ส.ภัตตาคาร-แอลกฮอล์ จ่อยื่นร้องนายกฯ ค้านปิด 3 ทุ่ม คาดคลัสเตอร์ทองหล่อ ทำท่องเที่ยววูบ 1.5 หมื่นล้าน

สมาคมภัตตาคาร-แอลกฮอล์รุมค้านปิด 3ทุ่ม จ่อยื่นหนังสือ ‘บิ๊กตู่ ‘ ทบทวน คาดพิษโควิดคลัสเตอร์ทองหล่อ ท่องเที่ยววูบ 1.5 หมื่นล้านบาท

เมื่อวันที่ 7 เมษายน กรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19จากคลัสเตอร์ผับย่านทองหล่อที่กระจายไปหลายจังหวัด และกระทรวงสาธารณสุขเตรียมเสนอศบค.ชุดเล็กออกมาตรการคุมเข้มผับ บาร์ ร้านอาหาร ส่วนกรุงเทพมหานครสั่งปิดสถานบันเทิงใน 3 เขตหลัก ได้แก่ เขตคลองเตย เขตวัฒนา และเขตบางแค เพื่อควบคุมการระบาด ตั้งแต่วันที่ 6-19 เมษายนนั้น

ล่าสุดนางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย ให้สัมภาษณ์วันที่ 6 เมษายน ว่า เบื้องต้นเห็นด้วยกับการสั่งปิดเป็นรายกรณี และปิดเฉพาะในพื้นที่ที่มีปัญหาเท่านั้น เนื่องจากสามารถลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในภาพรวมได้ ไม่ก่อผลกระทบทั้งห่วงโซ่เหมือนที่ผ่านมา แต่ในกรณีที่รัฐบาลอาจมีการพิจารณาสั่งให้ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหารกลับไปปิดให้บริการนั่งรับประทานที่ร้านในเวลา 21.00 น.อีกครั้ง หลังจากอนุญาตให้เปิดได้ถึง 23.00 น.เพียงเดือนกว่าๆ นั้น ยังไม่เห็นด้วย เนื่องจากต้องการให้แยกพิจารณาเป็นประเภทธุรกิจและกลุ่มการให้บริการ

“ต้นเหตุการระบาดของโควิด-19 จนเกิดคลัสเตอร์ใหม่ในครั้งนี้ ไม่ได้มาจากร้านอาหารหรือภัตตาคาร ดังนั้น การเหมารวมและกลับมากำหนดเปิดนั่งทานที่ร้านต้องปิดเร็วขึ้นอีกครั้ง จึงไม่ยุติธรรมกับธุรกิจร้านอาหารมากนัก ล่าสุดความกังวลการระบาดคลัสเตอร์ใหม่ มีผู้ประกอบการร้านอาหารถูกยกเลิกการจองใช้บริการร้านอาหารล่วงหน้าแล้ว 6-10 งาน ทำให้ยอดจองที่ถูกบันทึกไว้ในรายได้ก็ต้องเอาออก และเอาเงินส่วนนี้คืนลูกค้าไป ทั้งที่เตรียมพร้อมการให้บริการไว้แล้ว” นางฐนิวรรณกล่าว

