรองเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินด้วยประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อได้ 51% ซึ่งน้อยสุดเมื่อเทียบกับแอสตร้าเซเนก้า วัคซีนแบบmRNA อย่างไฟเซอร์และโมเดอร์น่าที่มีประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อ

แม้อนามัยโลกจะให้การรับรอง กลับมีรายงานผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 โดส โดยเฉพาะบุคลากรทางการการแพทย์ ได้ติดเชื้อโควิดจนส่งผลกระทบต่อการดูแลรักษาผู้ป่วย จากประเทศที่ใช้วัคซีนซิโนแวคอย่างชิลีและอินโดนีเซีย ส่วนไทยก็มีรายงานบุคลากรแพทย์ติดเชื้อโควิดแม้ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม และมีรายงานเพิ่มเติมอย่างประสิทธิภาพในการป้องกันติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) วัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพป้องกันต่ำมาก แม้แต่วัคซีนแบบmRNA ก็พบประสิทธิภาพลดลงเมื่อเจอสายพันธุ์เดลต้าแต่ยังสูงกว่าวัคซีนซิโนแวคอยู่