OctDem ยื่นจม.ร้อง รมว.ยุติธรรม จี้คุ้มครองสิทธิผู้ต้องหา-จำเลย เหตุจนท.ราชทัณฑ์ปฏิบัติเกินเหตุ-ไม่เหมาะสม

วันที่ 28 เมษายน 2564 กลุ่มคนเดือนตุลาเพื่อประชาธิปไตย ได้ออกจดหมายเปิดผนึก เรื่อง การคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาและจำเลย ในความว่า

เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

ตามที่ปรากฏข้อมูลและข้อเท็จจริงทั้งจากสื่อสารมวลชน จากญาติ และจากการไต่สวนของศาลว่ามีการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ต่อบรรดาจำเลยและผู้ต้องหาในคดีการเมืองและถูกกักขังอยู่ที่เรือนจำของกรมราชทัณฑ์เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดีว่าได้รับการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมและไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญา อาทิเช่น การบุกเข้าตรวจค้นจำเลยและผู้ต้องหาในเวลาวิกาล โดยอ้างว่าเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด19 หรือการควบคุมผู้ต้องหาหรือจำเลยอย่างเคร่งครัดจนไม่สามารถติดต่อกับทนายความเพื่อปรึกษาหารือในการต่อสู้คดีได้เป็นต้น

พวกเราทั้งหลาย ซึ่งประกอบด้วยประชาชนจากหลายสาขาอาชีพ ซึ่งล้วนเคยได้รับผลกระทบทางการเมืองอย่างไม่ยุติธรรมมาก่อน เห็นว่าบรรดาเยาวชน นักเรียน นักศึกษาที่กล่าวถึงเบื้องต้นนั้นล้วนเป็นผู้ถูกกล่าวหาทางการเมืองที่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐทั้งสิ้น และสิ่งสำคัญที่สุดเขาเหล่านั้นยังไม่เคยถูกพิพากษาโดยศาลยุติธรรมว่าได้กระทำความผิด จึงถือได้ว่าเขาเหล่านั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ รัฐไม่อาจปฏิบัติต่อเขาเสมือนหนึ่งเป็นผู้กระทำความผิดได้แต่อย่างใด

เราทราบข่าวถึงการที่กรมราชทัณฑ์ปฏิบัติต่อพวกเขาข้างต้นด้วยความกังวลใจ เพราะตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์ ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และหลักสิทธิพลเมืองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย การปฏิบัติต่อเยาวชนผู้ต้องขังทางการเมืองดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนอย่างแจ้งชัด

เราทั้งหลายจึงขอเรียกร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงานราชทัณฑ์ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องดูแลเยาวชนผู้ที่ยังเป็นผู้บริสุทธิ์เหล่านี้ตามหลักปฏิบัติของกฎหมายข้างต้น โดยขอให้มีคำสั่งไปยังผู้รับผิดชอบให้จัดการดูแลและปกป้องบรรดาผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญาทางการเมืองรวมทั้งคดีอื่นๆที่ถูกจองจำอยู่ให้ได้รับความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายอย่างเต็มที่ และเปิดโอกาสให้เขาได้พบปะติดต่อ ปรึกษาหารือกับทนายความอย่างเป็นส่วนตัว เพื่อสนับสนุนให้พวกเขาได้เข้าต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ในกระบวนการยุติธรรม ตามสิทธิที่พวกเขามีอยู่

เราขอเรียกร้องอย่างถึงที่สุด ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบกรมราชทัณฑ์ได้ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องนี้โดยเร็ว

กลุ่มคนเดือนตุลาเพื่อประชาธิปไตย
Octobrists for Democracy (OctDem)
28 เมษายน 2564

ทั้งนี้ OctDem ยังได้แนบ เอกสารประกอบจดหมายถึงรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วย

ข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขัง
ได้รับการรับรองเป็นมาตรฐานสากลใหม่ในการคุ้มครองสิทธิผู้ถูกคุมขังทั่วโลก

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2558 คณะมนตรีว่าด้วยเรื่องป้องกันอาชญกรรมและยุติธรรมทางอาญา กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ได้รับรอง ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (ฉบับใหม่) ที่เรียกว่า ข้อกำหนดแมนเดลา
ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 17 ประเทศที่เสนอร่างและให้การสนับสนุนร่าง“ข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง” โดยร่างข้อกำหนดนี้ใช้เวลาในการแก้ไขเอกสารชุดเก่าที่รับรองในค.ศ. 1955 ก่อนที่คณะมนตรีด้านการป้องกันอาชญกรรมและยุติธรรมทางอาญา กรุงเวียนนาขององค์การสหประชาชาติจะได้ให้การรับรองและมีผลให้ประเทศต่างๆที่เป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาตินำไปใช้ในการปรับปรุงสภาพผู้ต้องขังในประเทศให้ได้มาตรฐานสากล
“ข้อกำหนดมาตรฐานององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง” ฉบับนี้ เป็นแนวทางที่ประเทศไทยได้รวมเป็นร่างและเป็นผู้เขียนหลักที่เห็นด้วยกับหลักการสำคัญของเอกสารฉบับนี้
ต่อไปนี้เป็นข้อกำหนดที่ว่าด้วย ผู้ต้องขังระหว่างสอบสวนและรอพิจารณา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “ข้อกำหนดมาตรฐานององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง”