เตรียมส่งหนังสือร้องประยุทธ์

นางฐนิวรรณกล่าวว่า ตามปกติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ คนที่อาศัยในกรุงเทพฯไม่ได้เดินทางออกต่างจังหวัด จะเข้าใช้บริการในร้านอาหารแทน ดังนั้น จากที่คาดว่าจะมีรายได้เข้ามาในช่วงนี้ อาจทำให้รายได้ต้องหายไปอีกครั้ง ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการสูงมาก เพราะเพิ่งกลับมาเปิดใหม่ได้ไม่นาน และร้านอาหารก็ถูกกระทบมาอย่างต่อเนื่อง เพราะถูกสั่งให้เปิดและปิด รวมถึงลดเวลาการนั่งทานที่ร้านมาโดยตลอด หากรัฐบาลกลับมากำหนดให้เปิดนั่งได้ถึง 21.00 น.อีกครั้ง จะทำให้ร้านอาหารข้างทาง โดยเฉพาะสตรีทฟู้ดได้รับผลกระทบสูงมาก เนื่องจากเวลาในการขายของจะหายไปอีก โดยเฉพาะร้านอาหารที่เปิดให้ในช่วงค่ำจนถึงดึก เพราะกลุ่มลูกค้าจะแตกต่างกันตามแต่ละพื้นที่ อาทิ ร้านอาหารตามสั่ง ข้ามต้มโต้รุ่ง จะเปิดให้บริการประมาณ 18.00-19.00 น.เป็นต้นไป หากต้องปิดเพียง 21.00 น. ก็เท่ากับว่าเวลาขายของให้ลูกค้าหายไปค่อนข้างมาก นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลพิจารณาในการควบคุมธุรกิจและพื้นที่เสี่ยงเป็นรายประเภทและรายกรณีมากกว่า โดยเฉพาะแหล่งบันเทิงต่างๆ เนื่องจากความแออัดและมาตรการควบคุมอาจยังไม่ได้เข้มข้นมากพอ

“สมาคมภัตตาคารไทย จะมีการทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการพิจารณาขอความเป็นธรรมในการเปิดให้บริการของร้านอาหารด้วย นางฐนิวรรณกล่าว

โควิดระบาดใหม่กระทบเที่ยว
นายธนพล ชีวรัตนพร นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบล่าสุด ส่งผลต่อการท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีผลกระทบกับทางจิตวิทยา นักท่องเที่ยวแต่ละคนไม่มั่นใจว่าจากนี้ไปจะมีอะไรเกิดขึ้นอีกบ้าง ซึ่งต้องรอประเมินสถานการณ์ดูก่อน อย่างไรก็ตาม คนจากกรุงเทพฯก็ยังมีการเดินทางอยู่ แต่อาจจะลดการท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ สำหรับต่างจังหวัดขณะนี้มีความพร้อมที่จะรับนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯอยู่ตลอด โดยเฉพาะทางภาคใต้ แต่ว่าคนที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวต้องรู้ตัวเองว่ามีความพร้อมในการเดินทางหรือไม่ ทั้งนี้ ตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ จะมีการปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข จากนี้นับถอยหลังอีก 5 วัน ว่าจะมีอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ ถ้าไม่มีก็จะมีการเดินทางท่องเที่ยวตามปกติ

หอค้าชี้คลัสเตอร์ใหม่ทำเที่ยวกร่อย
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) คลัสเตอร์ใหม่ ว่าจะส่งผลกระทบต่อเทศกาลสงกรานต์แน่นอน จากการที่พบผู้ติดเชื้อ และยกระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุด 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม และสมุทรปราการ ทำให้ต้องมีมาตรการงดกิจกรรมและการจัดงานสงกรานต์ การจำกัดเวลาปิดร้านอาหารถึง 21.00 น. งดการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งการงดเปิดให้บริการสถานบันเทิง ผับ และบาร์

