ชมแผนภาพขยะอวกาศท่วมวงโคจรโลก จับตาวัตถุอันตรายนับร้อยชิ้น

วันที่ 29 เม.ย. เดลีสตาร์รายงานว่า คณะนักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐอเมริกาเปิดตัวเว็บไซต์แผนที่ติดตามขยะอวกาศที่เกิดจากฝีมือมนุษย์บนวงโคจรโลก ในจำนวนนี้ มีวัตถุอันตรายถึง 200 ชิ้น ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาทำลายล้างแบบลูกโซ่ได้

เว็บไซต์ดังกล่าวชื่อว่า อัสเตรียกราฟ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาคมโลกถึงอันตรายและติดตามสถานะของวัตถุที่มีอยู่มากมายบนวงโคจรโลกอันเกิดจาดฝีมือมนุษย์ตั้งแต่ดาวเทียมที่ใช้งาน และเลิกใช้งานแล้ว ไปจนถึงชิ้นส่วนจรวดส่งดาวเทียม

รายงานระบุว่า ขยะอวกาศเหล่านี้ถือเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่ง เพราะอาจขนเข้ากับดาวเทียมที่ทำหน้าที่สำคัญ อาทิ ระบบบ่งชี้พิกัดจีพีเอส การพยากรณ์อากาศ และการให้บริการอื่นๆ

แผนที่ดังกล่าวซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลสหรัฐฯ ติดตามวัตถุกว่า 26,000 ชิ้นบนวงโคจรมีขนาดตั้งแต่เท่ากับสมาร์ตโฟนไปจนถึงเท่ากับสถานีอวกาศ ในจำนวนนี้ มีดาวเทียมที่ใช้งานด้วยประมาณ 3,500 ดวง

ศาสตราจารย์โมริบา จาห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศวิศวกรรมการบินและอวกาศยานจากมหาวิทยาลัยรัฐเท็กซัส กล่าวว่า มีวัตถุอันตรายอยู่ประมาณ 200 ชิ้น ที่อาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาทำลายล้างแบบลูกโซ่ได้ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นเหตุซูเปอร์-สเปรดเดอร์

ศ.จาห์ ระบุว่า วัตถุเหล่านี้เป็นขยะอวกาศมีอยู่ในทั้ง 3 ทวีป ส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนจรวดส่งดาวเทียมที่ใช้แล้วในอดีต เพราะอาจเกิดการระเบิดขึ้นได้ หรืออาจไปชนเข้ากับขยะชิ้นอื่น ทำให้กลายเป็นขยะชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่พุ่งชนชิ้นอื่นๆ แตกออกไปเรื่อยๆ เป็นหมื่นๆ ชิ้น

คำเตือนของศ.จาห์ สอดคล้องกับบรรดาผู้เชี่ยวชาญที่ระบุว่า ขยะอวกาศกำลังเป็นปัญหาใหญ่ขของโลก เปรียบได้เสมือนกับระเบิดเวลา ถือเป็นความท้าทายของนานาชาติ และความรับผิดชอบของบรรดาชาติที่มีศักยภาพด้านอวกาศสูง

ด้านองค์การบริหารการบินแล้วอวกาศสหรัฐฯ หรือนาซ่า ระบุว่า ขยะอวกาศแต่ละชิ้นที่อยู่บนวงโคจรของโลกนั้นเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงมากเกือบ 29,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คิดเป็น 7 เท่า ของความเร็วกระสุนปืนบนโลก