หวั่นโลกร้อน! “อีลอน มัสก์” ระงับซื้อรถ ‘เทสล่า’ ด้วย ‘บิตคอยน์’ ทำมูลค่าร่วง

 วันที่ 13 พ.ค. บีบีซี รายงานว่า อีลอน มัสก์ ซีอีโอเทสลา รถพลังงานไฟฟ้าสัญชาติอเมริกัน ทวีตข้อความประกาศว่า เทสลาจะระงับการใช้บิตคอยน์ สกุลเงินดิจิตอลชื่อดัง ในการซื้อรถพลังงานไฟฟ้าของตัวเอง เนื่องจากความกังวลถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือโลกร้อน ส่งผลให้บิตคอยน์ร่วงลงราว 10% ขณะที่หุ้นเทสลาลดลงด้วย

ความเคลื่อนไหวล่าสุดเมื่อวันที่ 12 พ.ค. ตามเวลาท้องถิ่น เป็นการกลับลำของเทสลาที่เคยประกาศเมื่อเดือนมีนาคมจะยอมรับการซื้อรถพลังงานไฟฟ้าด้วยบิตคอยน์ ซึ่งเรียกเสียงวิจารณ์จากเหล่านักสิ่งแวดล้อมและนักลงทุนบางส่วน

“เรากังวลถึงการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อขุดบิตคอยน์และทำธุรกรรม โดยเฉพาะถ่านหิน ซึ่งมีการปล่อยมลพิษมากที่สุดในบรรดาเชื้อเพลิงใดๆ คริปโตเคอร์เรนซีเป็นความคิดที่ดี…แต่ไม่คุ้มค่าต่อสิ่งแวดล้อม” นายมัสก์ทวีต

ซีอีโอเทสลานังกล่าวว่า เทสลาจะไม่ขายบิตคอยน์ของตัวเอง และตั้งใจที่จะใช้เพื่อทำธุรกรรมทันทีที่การขุดบิตคอยน์จะหันมาใช้พลังงานอย่างยั่งยืนมากขึ้น

ด้านบรรดานักวิเคราะห์ตลาดมองความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นความพยายามของเทสลาที่จะยุติความกังวลของนักลงทุนที่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและความยั่งยืน

จูเลีย ลี จาก เบอร์แมน อินเวสต์ บอกบีบีซี ว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Corporate Governance: ESG) ตอนนี้เป็นแรงจูงใจสำคัญสำหรับนักลงทุนจำนวนมาก เทสลา ซึ่งเป็นบริษัทเน้นพลังงานสะอาด อาจต้องการเดินหน้าให้ดีขึ้นในด้านสิ่งแวดล้อมของ ESG แต่ว่า

“การพูดถากถางเช่นนี้อาจชี้ว่า นี่เป็นเพียงการเคลื่อนไหวอีกครั้งของอีลอน มัสก์ ที่จะสร้างอิทธิพลต่อตลาดคริปโตเคอร์เรนซี เช่นเดียวกับที่มัสก์เคยทำมาหลายๆ ครั้ง” จูเลีย ลี กล่าว

ความกังวลถึงโลกร้อนกับบิตคอยน์

บิตคอยน์ถูกสร้างขึ้นมาโดยบรรดานักขุดที่ใช้คอมพิวเตอร์พลังสูงๆ เพื่อแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ซับซ้อน และต้องแข่งขันกับนักขุดคนอื่นๆ ด้วย ซึ่งเป็นกระบวนการใช้พลังงานมาก มักอาศัยไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะถ่านหิน

โดยเฉพาะนักขุดบิตคอยน์ที่เป็นชาวจีนมากที่สุดในโลก และนักขุดที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินที่มีราคาถูก มากกว่าเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนที่มีราคาแพงกว่า การศึกษาพบว่า นักขุดบิตคอยน์ชาวจีนมีสัดส่วน 75% และคาร์บอนฟุตปรินต์ของบิตคอยน์มีขนาดใหญ่เท่ากับหนึ่งในสิบเมืองใหญ่ของจีน

นั่นเป็นเพราะว่านักขุดบิตคอยน์ต้องการใช้ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล หลักๆ คือถ่านหิน เกือบทั้งปี จะเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน หลักๆ คือ พลังงานน้ำ ในช่วงฤดร้อนที่ฝนตกเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ผู้สนับสนุนบิตคอยน์ชี้ว่า ระบบการเงินส่วนใหญ่ที่มีพนักงานและคอมพิวเตอร์หลายล้านคนและเครื่องตามสำนักงานที่มีเครื่องอากาศใช้ไฟฟ้า ส่วนใหญ่เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล ในปริมาณมากเช่นกัน