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดกับเศรษฐกิจ คือผลเสียโดยตรงต่อกิจการในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 5 จังหวัด ร้านอาหารที่ลดเวลาปิดลงเหลือเพียง 21.00 น. ส่วนสถานบันเทิงก็งดให้บริการ ดังนั้น มีเม็ดเงินที่เสียหายแน่ เนื่องจากจำหน่ายได้น้อยลง ต่อมาคือเวลาคนเดินทางไปต่างจังหวัด จะเริ่มรู้สึกระมัดระวัง การติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้น เพราะว่าโควิด-19 รอบนี้ ไม่ใช่การแพร่กระจายในพื้นที่เท่านั้น แต่เป็นการติดจากผับหรือในพื้นที่ชุมชน มีโอกาสลามไปยังจังหวัดต่างๆ จะเห็นได้ว่าผู้ติดเชื้อไม่อยู่ในแค่พื้นที่ 5 จังหวัด แต่กระจายไป ชุมพร สุพรรณบุรี ขอนแก่น ชี้ให้เห็นว่ามีการกระจายตัวแพร่เชื้อกันในชุมชน ในกลุ่มวัยรุ่น โดยพฤติกรรมพบปะ บรรยากาศแบบนี้ทำให้คนกังวล แม้ว่ายังไม่เห็นสัญญาณการยกเลิกเที่ยวบิน หรือการตัดสินใจไม่เดินทางไปต่างจังหวัด แต่เวลาเดินทางอาจระมัดระวังมากขึ้น ออกไปข้างนอกไม่เต็มที่นัก และใช้จ่ายด้วยความระมัดระวัง

คาดเม็ดเงินวูบ1.5หมื่นล้านบาท

นายธนวรรธน์กล่าวว่า เดิมได้ประมาณการใช้จ่ายในช่วงสงกรานต์ประมาณ 1.13 แสนล้านบาท แต่จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้เม็ดเงินชะลอลงไป ในเบื้องต้น 1-1.5 หมื่นล้านบาท หรือเหลือประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินที่หายไปเกิดจากการชะลอใช้จ่าย ปกติแต่ละจังหวัดจะมีเม็ดเงินใช้จ่ายในช่วงสงกรานต์ เฉลี่ยทุกจังหวัดทั่วประเทศประมาณ 100 ล้านบาทต่อจังหวัด ซึ่งแต่ละจังหวัดมีเศรษฐกิจขนาดเล็กใหญ่ต่างกัน จึงตีเป็นเม็ดเงินง่ายๆ ไว้ 1 หมื่นล้านบาทที่ลดลงไป ส่วนอีก 5 พันล้านบาท เป็นส่วนที่มาจากคนชะลอใช้จ่ายในเขต 5 จังหวัดควบคุมสูงสุด สำหรับอาหาร สุรา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงทำให้สงกรานต์ปีนี้มีเม็ดเงินใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจประมาณ 1 แสนล้านบาท

ส.แอลกอฮอล์วอนรัฐทบทวนปิดร้าน3ทุ่ม

นายธนากร คุปตจิตต์ เลขาธิการสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย กล่าวว่า การปิดสถานบันเทิงตามเขตที่กรุงเทพมหานครประกาศไว้ จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบล่าสุด ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะได้มีการเตรียมในเรื่องของการสต๊อกอาหารสด จ้างนักดนตรีแล้ว นอกจากนี้ การที่จังหวัดพื้นที่สีเขียว ผู้ว่าราชการบางจังหวัดได้มีคำสั่งห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร จะเกิดปัญหาที่ว่าลูกค้าจะเดินทางไปกินดื่มจังหวัดข้างเคียง แล้วเกิดไปรับเชื้อโควิดมาแล้วมาแพร่ต่อ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้

นายธนากรกล่าวว่า ส่วนกรณีกระทรวงสาธารณสุขเตรียมเสนอนั่งร้านอาหารได้ถึง 21.00 น. พร้อมงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านนั้น ผู้ประกอบการรับผลกระทบหนักเช่นกัน ลูกค้าจะไม่เดินทางมาใช้บริการที่ร้านอาหาร ร้านอาหารจะเสียรายได้ในส่วนตรงนี้ไป เรื่องนี้ต้องมีการทบทวน เพราะก่อนหน้านี้ทางสมาคมภัตตาคารไทย ได้เคยร้องขอให้ขยายเวลานั่งในร้านอาหาร พร้อมกับดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้ของร้านอาหาร ควรจะหามาตรการร่วมกันที่จะมาป้องกันโรคมากกว่า ไม่ใช่ว่าห้ามดื่มแล้วปิดร้านอาหารในเวลาสามทุ่ม