ผลวิจัยชี้ชายติดโควิด-19 เสี่ยง ‘จู๋ไม่แข็ง’ เพิ่มเกือบ 6 เท่า

ผลวิจัยชี้ชายติดโควิด-19 เสี่ยง ‘จู๋ไม่แข็ง’ เพิ่มเกือบ 6 เท่า แนะมีอาการให้กักตัว-ตรวจโควิด

เว็บไซต์ webmd.com รายงานเมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา อ้างผลวิจัยของนักวิจัยมหาวิทยาลัยในอิตาลี ตีพิมพ์ในวารสารแอนโดรโลยี (Andrology) เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่า ชายที่ติดเชื้อโควิด-19 จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือโรคอีดี (Erectile dysfunction) หรืออวัยวะเพศไม่แข็งตัวพอที่จะมีสัมพันธ์ทางเพศได้

งานวิจัยดังกล่าว นำโดย ศาสตราจารย์เอ็มมานูเอลเล่ เอ. ยานนีนี ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อและการแพทย์ด้านเพศวิทยา มหาวิทยาลัยโรม ทอร์เวอร์กาต้า กรุงโรม ประเทศอิตาลี ทำการสำรวจผ่านทางระบบออนไลน์ Sex@COVID ในประเทศอิตาลี ระหว่างวันที่ 7 เมษายน ถึงวันที่ 4 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมทำแบบสอบถามจำนวน 6,821 คน อายุ 18 ปีขึ้นไป แบ่งเป็นชาย 2,644 คน หญิง 4,177 คน

ผลการวิจัยพบว่ามีชายที่เคยติดเชื้อโควิด-19 แสดงอาการของโรคอีดี คิดเป็นสัดส่วนถึง 28 เปอร์เซ็นต์ มากกว่า ผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อโควิด-19 ที่พบอยู่ที่ 9.33 เปอร์เซ็นต์ หรือนับว่าเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดอาการอีดี 5.66 เท่า

นอกจากนี้ ตัวเลขเบื้องต้นยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ผู้ที่มีอาการของโรคอีดีนั้น เพิ่มความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 อีกด้วย โดยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 5 เท่าที่จะติดเชื้อโควิด

ทั้งนี้ นักวิจัยระบุว่า ผู้ที่เคยมีอาการอีดี หรือมีอาการอีดีที่หนักกว่าเดิมควรเข้ารับการกักตัวและตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพื่อความปลอดภัย และตั้งสมมุติฐานว่า ไวรัสโควิด-19 อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการอีดี หรือทำให้อาการอีดีนั้นแย่ลงได้

และในทางกลับกัน ใครที่มีอาการอีดี ควรระลึกเอาไว้ว่า อาการอีดีเป็นสัญญาณที่เป็นไปได้ว่าอาจจะติดเชื้อโควิด-19 เข้าไปแล้วด้วยเช่นกัน

อ่านงานวิจัยฉบับเต็ม คลิก