‘ไฟเซอร์’ เริ่มทดสอบวัคซีนโควิด กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี

วันที่ 9 มิถุนายน 2564 รอยเตอร์สรายงานว่า ไฟเซอร์ เวชภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกได้ออกมาเปิดเผยถึงการทดสอบวัคซีนโควิดตัวหลักที่ใช้เทคโนโลยี mRNA ที่พัฒนาร่วมกับ Biontech จะเริ่มทำการทดสอบวัคซีนกับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันและปลอดภัยกับผู้ใช้ที่เป็นเด็กหรือไม่ โดยมีการนำเอาอาสาสมัครจำนวน 4,500 คนเข้าร่วมโครงการ มีคลินิกการทดสอบอยู่มากกว่า 90 แห่งในประเทศสหรัฐอเมริกา, ฟินแลนด์, โปแลนด์ และ สเปน

ไฟเซอร์กล่าวว่า ในการทดสอบเฟส 1 ได้สิ้นสุดไปแล้ว โดยจะดูว่าสามารถสร้างภูมิต้านทานได้หรือไม่ จำนวนอาสาสมัครมีทั้งหมด 144 คน จากการฉีดสองเข็ม โดยคำนึงถึงความปลอดภัย การทนทานและตอบสนองของภูมิคุ้มกันในเด็ก

จากนั้น ไฟเซอร์จะทำการทดสอบในเฟส 2 ด้วยการให้วัคซีนกับเด็กอายุ 5 – 11 ปี เป็นจำนวน 10 ไมโครกรัม และ อายุ 6 เดือนถึง 5 ปีด้วยจำนวน 3 ไมโครกรัม
โฆษกของไฟเซอร์กล่าวว่า ข้อมูลการทดสอบกับเด็กอายุ 5 -11 ปี คาดว่าจะได้รับในเดือนกันยายน ซึ่งไฟเซอร์นำไปขออนุญาตกับองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา หรือเอฟดีเเอ เพื่อนำมาใช้ในยามฉุกเฉิน ส่วนข้อมูลของเด็กอายุ 2 – 5 ปี จะตามมาภายหลัง ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับเด็กอ่อนอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี จะเผยแพร่ให้เห็นราวๆ เดือนกันยายน หรือ เดือนตุลาคมเป็นต้นไป
ทั้งนี้ วัคซีนไฟเซอร์ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในยุโรปกับผู้เยาว์อายุเกิน 12 ปีขึ้นไปในทวีปยุโรป, อเมริกา และ แคนาดา จำนวนวัคซีนเท่ากับผู้ใหญ่คือ 30 ไมโครกรัม
สำหรับ การฉีดวัคซีนให้กับผู้เยาว์ เป็นเรื่องสำคัญมากต่อการเพิ่มจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีน เพื่อทำให้เข้าสู่สภาวะของภูมิคุ้มกันหมู่ โดยเร็วที่สุด และทำให้การระบาดของไวรัส ลดลงไปได้อย่างฉับพลัน
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังค้นคว้าในเรื่องการเชื่อมโยงระหว่างการอักเสบของหัวใจ (Heart Inflammation) กับวัคซีน mRNA อยู่ โดยเฉพาะกับผู้เยาว์
ที่ผ่านมา ทางการของประเทศอิสราเอล ได้สังเกตเห็นว่า มีผู้เยาว์เพศชายเล็กน้อยจำนวนหนึ่ง ที่แสดงอาการของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) ออกมา หลังจากได้รับวัคซีนของ Pfizer ไปแล้ว ซึ่งน่าจะมีส่วนเกี่ยวโยงกับการฉีดวัคซีนไปแล้ว เคสเหล่านี้มีอาการแบบอ่อนๆ และไม่ได้คงอยู่เป็นเวลานานเท่าไรนัก ต่อมาไฟเซอร์ได้แถลงว่า ได้รับทราบเกี่ยวกับเคสที่เกิดขึ้นในประเทศอิสราเอลที่มีการสังเกตการณ์เกี่ยวกับอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แต่ยังไม่พบความเกี่ยวโยงกับวัคซีนแต่อย่างใด