ยธ.แจง จม.อานนท์ปมคุกคามผู้ต้องขัง ชี้อธิบายต่างกัน เตรียมฟ้อง อปท.เอาผิด

กระทรวงยุติธรรม แจงกรณีจดหมายอานนท์ นำภา คณะกรรมการตรวจสอบ พบว่า ข้อมูลและทามไลน์ของเจ้าหน้าที่ตรงกัน แต่อธิบายแตกต่างกัน เพราะตีความเจตนาของเจ้าหน้าที่ไปอีกทางหนึ่ง ส่วนจดหมายที่อานนท์เขียน พบว่าคือด้านหลังของใบคำฟ้อง ล่าสุด แจ้งความต่อ ปอท. เพื่อเอาผิดผู้กระทำผิดแล้ว

วันที่ 26 มีนาคม 2564 นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และโฆษกกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายวิชาการ และโฆษกกรมราชทัณฑ์ แถลงความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการประมวลข้อเท็จจริงในการดำเนินงานของกรมราชทัณฑ์

โดยนายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และโฆษกกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า หลังจากตั้งคณะกรรมการข้อเท็จจริง มีการตรวจสอบประเด็นเรื่อง จดหมาย ของนายอานนท์ นำภา เมื่อวันที่ 16 มีนาคม. ที่ผ่านมา ซึ่งมีการโพสเฟสบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ซึ่งนายอานนท์เกรงว่าจะได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต จากการตรวจสอบ พบว่าช่วงเวลาไทม์ไลน์มีความสอดคล้องกัน แต่มีการอธิบายความที่แตกต่างกัน โดยเจ้าหน้าที่ปฎิบัติตามขั้นตอนการตรวจเชื้อโควิด-19 ภายในเรือนจำ แต่ผู้ต้องขังปฏิเสธการตรวจ จึงทำให้ต้องมีการแยกขังตามมาตรการ นอกจากนี้ยังพบว่าข้อมูลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครมีข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกันในเรื่องของเวลาจำนวนของเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปตรวจสอบวิธีการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่โดยพบว่าเข้าไปตรวจสอบรวมสี่ครั้งมีการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตั้งแต่การเข้าไปขอตรวจในครั้งที่สองและมีการพกกระบองหรือนกหวีดตามขั้นตอนของกรมราชทัณฑ์ในการควบคุมดูแล และย้ายผู้ต้องขัง

ทั้งนี้ การตรวจสอบจดหมาย ซึ่งมีหลายเส้นบรรทัด จากการสืบเสาะของคณะกรรมการพบว่าจดหมายดังกล่าวคือด้านหลังของเอกสารคำร้องขอไต่สวนหรือที่เรียกกันว่าใบคำฟ้อง ซึ่งผู้ต้องขังจะมีติดตัวอยู่หรืออาจได้รับจากทนายที่ศาล ไม่ได้เป็นหนังสือหรือกระดาษของทางเรือนจำ อีกทั้งเจ้าตัวยังเป็นทนายความซึ่งอาจมีการพกพาเอกสารดังกล่าวเข้ามาตรวจสอบในการต่อสู้คดีได้ จึงคาดว่าจะขอมาตอนขึ้นศาลก่อนเขียนส่งให้บุคคลอื่นไปโพสต์ แต่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง ขอยืนยันว่าภายในเรือนจำไม่มีกระดาษลักษณะนี้ ส่วนจะเป็นบุคคลใดที่นำข้อมูลดังกล่าวไปโพสต์ลงใน Facebook นั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของทางคณะกรรมการตรวจสอบ และเนื่องจากเรื่องดังกล่าวทำให้เกิดความเสียหายทางกองกฎหมาย กรมราชทัณฑ์ได้ไปแจ้งความกับกรมบังคับการปราบปรามการกระทำ ความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือ ปอท. เพื่อสืบหาผู้กระทำความผิด โดยพบว่ามีผู้ที่เข้าข่ายดังกล่าวสองคนแต่ยังไม่สามารถเปิดเผยถึงรายละเอียดได้

โดยในวันที่ 29 มีนาคมนี้ศาลได้นัดไต่สวนรในคดีดังกล่าวซึ่งทราบว่าการไต่สวนเสร็จสิ้นแล้วและจะมีคำสั่งในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน

ส่วนการเยี่ยมญาติปกตินั้นสามารถเยี่ยมได้ทั่วประเทศ ยกเว้น 5 จังหวัดกลุ่มเสี่ยง คือ กรุงเทพมหานคร , นนทบุรี , สมุทรปราการ , สมุทรสาคร และ ปทุมธานี ซึ่งจะต้องจองคิวล่วงหน้าเยี่ยมญาติผ่านทางแอปพลิเคชั่นไลน์ ทั้ง ผู้ต้องขังคดีการเมืองหรือคดีอื่นๆ สามารถทำได้ เพื่อลดปัญหาเรื่องการูกทำร้ายร่างกายและอาการเครียดของผู้ต้องขังเอง โดยเข้าพบเดือนละ 1 ครั้ง

ส่วน เพจ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์กรณี นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ “รุ้ง” เตรียมอดอาหารเป็นเพื่อน นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” นั้นจากการตรวจสอบพบว่า น.ส.ปนัสยา ยังทานอาหารปกติ ไม่ได้มีการอดอาหารแต่อย่างใด และทุกวันเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะคอยติดตามและสุขภาพผู้ต้องขังทุกรายอยู่แล้ว

ทั้งนี้ การอดอาหารของนายพรหมศร วีระธรรมจารี หรือ ฟ้า แกนนำคณะราษฎรมูเตลู ซึ่งปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำอำเภอธัญบุรี ว่า เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้รับแจ้งจากนายพรหมศรฯ ว่าต้องการอดอาหารแต่อย่างใด เป็นเพียงการงดอาหารมื้อเย็นซึ่งเจ้าตัวแจ้งว่าขณะอยู่ภายนอกเรือนจำก็งดอาหารมื้อเย็นอยู่แล้ว ส่วนอาหารมื้ออื่นๆ ยังคงรับประทานเป็นปกติ พร้อมรับประทานขนมและเครื่องดื่มที่ทางเรือนจำจัดเพิ่มและญาติได้ทำการสั่งซื้อไว้ ด้านบาดแผลจากการประสบอุบัติเหตุก่อนเข้าเรือนจำได้ทำการรักษาจนหายดีแล้ว แต่ในอนาคตหากผู้ต้องขังรายดังกล่าวมีความสงค์จะอดหรือปฏิเสธที่จะรับประทานอาหาร ทางเจ้าหน้าที่ก็พร้อมให้การดูแลตามขั้นตอนอยู่ตลอดเวลา เพราะถือเป็นสิทธิของผู้ต้องขังที่สามารถกระทำได้ภายใต้กรอบของกฎหมาย โดยต้องไม่เป็นอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่น