(ค) ผู้ต้องขังระหว่างสอบสวนและรอการพิจารณา
84. (1) บุคคลซึ่งถูกจับกุมหรือคุมขังในข้อหาคดีอาญาไว้ที่สถานีตำรวจหรือเรือนจำหากยังมิได้มีการพิจารณาพิพากษาตัดสินแล้วต่อไปในข้อบังคับนี้จะเรียกว่า “คนต้องขังระหว่างพิจารณา”
(2) ผู้ต้องขังที่ยังไม่ถูกพิพากษาลงโทษให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์และควรได้รับการปฏิบัติทำนองนั้น
(3) ใช้กฎหมายข้อบังคับที่พิทักษ์เสรีภาพส่วนบุคคลหรือกระบวนการพิจารณาที่บัญญัติไว้ต่อคนต้องขังระหว่างพิจารณา โดยปราศจากอคติ เขาควรได้รับประโยชน์แห่งการควบคุมเป็นพิเศษ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปเฉพาะที่สำคัญเท่านั้น
85. (1) คนต้องขังระหว่างพิจารณาพึงแยกขัง จากนักโทษเด็ดขาด
(2) คนต้องขังระหว่างที่เยาว์วัย พึงแยกขังจากผู้ใหญ่ และถือเป็นหลักที่จะต้องแยกไว้ต่างทัณฑสถานกัน
86. คนต้องขังระหว่างพิจารณาพึงให้นอนแยกกันคนละห้อง ตามประเพณีนิยมที่แตกต่างกัน ใน แต่ละห้องตามประเพณีนิยม ที่แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น และดินฟ้าอากาศที่ไม่เหมือนกัน
87. เท่าที่จำกัดไว้ตามระเบียบข้อบังคับของเรือนจำ ถ้าคนต้องขังระหว่างพิจารณาประสงค์จะจ่ายเงินส่วนตัวจัดหาอาหารจากภายนอก โดยเจ้าหน้าที่เรือนจำ ญาติมิตรจัดการให้ ก็ทำได้ มิฉะนั้นเรือนจำต้องเป็นผู้จัดหาอาหารเลี้ยง
88. (1) ควรอนุญาตให้คนต้องขังระหว่างพิจารณาแต่งกายด้วยเสื้อผ้าส่วนตัวที่สะอาดเรียบร้อยได้
(2) ถ้าให้สวมเครื่องแบบเรือนจำก็ต้องต่างกับเครื่องแบบของนักโทษเด็ดขาด
89. ควรอนุญาตให้คนต้องขังระหว่างพิจารณาได้ทำงานโดยความสมัครใจ ถ้าทำงานก็ควรได้รับค่าจ้างตอบแทน
90. ควรอนุญาตให้คนต้องขังระหว่างพิจารณา ซื้อหนังสือหนังสือพิมพ์ เครื่องเขียน อุปกรณ์การประกอบอาชีพ ด้วยเงินส่วนตัว หรือของผู้อื่น เท่าที่ไม่ขัดต่อการดำเนินงานของศาล ความมั่นคงปลอดภัย และความเป็นระเบียบของเรือนจำ
91. ควรให้แพทย์หรือทันตแพทย์ประจำตัวคนต้องขังระหว่างพิจารณาเข้าพบและตรวจรักษาได้ถ้ามีเหตุผลเพียงพอ และเสียคาใช้จ่ายเอง
92. ทันทีที่คนต้องขังระหว่างพิจารณาถูกคุมขัง ควรอนุญาตให้เขาแจ้งครอบครัวทราบ การสื่อสารกับญาติมิตรก็ควรอำนวยความสะดวกตามสมควร ตลอดจนการเยี่ยมเยียนของบุคคลเหล่านี้ควรให้อยู่ในข้อจำกัด และกำกับดูแลตามจำเป็น เท่าที่ไม่ขัดต่อการดำเนินการของศาลความมั่นคงปลอดภัย และความเป็นระเบียบของเรือนจำ
93. ในการต่อสู้คดีของคนต้องขังระหว่างพิจารณา ควรได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายโดยมิคิดค่าตอบแทน และควรให้ที่ปรึกษากฎหมายของเขา ได้เข้าพบปะปรึกษารูปคดี ตระเตรียมและให้คำแนะนำเป็นความลับ เท่าที่สามารถจะทำได้ ทั้งควรจะให้เขามีอุปกรณ์การเขียนที่เขาประสงค์การสนทนาระหว่างผู้ต้องขังและที่ปรึกษากฎหมาย (ทนายความ) ควรอยู่ในสายตาของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเรือนจำ แต่ไม่จำต้องได้ยินการสนทนา

หมายเหตุ
อ้างอิงเอกสารจาก
http://www.correct.go.th/odchoyp/pdf/international.pdf

ผู้สื่อข่าวต่างประเทศดาวน์โหลดข่าวภาษาอังกฤษได้ที่นี่
https://drive.google.com/…/1SlAiuuKUuDC6SLEXzLp…/view…

เอกสารอ้างอิงภาษาอังกฤษ
https://drive.google.com/…/10PRxR7CAaIAtKtkMzU…/view…

 

[จดหมายเปิดผนึก เรื่อง การคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาและจำเลย]

เรียน…

โพสต์โดย OctDem เมื่อ วันอังคารที่ 27 เมษายน 2021