ททท. เผยสิ้นเดือนพ.ค.รู้ธุรกิจท่องเที่ยวที่รอดเหลือเท่าไหร่ เล็งขอวัคซีน3.5ล้านโดนฉีดคนในสายงาน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า รัฐบาลยังเดินหน้าโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ หลังสำรวจความสนใจจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ แม้หลังการระบาดของโควิด-19 ระลอกเดือนเม.ย. 2564 นักท่องเที่ยวจากประเทศในแถบยุโรป สอบถามมาทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ค่อนข้างมาก รวมถึงสหราชอาณาจักร เยอรมัน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวในกลุ่มสแกนดิเนเวีย ที่ปกติช่วงไตรมาส 4 ตั้งแต่ต.ค.เป็นต้นไป จะต้องมารำลึกเหตุการณ์สึนามิ ครั้งใหญ่ในไทย

ส่วนการการทำทราเวลบับเบิล 4 ประเทศ คือ สิงคโปร์ เวียดนาม ลาว มาเลเซีย และ 1 เขตเศรษฐกิจพิเศษ คือ ฮ่องกง เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิดระลอกเดือนเม.ย. ยังค่อนข้างรุนแรงและเป็นวงกว้าง เดือนพ.ค.ถึงกลางเดือนมิ.ย. จึงต้องชะลอออกไปก่อน เพราะเชื่อว่าหากไทยไม่ชะลอการทำทราเวลบับเบิล ก็คงไม่มีประเทศไหนเขาจับคู่กับไทย หากบ้านเรายังไม่สะอาด นักท่องเที่ยวคงไม่มีใครอยากมา

ทั้งนี้ การเปิดรับนักท่องเที่ยวจะเกิดขึ้นได้ วัคซีนน่าจะเป็นทางออก หากจำนวนผู้ที่คิดเชื้อโควิดที่ภูเก็ตไม่เป็นศูนย์ และทั่วประเทศต้องมียอดติดเชื้อต่ำกว่า 200 คน จึงจะพร้อมรับรับนักท่องเที่ยว หรือหากทั่วประเทศมีผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 200 คน แต่ภูเก็ตไม่เป็นศูนย์ ต้องหารือกับ ศบค. อีกก่อนพิจารณาเปิดรับนักท่องเที่ยว ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) ในวันที่ 7 พ.ค.นี้ ททท. จะเสนอขอวัคซีนให้บุคลากรด้านการท่องเที่ยว เพื่อให้สามารถฉีดได้ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย 70% ของประชากร

อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิด-19 ทำให้กระทรวงท่องเที่ยวต้องนำเรื่องการจัดตั้งกองทุน เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวโดยเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย คนละ 300 บาทสะสมไว้ใช้พัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จะเรียกว่า ค่าเหยียบแผ่นดิน หรือ ค่าประกันก็ได้ เพื่อสำรองไว้ สำหรับรับมือกับวิกฤตที่ไม่คาดคิด ตั้งเป้าเริ่มดำเนินการปี 2565 และหากดำเนินการได้ปี 2565 จะมีเงินเข้ากองทุนประมาณ 6,200 ล้านบาท กองทุนนี้ได้ผ่านการพิจารณาของท.ท.ช. แล้ว

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท. อยู่ระหว่างสำรวจผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร ทัวร์ และ ร้านขายของที่ระลึก ว่าขณะนี้มีสถานภาพทางการเงิน มีการรักษาการจ้างงานไว้ได้หรือไม่ การบริหารจัดการธุรกิจเป็นอย่างไร หลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 โดยการสำรวจครั้งนี้จะสำรวจทั้งที่อยู่ในระบบ และที่อยู่นอกระบบ

“ปลายเดือนพ.ค. น่าจะได้ความชัดเจนว่า ธุรกิจที่เหลือรอดจากการระบาดของโควิด-19 มีจำนวนเท่าไหร่ ปิดกิจการเท่าไหร่ ลดคน หรือ เลิกจ้าง ไปจำนวนเท่าไหร่ ในจำนวนที่เหลือรอดต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างไร ส่วนนอกระบบที่ผ่านมาเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือของภาครัฐ จะต้องช่วยเหลืออย่างไร หากมีความชัดเจนของข้อมูลอีกประมาณ 1 เดือน ททท. จะร่วมหารือกับกระทรวงการคลัง และเอกชน เพื่อหามาตรการที่จะช่วยให้ธุรกิจท่องเที่ยวให้รอดจากวิกฤตโควิด”

นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ในการประชุม ท.ท.ช. ในวันที่ 7 พ.ค.นี้ ททท. จะเสนอของวัคซีนประมาณ 3.5 ล้านโดส เพื่อฉีดให้กับบุคคลากรด้านการท่องเที่ยว เพื่อรองรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวผ่านภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ในเดือนก.ค. และเดือนต.ค. ในจังหวัดนำร่องอื่นๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย