กขค. เร่งหารือผู้ประกอบการฟู้ดเดลิเวอรี่ ‘ลดค่าจีพี’ หวังอุ้มร้านอาหาร พบข้อมูลเรียกเก็บจีพีแตะสูงถึง 30-35% ของยอดขาย

กรุงเทพฯ 24 พฤษภาคม 2564  – คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เดินหน้าสร้างความเป็นธรรม พร้อมหารือ   ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการดิจิทัลเเพลตฟอร์มรับและส่งอาหาร หรือฟู้ดเดลิเวอรี่ Food Delivery เพื่อพิจารณาแนวทางการปรับลดอัตราค่าคอมมิชชั่น หรือ ค่า Gross Profit :GP เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์การการแพร่ระบาดโควิด-19 ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร หลังได้รับข้อร้องเรียนจากผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายย่อย ซึ่งพบว่าผู้ประกอบธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ มีการเรียกเก็บค่า GP จากผู้ประกอบร้านอาหาร ในอัตราที่สูงถึง 30-35% ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารจำนวนมากที่ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติเนื่องจากปฏิบัติตามมาตรการล็อกดาวน์ จำเป็นต้องหันพึ่งการขายผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่ ได้รับผลกระทบจากการเรียกเก็บค่า GP ในอัตราที่สูง

          นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เปิดเผยว่า จากข้อร้องเรียนของผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยเฉพาะรายย่อย (SMEs) ต่อประเด็นผู้ประกอบธุรกิจให้บริการดิจิทัลเเพลตฟอร์มรับและส่งอาหาร หรือฟู้ดเดลิเวอรี่ (Food Delivery) เรียกเก็บค่า GP ในอัตราที่สูง จนทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) จึงได้เชิญผู้ประกอบธุรกิจให้บริการดิจิทัลเเพลตฟอร์มรับและส่งอาหาร จำนวน 5 ราย ได้แก่ Grab, Lineman, Gojek, Foodpanda และ Robinhood เข้าร่วมหารือผ่านทางออนไลน์เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อย โดยให้การเรียกเก็บค่า GP และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จากผู้ประกอบการร้านอาหาร ในอัตราที่เป็นธรรม และห้ามมีพฤติกรรมทางการค้าที่เข้าข่ายการกระทำความผิดตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้า

            นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในปัจจุบันพบว่ามีผู้ประกอบธุรกิจ 4 ราย คือ Grab, Lineman, Gojek, Foodpanda ที่เรียกเก็บค่า GP สูงสุดในอัตราไม่เกิน 30% (ไม่รวม VAT) ในขณะที่ Robinhood ไม่เก็บค่า GP โดยประเด็นสำคัญในการหารือได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบธุรกิจทุกรายพิจารณาแนวทางการปรับลดอัตราค่า GP รวมทั้งมาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร ทั้งนี้ กขค. ได้ขอผู้ให้บริการธุรกิจแพลตฟอร์มแต่ละรายนำขอเรียกร้องไปพิจารณาถึงความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารในช่วงสถานการณ์การการแพร่ระบาดครั้งนี้ และแจ้งผลให้สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าภายในสัปดาห์นี้

   ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการรายย่อยได้รับผลกระทบจากถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือได้รับการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมผู้ประกอบการรายใหญ่ สามารถร้องเรียนโดยตรงด้วยตนเองได้ที่สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าหรือช่องทางเว็บไซต์ https://otcc.or.th/guide-complaint  หมายเลขโทรศัพท์ 02-199-5400 ตลอดจนอีเมล [email protected]  

###

#สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า #สขค. #กขค. #OTCC #JCCOTH