‘โรม’ ยกเคสอากงเทียบ “เพนกวิ้น-รุ้ง” หรือจะให้ตายในคุกถึงจะพอใจ !

วันที่ 20 เมษายน 2564 รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลและโฆษกคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ได้แสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินคดีทางอาญาต่อแกนนำราษฎรจากการชุมนุมทางการเมืองเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของไทยในปี 2563 และการอดอาหารประท้วงกระบวนการยุติธรรมของ พริษฐ์ ชิวารักษ์ และปนัสยา สิทธิจิราวัฒนกุล โดยเฉพาะกรณีเพนกวินได้อดอาหารเป็นเวลา 30 วัน และมีความเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตมากขึ้น

จากคดีอากงถึงคดีราษฎร ฤๅต้องให้ตายคาคุกจึงจะพอใจ?

ขณะนี้บ้านเมืองของเรา มีประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยที่ถูกจองจำระหว่างดำเนินคดี จากเหตุของการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งรวมถึงประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างน้อย 20 คน
.
ทุกคนในจำนวนนี้ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ต่อหน้ากฎหมาย เพราะยังอยู่ในขั้นตอนของการสู้คดี ยังไม่มีคำพิพากษาอันเป็นที่สุด
.
และมี 3 คนที่กำลังทรมานตัวเองด้วยการอดอาหาร ที่นานที่สุดก็ถึง 36 วันแล้ว เพื่อให้ความเจ็บปวดของพวกเขาส่งเสียงไปถึงผู้มีอำนาจหน้าที่ ว่าสิทธิในการประกันตัวที่พวกเขาพึงมีได้ถูกล่วงละเมิด ว่ากระบวนการยุติธรรมหาได้ยุติธรรมอย่างที่กล่าวอ้างไม่
.
น่าอนาถใจที่จนวันนี้ บรรดาผู้มีอำนาจหน้าที่ ซึ่งไม่ใช่ใครนอกจากศาล ยังคงปิดหูไม่รับฟัง ไม่รู้สึกรู้สา ปล่อยให้ชะตากรรมของคนเหล่านี้ค่อยๆ เคลื่อนเข้าไปสู่ปลายทางที่สังคมเริ่มมองเห็นใกล้เข้ามาเรื่อยๆ นั่นคือความตาย
.
ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2554 คุณอำพล ตั้งนพกุล หรือ “อากง” ถูกอัยการฟ้องคดีมาตรา 112 จากข้อกล่าวหาว่าเขาส่ง SMS ข้อความหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ไปหาเลขานุการของนายกรัฐมนตรี ซึ่งศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว แม้จะไม่เห็นความเป็นไปได้เลยที่ชายชราธรรมดาคนนี้จะหนีคดี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายอื่นๆ และในเวลานั้นจำเลยก็มีโรคประจำตัวคือมะเร็ง สมควรได้รับการรักษาและเฝ้าระวังอาการเป็นอย่างดี
.
นับแต่วันฟ้องคดี 18 มกราคม 2554 จนถึงวันที่ขอถอนอุทธรณ์คดี 3 เมษายน 2555 รวมเวลา 1 ปี 2 เดือน 17 วัน มีการยื่นขอประกันตัว 4 ครั้ง ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัว 3 ครั้ง ยื่นฎีกาคำสั่งไม่ให้ประกันตัว 1 ครั้งแต่ศาลไม่เคยคืนสิทธิในการประกันตัวกลับมาเลย จนในอีก 1 เดือนต่อมา อากงอำพลก็เสียชีวิตลงในเรือนจำ
.
ถ้าใน 1 ปี 2 เดือน 17 วันนั้น อากงได้ออกมาสู้คดีข้างนอก ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ ได้ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว อากงคงได้มีชีวิตที่ยืนยาวและเป็นสุขกว่านี้
.
แล้วถามว่าประเทศชาติได้อะไรจากกรณีนี้บ้าง? กระบวนการยุติธรรมได้รับความเชื่อถือมากขึ้นหรือไม่? สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพเทิดทูนมากขึ้นหรือไม่?… ไม่เลย
.
พระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์และกฎหมายอาญามาตรา 112 กลับยิ่งถูกตั้งคำถามอย่างหนักหน่วงจากสังคมไปทุกสารทิศ จากคนที่ไม่เคยทราบ ไม่เคยสนใจ ก็เริ่มหันมามองเรื่องดังกล่าว และเกิดคำถามขึ้นเป็นวงกว้าง
.
แล้วการใช้มาตรา 112 และการไม่ให้การประกันตัวครั้งนั้น ก็นำมาสู่การทำให้สถาบันอันควรเป็นศูนย์รวมจิตใจ ไปจนถึงกระบวนการยุติธรรม สั่นคลอนอย่างไม่เคยมีมาก่อน
.
กลับมาที่คำถามเดียวกัน
.
การไม่ให้จำเลยคดีการเมือง จำเลยมาตรา 112 ประกันตัวออกมาสู้คดีตามสิทธิ์ที่ประชาชนไทยพึงมี ประเทศชาติต้องแลกกับอะไรไปบ้าง?
.
กระบวนการยุติธรรมที่ถูกตั้งคำถามหนักกว่าเดิมเรื่องการถูกแทรกแซง กระบวนการจำกัดการติดต่อระหว่างผู้ต้องหา ทนาย และครอบครัว จนถูกจับตาเรื่องสิทธิมนุษยชนในระดับนานาชาติ ไปจนถึงว่าขณะนี้เพนกวิ้น รุ้ง ฟ้า อดอาหารมาเป็นเวลานานมากพอที่จะเสียชีวิตลงเมื่อไรก็ได้ เพียงเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว
.
สมมติว่าผู้ที่ถูกจองจำเหล่านี้อดอาหารจนเสียชีวิตคาคุกไป มลทินของกระบวนการคัดค้านการประกันตัวของกระบวนการยุติธรรมครั้งนี้จะหนักหนากว่ากรณีของอากงมากขนาดไหน? อย่าลืมว่ากรณีนี้สังคมกำลังจับตาดูอยู่ มีบรรดาครอบครัวและผู้ห่วงใยไปทำกิจกรรมหน้าศาลทุกวันติดต่อกันมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว
.
ตอนนี้ยังไม่สายนะครับ ที่จะพิจารณาถึงข้อเท็จจริงต่างๆ ว่าหากการธำรงไว้ซึ่งกระบวนการยุติธรรมต้องยึดหลักการที่ว่าทุกคนคือผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะตัดสินถึงที่สุด และความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรม
.
พวกท่านยังรักษามันไว้ได้ โดยไม่ต้องพากันมาแปดเปื้อนเลือดใครมากไปกว่านี้ พิสูจน์ให้เห็นว่าพวกท่านไม่ใช่คนที่มีแต่อำนาจทว่าขาดสำนึกผิดชอบชั่วดี อย่าได้นำหลักกฎหมายและสถาบันสำคัญไปวางไว้บนกองซากศพของผู้บริสุทธิ์เลยครับ เพราะกลิ่นของความอยุติธรรมมันดับไม่ได้